การแพทย์ ของ ดอมเพริโดน

รายงานปี 2007 ระบุว่า ยามีขายในประเทศ 58 ประเทศ[10]แต่ข้อบ่งใช้ยาจะต่างกันเช่นในอิตาลี มันใช้รักษาโรคกรดไหลย้อน และในแคนาดา ยาให้ใช้รักษาโรคการบีบตัวของทางเดินอาหารส่วนบน (upper gastrointestinal motility disorder) และเพื่อกันอาการทางเดินอาหารที่เกิดเนื่องจากยารักษาโรคพาร์คินสัน (dopamine agonist antiparkinsonian agent)[11]ในสหราชอาณาจักร ยาให้ใช้เพียงเพื่อรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน และจำกัดให้ใช้เพียง 1 อาทิตย์

ในสหรัฐ ยาโดยทั่วไปไม่อนุมัติให้ใช้ในมนุษย์ ในปี 2004 องค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้แจ้งเตือนว่า การแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ที่มีดอมเพริโดนเป็นการกระทำผิดกฎหมาย[12]

อาการคลื่นไส้และอาเจียน

มีหลักฐานบ้างว่า ยามีฤทธิ์แก้อาเจียน (antiemetic)[13]แนวทางการรักษาของสมาคมปวดศีรษะแคนาดา (Canadian Headache Society) แนะนำให้ใช้รักษาความคลื่นไส้ที่สัมพันธ์กับไมเกรนแบบฉับพลัน[14]

อัมพฤกษ์กระเพาะอาหาร

อัมพฤกษ์กระเพาะอาหาร (gastroparesis) เป็นภาวะที่อาหารออกจากกระเพาะช้าแม้เมื่อไม่มีการอุดตันปกติจะไม่รู้สาเหตุ หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน หรือเป็นผลของการบาดเจ็บที่ท้องเป็นภาวะที่ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องแน่นหลังทานอาหาร อิ่มเร็ว ปวดท้อง และท้องพอง (bloating)ยาจึงอาจมีประโยชน์สำหรับคนไข้โรคเบาหวานและอัมพฤกษ์กระเพาะอาหาร[15][16]

อย่างไรก็ดี ก็ยังไม่แน่นอนว่า กระเพาะอาหารที่ว่างเร็วขึ้นเนื่องจากยาเช่นนี้ จะบรรเทาอาการ[17]

โรคพาร์คินสัน

โรคพาร์คินสันเป็นโรคเรื้อรังทางประสาท ที่ระดับโดพามีนซึ่งลดลงในสมองจะก่อสภาพแข็งเกร็ง (คือขยับตัวอย่างแข็ง ๆ) อาการสั่น และอาการอื่น ๆ ทางเดินอาหารที่ทำงานได้ไม่ดี คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนไข้ เพราะยาที่ใช้เพื่อรักษาโรคนี้โดยมากเป็นยาทานและยาเหล่านี้เช่น levodopa ก็ยังอาจทำให้คลื่นไส้โดยเป็นผลข้างเคียงอนึ่ง ยาแก้คลื่นไส้ เช่น metoclopramide ยังสามารถข้ามตัวกั้นสมองจากระบบเลือด (blood-brain barrier) จึงอาจทำให้อาการ extrapyramidal[upper-alpha 1]ของโรคแย่ลง

ดอมเพริโดนสามารถใช้บรรเทาอาการทางเดินอาหารสำหรับโรคพาร์คินสันเพราะมันระงับการทำงานของหน่วยรับโดพามีนแบบดี2 แต่ก็ไม่ข้ามตัวกั้นสมองจากระบบเลือด ดังนั้น จึงไม่มีผลต่ออาการ extrapyramidal[upper-alpha 1] ของโรค[19]อนึ่ง ยาอาจเพิ่มความพร้อมใช้ทางชีวภาพ (bioavailability) ของ levodopa ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาโรคพาร์คินสันอย่างหนึ่ง[20]

แม้ลักษณะต่าง ๆ เช่นนี้อาจจะทำให้ยามีประโยชน์สำหรับโรคพาร์คินสัน แต่ก็จะต้องระมัดระวังเพราะมีผลข้างเคียงเป็นพิษต่อหัวใจ โดยเฉพาะถ้าให้ทางเส้นเลือดดำ หรือให้ผู้สูงอายุ หรือให้มากกว่า 30 มก. ต่อวัน[21]อาการเป็นพิษต่อหัวใจของยาก็คือความยาวขึ้นของคลื่นหัวใจช่วง QT interval[22]

อาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่ (functional dyspepsia)

ยาสามารถใช้รักษาอาหารไม่ย่อยโดยหน้าที่ (functional dyspepsia) ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก[23][24]

การหลั่งน้ำนม

ฮอร์โมน prolactin จะกระตุ้นให้ต่อมน้ำนมผลิตน้ำนมแต่โดพามีนที่หลั่งโดยไฮโปทาลามัสจะระงับการหลั่ง prolactin จากต่อมใต้สมองเพราะดอมเพริโดนมีฤทธิ์ต้านโดพามีน มันจึงทำให้หลั่ง prolactin มากขึ้น และดังนั้น จึงเป็นยาขับน้ำนมในบางประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย ยาจะใช้นอกข้อบ่งใช้อาศัยหลักฐานโดยเรื่องเล่าที่ไม่แน่นอน เพื่อบำบัดมารดาที่มีปัญหาเลี้ยงลูกด้วยนม[25][26]ในสหรัฐ ยานี้ไม่อนุมัติให้ใช้ในการนี้หรือการอื่น ๆ[27][28]

อย่างไรก็ดี งานศึกษาที่ชื่อว่า EMPOWER ได้ประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาเพื่อช่วยมารดาที่คลอดบุตรก่อนกำหนดให้สามารถให้นมแก่บุตรได้[29]งานได้จัดมารดาผู้คลอดก่อนกำหนด 90 คนเข้ากลุ่มโดยสุ่ม กลุ่ม A ได้รับยา 10 มก. ทางปาก 3 ครั้งต่อวันเป็นเวลา 28 วัน กลุ่ม B ได้ยาหลอกเท่ากัน ๆ แต่แค่ 14 วัน ตามด้วยยาจริงอีก 14 วันปริมาณนมที่ผลิตโดยเฉลี่ยคล้าย ๆ กันทั้งสองกลุ่มในเบื้องต้นแต่หลังจาก 14 วัน มารดา 78% ที่ได้ยา (กลุ่ม A) ผลิตนมมากขึ้น 50% และมารดา 58% คนที่ได้ยาหลอก (กลุ่ม B) ผลิตนมมากขึ้น 50% เช่นกัน[30]ซึ่งแสดงว่ายานี้มีผลเพิ่มการผลิตนม

เพื่อให้หลั่งนม ยาจะให้ในขนาด 10-20 มก. 3-4 ครั้งต่อวันทางปาก[31]ผลจะเห็นได้ภายใน 24 ชม. หรือภายใน 3-4 วัน[31]ผลระดับสูงสุดจะเกิดภายใน 2-3 สัปดาห์ และโดยทั่วไปจะให้ยาเป็นเวลา 3-8 สัปดาห์[31]

งานปริทัศน์เป็นระบบแบบคอเคลนปี 2012 แสดงว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนให้ใช้ยาขับน้ำนมแบบป้องกันไว้ก่อน ไม่ว่าจะในช่วงการตั้งครรภ์ใด ๆ รวมทั้งยานี้[32]

กรดไหลย้อนในเด็ก

ยานี้พบว่ามีประสิทธิผลเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อนในเด็ก[33]แต่ผู้ชำนาญการบางพวกก็พิจารณาว่ามันเสี่ยงมากเกินไปเพื่อใช้รักษาแบบนี้[34]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ดอมเพริโดน http://www.hc-sc.gc.ca/dhp-mps/alt_formats/pdf/med... http://www.bmj.com/cgi/pmidlookup?view=long&pmid=1... http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.3039.... http://www.eurekaselect.com/110655/article http://abcnews.go.com/blogs/health/2012/11/26/grap... http://onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1002/1465185... http://www.ema.europa.eu/ema/index.jsp?curl=pages/... http://www.accessdata.fda.gov/scripts/cdrh/cfdocs/... http://www.fda.gov/drugs/developmentapprovalproces... http://druginfo.nlm.nih.gov/drugportal/dpdirect.js...