ประวัติ ของ ดิอิมพอสซิเบิ้ล

ก่อตั้ง

ดิอิมพอสซิเบิ้ลตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 มีสมาชิกรุ่นแรกประกอบด้วย วินัย พันธุรักษ์, อนุสรณ์ พัฒนกุล, สุเมธ แมนสรวง และพิชัย ทองเนียม และได้นักร้องนำคือ เศรษฐา ศิระฉายา ใช้ชื่อวงว่า Holiday J-3 ต่อมาเปลี่ยนเป็น จอยท์ รีแอ็กชั่น เล่นดนตรีเพลงสากลที่มีชื่อเสียง เช่น เพลงของคลิฟ ริชาร์ด เอลวิส เพรสลีย์ บางเพลงนำทำนองเพลงต่างประเทศที่เป็นที่นิยม มาแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาไทย เช่นเดียวกับวงอื่นๆ ในยุคเดียวกัน เช่น ซิลเวอร์แซนด์ รอยัล สไปรท์ส เล่นดนตรีตามไนท์คลับต่างๆ

วงจอยท์ รีแอ็กชั่น เข้าร่วมการประกวดวงสตริงคอมโบ จัดโดยสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้รับรางวัลชนะเลิศ 3 ปีติดต่อกัน [1] ในช่วงปี 2512-2515 วงจอยท์ รีแอ็กชั่น เปลี่ยนชื่อเป็น ดิอิมพอสซิเบิ้ล (The Impossibles) ชื่อนี้ตั้งโดยเศรษฐา ตามชื่อภาพยนตร์การ์ตูนทางโทรทัศน์ จากสหรัฐอเมริกา คือเรื่อง The Impossibles (1966) [2][3]

โด่งดัง

ช่วงหลังจากชนะเลิศในปีแรก ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในวงเมื่อ สุเมธ แมนสรวง ได้ลาออกไป และทางวงได้ สิทธิพร อมรพันธุ์ จากวงฟลาวเวอร์และได้ ปราจีน ทรงเผ่า จากวงเวชสวรรค์ เข้ามาร่วมวงแทน ช่วงเวลาดังกล่าว ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ได้รับการชักชวนจากเปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ ให้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องโทน

หลังจากได้รับการติดต่อให้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ทางวงจึงได้บันทึกเสียงผลงานเพลงของตัวเองครั้งแรกในปลายปี พ.ศ. 2512 จากการแต่งของปราจีน ทรงเผ่า และ พยงค์ มุกดา ในเพลง เริงรถไฟ ,ชื่นรัก และ ปิดเทอม เพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ โดยหลังจากภาพยนตร์เรื่องโทน ออกฉายในปี พ.ศ. 2513 และประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำให้ค่ายหนังสุวรรณ ฟิล์ม ได้ออกอัลบั้มชุดเพลงประกอบภาพยนตร์โทน ในเวลาต่อมา ซึ่งอัลบั้มดังกล่าวถือเป็นอัลบั้มที่มีผลงานการบันทึกเสียงเสียงครั้งแรกของวงดิ อิมพอสซิเบิ้ล และทำเป็นแผ่นเสียง โดยมีเพลงของทางวงรวมอยู่ 3 เพลง

ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ได้รับความสำเร็จอย่างท่วมท้น ระยะเวลานั้นดิอิม เล่นประจำอยู่ที่ The Fox ไนท์คลับ ในศูนย์การค้าเพลินจิตอาเขด แห่งเดียว ส่วนการแสดงตามโรงภาพยนตร์ในรอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์ไทย หรือการแสดงในรอบเช้า 6.00 นาฬิกา ร่วมกับการฉายภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่นิยมมากในยุคนั้น (ภาพยนตร์ไทยเรื่อง เก๋า..เก๋า พ.ศ. 2549 ได้นำเสนอบรรยากาศของเรื่องการแสดงรอบเช้าของดิอิมด้วย) รวมถึงการแสดงตามเวทีลีลาศทั้งที่สวนลุมพินี สวนอัมพร ซึ่งมีขึ้นประจำทุกวันศุกร์หรือเสาร์ ช่วงปี 2511-2515 กลายเป็นปีทองของวงดิอิมอย่างแท้จริงราวปี พ.ศ. 2516-2518

ออกแสดงต่างประเทศครั้งแรกและความเปลี่ยนแปลงในวง

ดิอิมพอสซิเบิ้ล มีชื่อเสียง และได้ทำดนตรีประกอบภาพยนตร์ไทยเป็นจำนวนมาก ผลงานแผ่นเสียงขายดีที่สุดในยุคนั้น ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งในกลางปี 2515 ดิอิมพอสซิเบิ้ล ได้รับทาบทามให้ไปทำการแสดงที่รัฐฮาวาย สหรัฐ ในครั้งนี้ได้เพิ่มยงยุทธ มีแสง ทรัมเป๊ตจากวงวิชัย อึ้งอัมพร ร่วมวงไปด้วย ตลอดเวลา 1 ปีใน ฮาวาย ดิอิมพอสสิเบิลส์ได้รับความนิยมและความสำเร็จมากมาย เป็นวงดนตรีแรกที่ทำสถิติยอดขายต่อคืนสูงสุดตั้งแต่เปิดทำการของคลับที่แสดงอยู่ชื่อ ฮาวายเอี้ยนฮัท โรงแรมอลาโมอานา (ที่มีศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้นตั้งอยู่บริเวณเดียวกัน) ดิอิมซ้อมหนักมาก พิชัย ทองเนียม มือเบส ขอลาออก เศรษฐาต้องไปเล่นเบส ทำให้ไม่สะดวกในการร้องนำ จึงทำให้เกิดความคิดที่จะเรียกเรวัติ พุทธินันท์(เต๋อ) นักร้องนำวงเดอะแธ้งค์ ซึ่งเคยเล่นสลับที่อิมพอสสิเบิลส์คาเฟ่มาเป็นนักร้องนำแทนเศรษฐา ช่วงที่เต๋อเข้ามาได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นของการบรรเลง โดยได้เน้นเพลงที่มีเครื่องเป่ามากขึ้น และเป็นเพลงที่เหมาะกับการเต้น เช่นเพลงของวง Tower of Power เป็นต้น ขณะที่แสดงที่นั้นได้มีนักร้องศิลปินดัง ๆ ของโลกมาเปิดการแสดงที่ฮาวาย ทำให้วงดิอิม ได้ใช้ประสบการณ์ในการเข้าชมศิลปินดัง ๆ เหล่านี้มาปรับปรุงการแสดงของวงให้พัฒนาขึ้นตลอดเวลา

ดิอิมหมดสัญญาที่ฮาวายในเดือนสิงหาคม 2516 และได้เดินทางกลับเมืองไทยพร้อมกับผู้จัดการวงใหม่ ชื่อจรัล นันทสุนานนท์ (ปัจจุบัน ดร.พุทธจรัล) เพื่อให้มีการจัดการวงในรูปแบบสากลอย่างมีระบบ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2516 หลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค ดิอิม ได้เข้าทำการแสดง ณ เดอะเดนไนท์คลับ โรงแรมอินทรา ประตูน้ำเป็นเวลา 6 เดือน และที่เดอะเดนนี้เอง ดิอิม ได้สร้างระบบใหม่ในการเข้าชมของวง โดยมีการเก็บค่าชม ก่อนการเข้าไปในคลับ ซึ่งนับได้ว่าเป็นครั้งแรกของเมืองไทยและวงดนตรีไทย ในช่วงนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกครั้ง ได้สมชาย กฤษณเศรณี(ปึ๊ด) มาเล่นเบสแทนเศรษฐา และปรีด์เทพ มาลากุล ณ อยุธยา(เปี๊ยก)มาเล่นกลองแทนอนุสรณ์ พัฒนกุล ได้ให้เรวัติเป็นนักร้องนำและเล่นออร์แกน เศรษฐาได้กลับไปเป็นนักร้องนำตามเดิม

ดิอิมฯ ในยุโรปเหนือ

การเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้งหลังหมดสัญญาที่เดอะเดน วงดิอิมได้รับการติดต่อไปแสดงในประเทศแถบสแกนดิเนียเวีย เริ่มจากประเทศสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ ตั้งแต่เดือน มิถุนายนถึงธันวาคม 2517 จากนั้นกลับเมืองไทย และเปลี่ยนมือเบส ไพฑูรย์ วาทยะกร เข้ามาแทนสมชาย เดือนมิถุนายน 2518 ไปยุโรปอีกครั้ง เริ่มที่สวีเดน ฟินแลนด์ ข้ามไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กลับมาสวีเดนอีกและไปจบที่สวิสในเดือนกุมภาพันธ์ 2519 กลับเมืองไทย เล่นที่โรงแรมมณเฑียรเหมือนเดิม

ในปี 2518 ระหว่างการกลับไปตระเวนแสดงในยุโรปครั้งที่ 2 ดิอิมพอสสิเบิ้ล ได้ทำการบันทึกเสียงเพลงสากลเป็นครั้งแรกของวง ในชื่ออัลบั้ม Hot pepper

ยุคปลาย

หลังจากนี้ถือได้ว่าเกือบเป็นปลายยุคของวง ได้มีการประชุมตกลงที่จะยุบวง หลังจากวงมีอายุรวมกันมาถึง 9 ปี มีการแถลงข่าวยุบวงอย่างเป็นทางการต่อสื่อมวลชนช่วงเดือนเมษายน 2519 หลังจากนั้นได้เดินทางไปเล่นที่โรงแรมมาเจสติค กรุงไทเป ไต้หวัน โดยทำสัญญาเดือนต่อเดือน พอเริ่มทำงานหมดเดือนแรก เรวัติออกไปก่อน และได้เดินทางไปทำงานที่สวีเดน 3 เดือน ในไต้หวันทำงานค่อนข้างหนัก เพราะต้องแสดงทั้งกลางวันและกลางคืน (1 มิถุนายน-4 กันยายน 2519) หลังกลับเมืองไทยดิอิมได้แสดงในช่วงสุดท้ายที่คลับโรงแรมแมนฮัตตัน ทอปเปอร์คลับ ตึกนายเลิศ และที่เดอะฟ๊อกซ์ ชั้นใต้ดินศูนย์การค้าเพลินจิต โดยทำการแสดงคืนละ 3 แห่ง ในราวเดือนตุลาคม 2519 ก็ได้หยุดทำการแสดงอย่างเป็นการถาวรในนาม ดิอิมพอสซิเบิ้ล วงดนตรีที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นตำนานของวงดนตรีสากลแบบสตริงคอมโบ วงดนตรีขวัญใจวัยรุ่นของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2521 ดิอิมพอสซิเบิ้ล ได้กลับมาบันทึกผลงานเพลงชุดใหม่ ในชื่ออัลบั้ม ผมไม่วุ่น เขียนเนื้อร้อง ทำนองโดย สุรพล โทณะวณิก ในอัลบั้มนี้มีเพลงเด่นๆ อย่าง ผมไม่วุ่น , เห็นแล้วหิว , มาจู๋จี๋กันไหม และ เมดเล่ย์อิมพอสซิเบิ้ล ที่เป็นการนำเพลงดังหนังไทยในอดีตคือ ชื่นรัก , ลำนำรัก, หนาวเนื้อ และ โอ้รัก มารวมทำเป็นเมดเล่ย์ในเพลงเดียว แต่ทว่าไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายเท่าที่ควร ก่อนจะแยกย้ายกันไปอีกครั้ง

ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2533 ทางวงได้กลับมาออกอัลบั้มอีกครั้งกับนิธิทัศน์ โปรโมชั่น โดยเป็นการนำเอาเพลงในอดีตของวงกลับมาบรรเลงใหม่และเพิ่มเพลงใหม่ลงไปในอัลบั้ม

ใกล้เคียง

ดิอิมพอสซิเบิ้ล ดิอิมพอสซิเบิลแอร์ ดิอิมพีเรียล (มุมไบ) ดิอิมพีเรียลมาร์ช ดิจิมอนแอดเวนเจอร์ ดิจิมอนเทมเมอร์ส ดิจิมอนแอดเวนเจอร์: ดิจิมอนฟรอนเทียร์ ดิจิมอนครอสวอร์ส ดิจิมอนยูนิเวิร์ส แอปพลิมอนสเตอร์ส

แหล่งที่มา

WikiPedia: ดิอิมพอสซิเบิ้ล http://www.oldsonghome.com/memory/theim.html http://www.towerofpower.com http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/06/02/ent... http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/06/09/ent... http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/06/14/ent... http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/06/16/ent... http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/06/16/ent... http://www.oknation.net/blog/kilroy/2007/06/16/ent... http://www.thaicinema.org/kit31kao.php http://www.matichon.co.th/youth/youth.php?tagsub=0...