ประวัติ ของ ถนนบรมราชชนนี

ถนนบรมราชชนนีเริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2522 เรียกว่าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 สายบางกอกน้อย-นครชัยศรี เพื่อบรรเทาการจราจรที่แออัด และให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทาง สู่จังหวัดปริมณฑลโดยรอบกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ ในภาคใต้และภาคตะวันตกมากขึ้น โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากแยกบรมราชชนนี ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2527

ปี พ.ศ. 2534 กระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อถนนเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อทางหลวงหมายเลข 338 ว่า "ถนนบรมราชชนนี"

ถนนสายนี้ได้รับการกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียหมายเลข 123[1]

ต่อมา ในปี พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริแก้ไขปัญหาการจราจร โดยสร้างทางคู่ขนาน ยกเชื่อมสะพานข้ามแยกอรุณอมรินทร์ และสะพานข้ามแยกบรมราชชนนีเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณสี่แยกอรุณอมรินทร์และสี่แยกบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์โครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้า ถนนบรมราชชนนี เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2539 และเสด็จเปิด "ทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี" เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2541 โดยมีระยะทางทั้งหมด 14 กิโลเมตร