ประวัติ ของ ถนนเพชรบุรี

ถนนเพชรบุรีช่วงตั้งแต่ทางแยกยมราชถึงทางแยกประตูน้ำเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมสุขาภิบาลตัดขึ้นตั้งแต่ริมคลองขื่อหน้า ปลายถนนคอเสื้อ (ปัจจุบันคือถนนพิษณุโลก) ไปบรรจบถนนราชดำริ เริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2448[1] โดยได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยืมเงินพระคลังข้างที่มาทดลองทำการ ระหว่างดำเนินการตัดถนน เกิดปัญหาแนวถนนตัดผ่านหมู่บ้านของคนในบังคับต่างประเทศ 2-3 แห่ง จึงต้องเจรจากันเรื่องค่าที่ดิน รัฐบาลได้มอบหมายให้นายเอ็ดเวิร์ด สโตรเบล ที่ปรึกษาราชการชาวอเมริกัน เป็นผู้ดำเนินการเจรจา เมื่อสร้างเสร็จโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อถนนว่า ถนนประแจจีน ซึ่งเป็นชื่อลวดลายของเครื่องลายครามแบบจีนชนิดหนึ่ง ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อถนนประแจจีนเป็น ถนนเพชรบุรี[1] ตามพระนามทรงกรมของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร[2]

ปี พ.ศ. 2505 ทางการได้เวนคืนตลาดเฉลิมลาภเก่าบริเวณสามแยกประตูน้ำ (ปัจจุบันคือสี่แยกประตูน้ำ) โดยตัดถนนต่อออกจากสามแยกประตูน้ำไปจรดซอยสุขุมวิท 71 โดยได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2506 คนทั่วไปนิยมเรียกถนนเพชรบุรีช่วงนี้ว่า "ถนนเพชรบุรีตัดใหม่"