ทุนนิยม
ทุนนิยม

ทุนนิยม

ทุนนิยม (อังกฤษ: capitalism) เป็นระบบเศรษฐกิจซึ่งเจ้าของเอกชนเป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรมและวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาด[1][2] คุณลักษณะสำคัญของทุนนิยม ได้แก่ การสะสมทุน ตลาดแข่งขันและค่าจ้างแรงงาน[3] ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยทั่วไปภาคีในปฏิสัมพันธ์กำหนดราคาที่มีการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ สินค้าและบริการ[4]ระดับการแข่งขัน บทบาทการแทรกแซงและจัดระเบียบ ตลอดจนขอบเขตของหน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของแตกต่างกันไปตามทุนนิยมแต่ละแบบ[5] นักเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักประวัติศาสตร์ได้ยึดมุมมองการวิเคราะห์ทุนนิยมแตกต่างกันและยอมรับทุนนิยมหลายแบบในทางปฏิบัติ แบบของทุนนิยมรวมถึงทุนนิยมปล่อยให้ทำไป ทุนนิยมแบบสวัสดิการและทุนนิยมโดยรัฐ โดยแต่ละแบบเน้นระดับการพึ่งพาตลาด หน่วยงานธุรกิจที่รัฐเป็นเจ้าของและการรวมนโยบายทางสังคมแตกต่างกัน การที่แต่ละตลาดมีความเป็นอิสระมากเพียงไร ตลอดจนกฎนิยามกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลมีขอบเขตเป็นอย่างไรนั้นเป็นเรื่องของการเมืองและนโยบาย หลายรัฐใช้ระบบที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบบผสมทุนนิยม ซึ่งหมายความถึงการผสมระหว่างส่วนที่มีการวางแผนจากส่วนกลางและขับเคลื่อนโดยตลาด[6]ทุนนิยมมีอยู่ภายใต้ระบอบการปกครองหลายระบอบ ในหลายเวลา สถานที่ และวัฒนธรรม หลังระบบฟิวดัลเสื่อมลง ทุนนิยมได้กลายมาเป็นระบบเศรษฐกิจหลักในโลกตะวันตก ต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทุนนิยมได้เอาชนะการท้าทายจากเศรษฐกิจที่มีการวางแผนจากส่วนกลางและปัจจุบันเป็นระบบเด่นทั่วโลก[7][8] โดยมีเศรษฐกิจแบบผสมเป็นรูปแบบหลักในประเทศอุตสาหกรรมตะวันตกมุมมองทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เน้นส่วนหนึ่งที่เฉพาะของทุนนิยมในนิยามที่ให้ความสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์ปล่อยให้ทำไปและเสรีนิยมเน้นระดับซึ่งรัฐบาลไม่ควบคุมตลาดและความสำคัญของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน[9][10] นักเศรษฐศาสตร์แบบคลาสสิกใหม่และนักมหเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์เน้นความจำเป็นที่ต้องมีการกำกับของรัฐบาลเพื่อป้องกันการผูกขาดและเพื่อลดผลกระทบของวัฏจักรรุ่งเรืองและตกต่ำ (boom and bust)[11] นักเศรษฐศาสตร์แบบมากซ์เน้นบทบาทของการสะสมทุน การแสวงหาประโยชน์และค่าจ้างแรงงาน นักเศรษฐศาสตร์การเมืองส่วนใหญ่เน้นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลเช่นกัน นอกเหนือไปจากความสัมพันธ์ของอำนาจ ค่าจ้างแรงงาน ชนชั้นและเอกลักษณ์ของทุนนิยมในฐานะการสร้างประวัติศาสตร์[6]