การวัดประสิทธิภาพของรัฐบาลในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ ของ ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์

ความเห็นร่วมสมัย

ความเห็นร่วมสมัยวิจารณ์วิธีการโต้ตอบและการบริหารวิกฤติการณ์ของรัฐบาลของลอร์ดรัสเซลล์อย่างรุนแรง ตั้งแต่เริ่มต้นก็มีการกล่าวหารัฐบาลว่าขาดความเข้าใจถึงความใหญ่หลวงของสถานการณ์อันเลวร้าย เซอร์เจมส์ แกรมผู้เป็นรัฐมนตรีว่าการภายในของประเทศในรัฐบาลก่อนหน้านั้นของเซอร์โรเบิร์ต พีลเขียนจดหมายถึงพีลว่า “สถานภาพอันใหญ่หลวงของวิกฤติการณ์ในไอร์แลนด์ตามความเป็นจริงนั้นสูงกว่าที่รัฐบาลคาดไว้เป็นอันมาก และไม่อาจจะสามารถวัดได้โดยกฎอันจำกัดของเศรษฐศาสตร์”[129]

ข้อวิจารณ์มิใช่แต่จะมาจากบุคคลภายนอกเท่านั้น ลอร์ดแคลเรนดอนข้าหลวงแห่งไอร์แลนด์เขียนจดหมายถึงลอร์ดรัสเซลล์เมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1849 ขอร้องให้รัฐบาลเพิ่มเติมความช่วยเหลือแก่ไอร์แลนด์: “กระผมไม่เห็นว่าจะมีรัฐบาลใดใดในยุโรปที่จะละเลยความทุกข์ยากที่กำลังประสบกันทางตะวันตกของไอร์แลนด์ หรือยังคงยืนยันรักษานโยบายอันเลือดเย็นของการกำจัด[ประชากร]ต่อไป”[98] และในปี ค.ศ. 1849 เอ็ดเวิร์ด ทวิสเซิลทัน (Edward Turner Boyd Twistleton) ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมายประชาสงเคราะห์ก็ลาออกในการประท้วงพระราชบัญญัติ (Rate-in-Aid Act) ที่ระบุการหาเงินเพิ่มสำหรับการประชาสงเคราะโดยการเรียกเก็บภาษีที่ดินเพิ่มร้อยละหกของราคาประเมินของที่ดินในไอร์แลนด์.[130] ทวิสเซิลทันให้การว่า “เพียงจำนวนเงินเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่จำเป็นสำหรับบริเตนในการแก้ความน่าละอายอันน่าอดสูอันเกิดจากการปล่อยให้ประชาชนร่วมชาติให้อดตายเพราะทุพภิกขภัย” ปีเตอร์ เกรย์ในหนังสือ The Irish Famine (ทุพภิกขภัยของชาวไอร์แลนด์) กล่าวว่ารัฐบาลใช้เงินจำนวนกว่าเจ็ดล้านปอนด์สำหรับการช่วยเหลือไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1850 ซึ่งเป็นจำนวนที่ “น้อยกว่าครึ่งเปอร์เซ็นต์ของมาตรวัดรายรับและผลผลิตของประเทศในช่วงเวลาห้าปี ผู้ร่วมสมัยกล่าวว่าเป็นจำนวนที่ต่างกันอย่างมหาศาลกับจำนวนเงิน 20 ล้านปอนด์ที่จ่ายให้เป็นค่าทดแทนเจ้าของทาสในเวสต์อินดีสในคริสต์ทศวรรษ 1830”[131]

นักวิจารณ์ผู้อื่นกล่าวว่าแม้ว่าหลังจากที่เริ่มมีความเข้าใจถึงสภาวะอันเลวร้ายของวิกฤติการณ์ รัฐบาลก็ยังคงมิได้แสดงการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างพอเพียง จอห์น มิทเชลหนึ่งในผู้นำของขบวนการยังไอร์แลนด์เขียนในบทความในปี ค.ศ. 1860 ว่า “ข้าพเจ้าเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็นทุพภิกขภัยเทียม ซึ่งหมายถึงทุพภิกขภัยที่สร้างความลำบากยากเข็ญให้แก่แผ่นดินทีอุดมสมบูรณ์ที่ผลิตข้าวปลาอาหารอันมากมายทุกปีที่เพียงพอที่จะเลี้ยงประชากรของตนเองและผู้อื่นอีกมาก แต่ฝ่ายอังกฤษเรียกสถานการณ์นี้ว่า 'แรงบันดาลของพระเจ้า' (dispensation of Providence) และลงความเห็นว่าสาเหตุทั้งหมดเกิดจากรามันฝรั่ง แต่การเสียผลผลิตมันฝรั่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วไปในยุโรปในขณะนั้น แต่ก็ไม่มีที่ใดที่ประสบกับทุพภิกขภัยนอกไปจากไอร์แลนด์ ฉะนั้นพฤติกรรมของบริติชในการตอบสนองวิกฤติการณ์จึงแสดงถึง หนึ่งความหลอกลวง สองความอัปยศ พระเจ้าอาจจะทรงเป็นผู้ส่งรามันฝรั่งลงมา แต่อังกฤษเป็นผู้สร้างทุพภิกขภัย”[132]

แต่นักวิจารณ์อื่นมองเห็นการตอบโต้วิกฤติการณ์เป็นการตอบโต้ของรัฐบาลตามทัศนคติต่อปัญหาที่เรียกว่า “ปัญหาไอร์แลนด์” นาซอ ซีเนียร์ศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดกล่าวถึงทุพภิกขภัยว่า “ไม่ได้คร่าชีวิตคนมากไปกว่าล้านคน ซึ่งก็ไม่ได้ถือว่าเป็นจำนวนมากที่จะทำเป็นเรื่องใหญ่”[132] ในปี ค.ศ. 1848, เดนนิส ไชน์ ลอว์เลอร์เสนอว่าลอร์ดรัสเซลล์เป็นนักศึกษาตามทฤษฎีของกวีสมัยเอลิซาเบธเอ็ดมันด์ สเปนเซอร์ (Edmund Spenser) ผู้ได้คำนวณว่า “การครอบครองและนโยบายของอังกฤษจะยืดไปอย่างมีประสิทธิภาพได้นานเท่าใดโดยการปล่อยให้ชาวไอร์แลนด์อดอยาก”[133] เซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนข้าราชการผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อการตอบโต้ต่อปัญหาวิกฤติการณ์ของรัฐบาลบรรยายในปี ค.ศ. 1848 ว่า “การกระตุ้นผู้มีอำนาจและความกรุณาเบื้องบน” ที่เปิดให้เห็น “ถึงรากของความชั่วร้ายในสังคม” เทรเวเลียนยืนยันต่อไปว่าทุพภิกขภัยคือ “บทแก้ของปัญหาอันรุนแรงแต่มีประสิทธิภาพและอาจจะเป็นวิธีที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ พระเจ้าประทานว่าชนรุ่นที่ประสบกับวิธีแก้ปัญหาที่ว่านี้จะเป็นประชาชนที่ได้รับโอกาสที่ประพฤติตัวดีขึ้น...”[134]

ประวัติศาสตร์

คริสติน คินีลนีให้ความเห็นที่พ้องกับนักประวัติศาสตร์อื่นๆ เมื่อกล่าวว่า “เรื่องน่าเศร้าของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยของปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1852 เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์สมัยใหม่ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมิใช่ทั้งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดกันมาก่อนหรือเป็นเหตุการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”[135] วิกฤติการณ์เพิ่มความเลวร้ายลงด้วยการตอบสนองอันไม่พอเพียงของรัฐบาล ที่คินีลนีกล่าวว่า

...รัฐบาลต้องตอบรับปัญหาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งที่จะช่วยผ่อนปรนการทุกข์ทรมาน ลักษณะของการโต้ตอบโดยเฉพาะหลังจากปี ค.ศ. 1846 ทำให้เห็นว่ามีนโยบายหรือแรงบันดาลใจอันซ่อนเร้น เมื่อสถานการณ์เลวร้ายลงก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่ารัฐบาลใช้ข้อมูลมิใช่แต่เพียงเพื่อการวางแผนในการวางนโยบายความช่วยเหลือแต่เป็นโอกาสในการช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะทำมานานแล้วในไอร์แลนด์ ที่รวมทั้งการควบคุมจำนวนประชากรและการรวบรวมที่ดินด้วยวิธีต่างๆ รวมทั้งการอพยพ... แม้ว่าจะมีหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าทุพภิกขภัยที่ยืดเยื้อมาจากรามันฝรั่งที่เกิดขึ้นปีแล้วปีเล่า แต่พื้นฐานของปรัชญาของการช่วยเหลือก็ยังเป็นการดำเนินการให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด และตามความเป็นจริงแล้วก็ลดความช่วยเหลือลงเมื่อภาวะทุพภิกขภัยเลวร้ายขึ้น[136]

นักเขียนหลายคนโทษข้อที่สำคัญที่สุดของนโยบายของรัฐบาลที่ยังคงอนุญาตให้ดำเนินการส่งอาหารออกจากไอร์แลนด์ต่อไปว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึงทัศนคติของนโยบายของรัฐบาล ลีออน ยูริสเสนอว่า “ไอร์แลนด์มีอาหารเพียงพอภายในประเทศ” ขณะที่วัวที่เลี้ยงในไอร์แลนด์ถูกส่งออกไปยังอังกฤษ[137] การโต้ตอบข้างล่างปรากฏในองค์ที่ 4 ของบทละคร “Man and Superman” โดย จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์:

MALONE: เดี๋ยวเขาก็หายของเขาเองแหละ คนเราจะรู้สึกดีขึ้นก็เมื่อได้ผิดหวังกับความรักเข้าเสียหน่อยแทนที่จะผิดหวังเรื่องเงิน คุณอาจจะคิดว่าความคิดของผมไม่เข้าเรื่อง แต่ผมรู้นะว่าผมพูดเรื่องอะไร พ่อผมตายเพราะความหิวโหยในไอร์แลนด์เมื่อปี 47 คุณคงได้ข่าวเรื่องนั้นบ้างหรอกVIOLET: อ้อทุพภิกขภัยน่ะหรือ?MALONE: [ชักเริ่มกรุ่น] ไม่ใช่ทุพภิกขภัย เมื่อบ้านเมืองเต็มไปด้วยข้าวด้วยน้ำแล้วยังแถมส่งออกอีก อย่างนี้เขาไม่เรียกว่าทุพภิกขภัยหรอก พ่อของผมหิวตายและตัวผมเองก็ถูกแม่ลากตัวทั้งหิวไปอเมริกา การปกครองของอังกฤษขับผมและพวกผมออกจากไอร์แลนด์ คุณก็เก็บไอร์แลนด์ของคุณไว้เถอะ ผมและพวกผมจะกลับมาซื้ออังกฤษ และจะซื้อไอ้ที่ดีๆ ด้วย ผมไม่ซื้อหรอกไอ้ทรัพย์สินชั้นกลางน่ะ และเฮ็คเตอร์ก็เหมือนกันไม่เอาผู้หญิงชั้นกลางให้ ที่พูดนี่ก็ตรงจุดใช่ใหมเล่า เหมือนคุณนั่นแหละ[138]

ผู้วิจารณ์ความเป็นจักรวรรดินิยมของอังกฤษชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างของจักรวรรดิเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เจย์.เอ. เฟราด์ เขียนว่า “อังกฤษปกครองไอร์แลนด์เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง โดยการคำนวณผลประโยชน์ที่จะได้ แต่ทิ้งความรับผิดชอบทางจรรยาธรรมไว้อีกทางหนึ่งราวกับว่าความถูกหรือความผิดถูกลบออกไปจากจักรวาล”[139] เด็นนิส คลาคนักประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์-อเมริกันอ้างว่าทุพภิกขภัย “เป็นสิ่งที่ปัญหาสะสม ที่เกิดมาหลายชั่วคนจากความละเลย การปกครองที่ไม่ถูกต้อง และความเก็บกด และเป็นมหาเหตุการณ์ที่แสดงถึงความทารุณและความไม่พอเพียงของการแก้ปัญหาของการถูกครอบครองโดยอังกฤษ สำหรับผู้ไม่มีที่ดินก็หมายถึงการอพยพหนีหรือไม่ก็ความสิ้นสุด...”[140]

ข้อเสนอการล้างชาติพันธุ์

อนุสรณ์สำหรับผู้ประสบวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในดับลิน

วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ก็ยังคงเป็นเหตุการณ์อันเป็นที่ขัดแย้งในประวัติศาสตร์ไอร์แลนด์ การโต้แย้งและการถกเถียงตั้งแต่การตอบโต้สถานการณ์โดยรัฐบาลอังกฤษไปจนถึงการสูญเสียผลผลิตมันฝรั่งในไอร์แลนด์ และทุพภิกขภัยอันแพร่หลายต่อมา หรือที่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เข้าข่ายการล้างชาติพันธุ์หรือไม่ ต่างก็ยังเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งทางประวัติศาสตร์และการเมือง

ในปี ค.ศ. 1996 ฟรานซิส เอ. บอยล์ศาสตราจารย์ทางกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์เขียนรายงานให้แก่คณะกรรมมาธิการทุพภิกขภัย/การล้างชาติพันธุ์ของชาวไอร์แลนด์ที่มีฐานอยู่ที่นิวยอร์กสรุปว่า “เป็นที่เห็นได้ชัดว่าระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1850 รัฐบาลบริติชดำเนินนโยบายสร้างทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์โดยความตั้งใจที่จะทำลายปัจจัยสำคัญของชาติ ชาติพันธุ์ และกลุ่มชนที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าชาวไอร์แลนด์.... ฉะนั้นระหว่างปี ค.ศ. 1845 จนถึงปี ค.ศ. 1850 รัฐบาลบริติชจึงได้ดำเนินนโยบายโดยเป็นที่ทราบในการสร้างทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมของการล้างชาติพันธุ์ต่อชาวไอร์แลนด์ตามมาตราที่ 2 (c) ที่ระบุในอนุสัญญาพันธุฆาตของสหประชาชาติของปี ค.ศ. 1948[141] รายงานของบอยล์มีน้ำหนักพอที่ทำให้รัฐนิวเจอร์ซีย์รวมเนื้อหาเกี่ยวกับทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์ให้เป็น “หลักสูตรเกี่ยวกับการล้างชาติพันธุ์และพันธุฆาต” ของการศึกษาระดับมัธยมศึกษา[142]

นักประวัติศาสตร์ปีเตอร์ ดัฟฟีเขียนว่า “อาชญากรรมของรัฐบาลที่สมควรจะได้รับการประณามตลอดไป...” มีรากฐานมาจาก “ความพยายามที่จะปฏิรูปไอร์แลนด์โดยอำนาจของเจ้าของที่ดิน ในการเปลี่ยนจากที่ดินทางเกษตรกรรมไปเป็นที่ดินในการเลี้ยงปศุสัตว์...ที่กลายเป็นนโยบายที่มีความสำคัญกว่าหน้าที่ในการหาอาหาร...ให้แก่ประชากรที่อดอยาก ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจว่ามีผู้ที่มีความเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายพันธุฆาต[143]

ผู้ออกความเห็นหลายคนโต้ว่าประสบการณ์ทุพภิกขภัยมีผลที่จารึกในความทรงจำทางวัฒนธรรมของชาวไอร์แลนด์ที่คล้ายคลึงกับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์พันธุฆาตที่ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น โรเบิร์ต คีนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ผู้มีผลงานเขียนเกี่ยวกับไอร์แลนด์เสนอว่าทุพภิกขภัยเป็นจิตใต้สำนึกของชาติที่มีพลังที่เปรียบได้กับ “การแก้ปัญหาสุดท้าย” (final solution) ที่เกิดขึ้นกับชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และก็มีที่เห็นว่าวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยเป็น “แผนการฆ่าล้างชาติที่วางโดยฝ่ายอังกฤษต่อชาวไอร์แลนด์” ความคิดนี้สะท้อนในงานเขียนของเจมส์ ดอนเนลลีนักประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสันใน “Landlord and Tenant in Nineteenth-Century Ireland” (เจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดินในคริสต์ศตวรรษที่ 19) ที่ตั้งข้อสรุปว่า “ตั้งแต่เมื่อเกือบเริ่มต้นของวิกฤติการณ์ ความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงของรัฐบาลในการหยุดยั้งการขับไล่หรือการชะลอการกำจัดผู้เช่าที่ดินเท่ากับเป็นการสนับสนุนอย่างเห็นได้ชัดของความคิดอันแพร่หลายของชาวไอร์แลนด์ที่ว่าเป็นการล้างชาติพันธุ์ที่สนับสนุนโดยอังกฤษ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าในทัศนคติของชาวไอร์แลนด์...และแม้ว่าตามความคิดของผมแล้วการล้างชาติพันธุ์มิได้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างและที่เป็นผลจากการขับไล่ที่มีลักษณะของการฆ่าล้างชาติพันธุ์ตามความคิดของชาวไอร์แลนด์หลายคน”[133]

นักประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์คอร์แม็ค โอเกรดาไม่เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าวิกฤติการณ์เป็นการจงใจฆ่าล้างชาติพันธุ์ด้วยเหตุผลที่ว่า: ประการที่หนึ่ง “การฆ่าล้างชาติพันธุ์รวมความตั้งใจและสามารถกล่าวได้อย่างแน่นอนว่าไม่มีผู้ใดแม้แต่ผู้ไม่เป็นกลางที่สุดหรือที่ดูถูกเผ่าพันธุ์มากที่สุดของยุคนั้นจะมีความตั้งใจที่จะฆ่าล้างชาวไอร์แลนด์” ประการที่สองสมาชิกในรัฐสภาแทบทุกคนต่างก็ “หวังให้สถานการณ์ในไอร์แลนด์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น” และ ประการที่สุดท้ายผู้ที่อ้างว่าเป็นการฆ่าล้างชาติพันธุ์มองข้าม “ขนาดของวิกฤติการณ์ที่ผู้พยายามช่วยเหลือต้องประสบทั้งระดับส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และทั้งของหลวงและของราษฏร์” โอเกรดามีความเห็นว่าวิกฤติการณ์มีต้นตอมาจากการละเลยมากกว่าที่จะเป็นเจตนาของการฆ่าล้างชาติ[144] แต่ผู้ที่มีความรับผิดชอบในการดำเนินการช่วยเหลือเช่นเซอร์ชาร์ลส์ เทรเวเลียนค้านกับความคิดที่ว่า “ละเลย” ผู้มีทัศนคติของผู้ครอบครองว่าทุพภิกขภัยเป็น “วิธีลดจำนวนประชากรที่เกินต้องการ” และเป็น “การตัดสินของพระเจ้า”[145]

นักเขียนผู้เป็นที่รู้จักชาวไอร์แลนด์และนักแต่งเพลงจอห์น วอเตอร์สบรรยายทุพภิกขภัยว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ประกอบด้วยความทารุณทุกแบบทุกอย่าง และทุพภิกขภัยเป็น “การฆ่าล้างชาติที่มีสาเหตุมาจากการถือชาติถือผิวและถือว่าทำได้ตามเหตุผลทางปรัชญา” และโต้แย้งว่าการทำลายวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจหลากหลายของไอร์แลนด์ และการลดตัวทางเศรษฐกิจของไอร์แลนด์มาเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวเป็นวิกฤติการณ์ของการล้างชาติที่รอแต่เวลาเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น[146]

ใกล้เคียง

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ทุพภิกขภัย ทุพภิกขภัยในจะงอยแอฟริกา พ.ศ. 2554 ทุพภิกขภัยในประเทศเอธิโอเปีย พ.ศ. 2526–2528 ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1315–1317 ทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือ ทุพภิกขภัยในประเทศรัสเซีย ค.ศ. 1921–1922 ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ http://www.doonbleisce.com/famine_in_doon.htm http://www.emigrantletters.com/IE/output.asp?Artic... http://www.fountainmagazine.com/articles.php?SIN=7... http://books.google.com/books?id=Q3crAAAACAAJ&dq=%... http://books.google.com/books?id=sk3o1irXY5oC&pg=P... http://books.google.com/books?q=%22irish+holocaust... http://www.historyplace.com/worldhistory/famine/co... http://www.internetspor.com/v3/futbol/haber.php?ha... http://www.mccorkellline.com/ http://www.physorg.com/news171720802.html