การอพยพ ของ ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์

ดูบทความหลักที่: การอพยพของชาวไอร์แลนด์
“ผู้อพยพออกจากไอร์แลนด์” ภาพพิมพ์แกะโดยเฮนรี ดอยล์ (ค.ศ. 1827–ค.ศ. 1892) สำหรับหนังสือ “Illustrated History of Ireland” โดยแมรี ฟรานซ์ คูแซ็ค, ค.ศ. 1868อัตราการเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรในไอร์แลนด์ระหว่างปี ค.ศ. 1841 ถึงปี ค.ศ. 1851

ขณะที่ทุพภิกขภัยเป็นสาเหตุสำคัญในการเพิ่มจำนวนผู้อพยพออกจากไอร์แลนด์จำนวนระหว่าง 45% จนถึงเกือบ 85% ขึ้นอยู่กับปีและสถานที่แต่มิใช่เป็นเพียงสาเหตุเดียว และมิใช่เป็นช่วงเดียวที่มีการอพยพกันอย่างขนานใหญ่ การอพยพเริ่มกันมาตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 18 ในช่วงห้าสิบปีเมื่อประชากรราวสองแสนห้าหมื่นคนอพยพจากไอร์แลนด์ไปตั้งถิ่นฐานในโลกใหม่ ตั้งแต่การพ่ายแพ้ของนโปเลียนมาจนถึงการเริ่มต้นทุพภิกขภัยเป็นเวลาราวสามสิบปี “อย่างน้อยก็ 1,000,000 คนหรืออาจจะเป็น 1,500,000 คนทำการอพยพ”[87] แต่ในช่วงที่เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดในระหว่างวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยผู้อพยพมีจำนวนสูงถึงราว 250,000 คนภายในหนึ่งปีเท่านั้น และมาจากทางตะวันตกเป็นจำนวนมากกว่าส่วนอื่นของประเทศ[88]

โดยทั่วไปแล้วการอพยพของชาวไอร์แลนด์มิได้เป็นการยกกันไปทั้งครอบครัว ผู้ที่ทำการอพยพมักเป็นผู้ที่มีอายุน้อยราวกับว่าการอพยพจะเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นผู้ใหญ่ (rite of passage) ที่จะต้องเกิดขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากสถิติซึ่งไม่เหมือนกับการอพยพอื่นๆ ในประวัติศาสตร์โลกที่จำนวนสตรีที่อพยพมีจำนวนพอๆ กับบุรุษ ผู้ที่ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในโลกใหม่ส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวในไอร์แลนด์เป็นจำนวน “ถึง £1,404,000 ภายในปี ค.ศ. 1851”[89] ซึ่งเป็นเงินที่นำไปใช้ในการช่วยให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้มีโอกาสอพยพ

การอพยพในช่วงวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1850 เป็นการอพยพไปยังอังกฤษ สกอตแลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และ ออสเตรเลีย[90] ผู้ที่อพยพไปอเมริกาหลายคนใช้เส้นทางเรือที่เป็นที่รู้จักกันดีที่เรียกว่า “เรือสายแม็คคอร์เคลล์” (McCorkell Line)[91]

ในจำนวนผู้เดินทางจากไอร์แลนด์ 100,000 คนไปยังแคนาดาในปี ค.ศ. 1847 หนึ่งในห้าคนตายด้วยการติดโรค การขาดอาหาร รวมทั้งอีก 5,000 คนที่เสียชีวิตที่เกาะโกรสส์ (Grosse Isle) ซึ่งเป็นเกาะกลางแม่น้ำเซนต์ลอเรนซ ที่ใช้เป็นศูนย์กักกันและตรวจสอบผู้อพยพก่อนจะอนุญาตให้เข้าแคนาดาได้[92] อัตราการเสียชีวิตถึง 30% ของผู้อพยพที่เดินทางโดยเรือศพถือเป็นเรื่องปกติ[93][94]

เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1854 ชาวไอร์แลนด์ระหว่าง 1½ ถึง 2 ล้านคนก็อพยพออกจากไอร์แลนด์เพราะถูกไล่จากที่ดิน, จากทุพภิกขภัย และ จากสภาวะความเป็นอยู่อันทารุณ ในอเมริกาผู้ที่อพยพส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองเพราะมีเงินไม่มากนัก ส่วนใหญ่ก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองท่าที่ขึ้นฝั่ง ในปี ค.ศ. 1850 บอสตัน นครนิวยอร์ก ฟิลาเดลเฟีย และบัลติมอร์ ก็มีประชากรที่เป็นชาวไอร์แลนด์ถึงหนึ่งในสี่ นอกจากนั้นก็ยังมีเป็นจำนวนมากตามเมืองที่มีเหมือง

กราฟแสดงดัชนีจำนวนประชากรของไอร์แลนด์และยุโรปเปรียบเทียบกับปี ค.ศ. 1750 ที่แสดงให้เห็นถึงผลอันร้ายแรงของวิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1845 ถึงปี ค.ศ. 1849

การสำรวจจำนวนประชากรของปี ค.ศ. 1851 รายงานว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่อาศัยอยู่ในโทรอนโต และ ออนทาริโอเป็นชาวไอร์แลนด์ และในปี ค.ศ. 1847 เพียงปีเดียว มีชาวไอริชอพยพเข้ามาถึง 38,000 คนในเมืองที่มีประชากรที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แล้ว 20,000 คน เมืองในแคนาดาอื่นๆ เช่นเซนต์จอห์นในนิวบรันสวิค เมืองควิเบค และมอนทริออลรับผู้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากเพราะเมืองเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอังกฤษ ฉะนั้นจึงไม่สามารถที่จะปิดอ่าวต่อเรือจากไอร์แลนด์ได้ นอกจากนั้นผู้อพยพก็สามารถที่จะซื้อตั๋วราคาถูกได้ (หรืออาจจะฟรีในกรณีที่โดนไล่จากที่ดิน) แต่ความกลัวในการก่อตัวของกลุ่มชาตินิยมทำให้รัฐบาลบริติชตั้งข้อจำกัดอันรุนแรงต่อผู้อพยพไปยังแคนาดาหลังจากปี ค.ศ. 1847 ที่เป็นผลทำให้มีผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกามากขึ้น สุสานที่ใหญ่ที่สุดของชาวไอร์แลนด์นอกไอร์แลนด์อยู่ที่เกาะโกรสสในควิเบค ในอังกฤษเองในปี ค.ศ. 1851 ราวหนึ่งในสี่ของประชากรของเมืองลิเวอร์พูลเกิดในไอร์แลนด์

วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยเป็นจุดเริ่มต้นของการลดจำนวนประชากรของไอร์แลนด์อย่างรวดเร็วในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อัตราการขยายตัวของจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น 13–14% ในสามสิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ระหว่างปี ค.ศ. 1831 และ ค.ศ. 1841 ประชากรเพิ่มขึ้นราว 5%

ความคิดของทอมัส โรเบิร์ต มาลธัสที่ว่าประชากรจะขยายตัวอย่างรวดเร็วตามอัตราทรัพยากรที่เพิ่มขึ้นเป็นทฤษฎีที่แพร่หลายระหว่างที่เกิดสถาวะทุพภิกขภัยระหว่างปี ค.ศ. 1817 ถึงปี ค.ศ. 1822 แต่เมื่อมาถึงคริสต์ศตวรรษ 1830 สิบปีก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย ทฤษฎีนี้ก็เห็นกันว่าเป็นทฤษฎีที่ง่ายเกินไป และปัญหาที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ก็เห็นกันว่าเป็นปัญหาที่ไม่เกี่ยวกับการขยายตัวของประชากรแต่ “มาจากการขาดการลงทุน”[95] และในช่วงเดียวกันประชากรของไอร์แลนด์มิได้ขยายตัวขึ้นมากไปกว่าในอังกฤษซึ่งมิได้ประสบวิกฤติการณ์เช่นเดียวกับไอร์แลนด์

ใกล้เคียง

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ทุพภิกขภัย ทุพภิกขภัยในจะงอยแอฟริกา พ.ศ. 2554 ทุพภิกขภัยในประเทศเอธิโอเปีย พ.ศ. 2526–2528 ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1315–1317 ทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือ ทุพภิกขภัยในประเทศรัสเซีย ค.ศ. 1921–1922 ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ http://www.doonbleisce.com/famine_in_doon.htm http://www.emigrantletters.com/IE/output.asp?Artic... http://www.fountainmagazine.com/articles.php?SIN=7... http://books.google.com/books?id=Q3crAAAACAAJ&dq=%... http://books.google.com/books?id=sk3o1irXY5oC&pg=P... http://books.google.com/books?q=%22irish+holocaust... http://www.historyplace.com/worldhistory/famine/co... http://www.internetspor.com/v3/futbol/haber.php?ha... http://www.mccorkellline.com/ http://www.physorg.com/news171720802.html