สาเหตุและปัจจัยที่ประกอบ ของ ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801 ภายใต้พระราชบัญญัติสหภาพ ไอร์แลนด์ปกครองโดยตรงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร อำนาจการบริหารตกอยู่ในมือของข้าหลวงใหญ่แห่งไอร์แลนด์และเลขาธิการเอกแห่งไอร์แลนด์ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลบริติช ไอร์แลนด์มีสมาชิกรัฐสภา 105 คนในสภาสามัญชน และ ขุนนางสืบตระกูลไอร์แลนด์ก็เลือกสมาชิกในกลุ่มของตนเองอีก 28 คนสำหรับนั่งในสภาขุนนาง ระหว่างปี ค.ศ. 1832 จนถึงปี ค.ศ. 1859 เจ็ดสิบห้าเปอร์เซ็นต์ของผู้แทนของไอร์แลนด์มาจากเจ้าของที่ดินหรือลูกของเจ้าของที่ดิน[10]

ในช่วงสี่สิบปีหลังการรวมตัวเป็นสหราชอาณาจักรรัฐบาลบริติชต่อมาหลายรัฐบาลก็พยายามหาวิธีแก้ปัญหาการปกครองในไอร์แลนด์ ตามที่เบนจามิน ดิสราเอลีกล่าวในปี ค.ศ. 1844 ว่าเป็นประเทศที่ “ประชากรเต็มไปด้วยทุพภิกขภัย, ขุนนางที่ไม่มีตัวตน, สถาบันศาสนาที่เข้าไม่ถึงประชาชน และระบบบริหารที่ย่ำแย่ที่สุดในโลก”[11] นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งคำนวณว่าระหว่างปี ค.ศ. 1801 จนถึงปี ค.ศ. 1845 รัฐบาลก่อตั้งคณะกรรมาธิการ 114 คณะ และคณะกรรมาธิการพิเศษอีก 61 คณะ เพื่อทำการศึกษาสถานการณ์ของไอร์แลนด์ ซึ่งต่างก็เห็นพ้องกัน “โดยไม่มีข้อยกเว้นจากการวินิจฉัยที่ต่างก็ทำนายถึงวิกฤติการณ์ที่จะเกิดขึ้นที่รวมทั้ง: ไอร์แลนด์อยู่ในภาวะที่ใกล้จะอดตาย, ประชากรทวีจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว, ประชากรสามในสี่ไม่มีงานทำ, สภาวะการอยู่อาศัยอยู่ในสภาพที่น่าขยะแขยง และ มาตรฐานความเป็นอยู่อยู่ในระดับต่ำอย่างเหลือเชื่อ”[12] สภาวะของสังคมดังกล่าวนี้ตรงกันกับข้ามกับสภาวะสังคมในบริเตนในช่วงเวลาเดียวกัน ในขณะนั้นบริเตนเริ่มจะได้รับผลประโยชน์จากความมั่งมีของสมัยใหม่ของสมัยวิคตอเรียที่เป็นผลจากความเจริญรุ่งเรืองของยุคอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นกฎหมายที่จำกัดการศึกษาสำหรับชาวไอริชคาทอลิก และการเป็นเจ้าของที่ดินก็เป็นผลให้ความเจริญเช่นที่เกิดขึ้นในอังกฤษเป็นไปได้ยากในไอร์แลนด์ จนกระทั่งเมื่อกฎหมายอาญาถูกยกเลิกเพียงห้าสิบปีก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย แต่การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจก็เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะครอบครัวที่เป็นเจ้าของที่ดินก็ยังคงรักษาที่ดินไว้ในมือ

เจ้าของและผู้ทำงานในที่ดิน

นโยบายปลดแอกคาทอลิกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1829 ประชากรของไอร์แลนด์ 80 เปอร์เซ็นต์นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนที่อยู่ในสภาพที่ยากจนและไม่มีความมั่นคงทางสังคม ในขณะที่ชนชั้นสูงในสังคมเป็นผู้นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ ที่เป็นครอบครัวชาวอังกฤษหรือชาวอังกฤษ-ไอร์แลนด์ ผู้มีฐานะเป็นเจ้าของที่ดินเกือบทั้งหมด และมีอำนาจอันไม่มีขอบเขตเหนือผู้ทำงานในที่ดิน เจ้าของที่ดินบางคนก็มีที่ดินเป็นจำนวนมากเช่นเอิร์ลแห่งลูคันที่เป็นเจ้าของที่ดินถึง 240 ตารางกิโลเมตร เจ้าของที่ดินหลายคนมีที่พักในอังกฤษซึ่งทำให้เป็นเพียงเจ้าของที่ดินที่ไม่มีตัวตน (absentee landlords) เจ้าของที่ดินเหล่านี้ใช้ตัวแทนในการบริหารที่ดินในไอร์แลนด์และส่งรายได้ที่ได้รับกลับไปอังกฤษ[13] เจ้าของที่ดินที่ไม่มีตัวตนที่อาศัยอยู่ในอังกฤษบางคนก็ไม่เคยแม้แต่จะเหยียบแผ่นดินไอร์แลนด์ ได้แต่เพียงเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าผู้ยากเข็ญ หรือจ่ายค่าจ้างเพียงจำนวนเพียงเล็กน้อยในการทำการเกษตรกรรมหรือเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อส่งออก[14]

แดเนียล โอคอนเนลล์แห่งสมาคมเพื่อการเพิกถอนการเป็นสหภาพ

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1843 เมื่อรัฐบาลบริติชภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเซอร์ โรเบิร์ต พีลพิจารณาเห็นว่าปัญหาที่ดินเป็นบ่อเกิดของความไม่พึงพอใจที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์ พีลก็ได้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการเดวอน (Devon Commission) โดยมีเอิร์ลแห่งเดวอนเป็นประธานเพื่อสืบสวนเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเป็นเจ้าของที่ดินในในไอร์แลนด์ นักการเมืองไอริชแดเนียล โอคอนเนลวิจารณ์คณะราชกรรมาธิการชุดนี้ว่าเป็นคณะกรรมการข้างเดียวอย่างแท้จริงเพราะสมาชิกทั้งหมดเป็นเจ้าของที่ดินโดยไม่มีตัวแทนที่เป็นผู้เช่าที่ดิน[15] ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1845 คณะราชกรรมาธิการก็รายงานว่า “เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่จะบรรยายถึงความลำบากยากเข็ญที่[ชนชั้นแรงงานชาวไอริชและครอบครัว]ต้องทนกันมาอย่างไม่มีปากมีเสียง . . . ในบางแขวงอาหารอย่างเดียวที่มีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก็มีแต่มันฝรั่ง . . .กระท่อมที่อยู่ก็แทบจะไม่มีการป้องกันจากสภาวะอากาศ . . .เตียงหรือผ้าห่มก็หายากที่จะมีกัน . . .และทรัพย์สมบัติอย่างเดียวที่มีกันเกือบทุกคนก็คือหมูและกองขี้หมู” สมาชิกของคณะราชกรรมาธิการสรุปว่าสมาชิกเอง “ไม่อาจจะยับยั้งที่จะกล่าวถึงความอดทนต่อสภาวะอันแสนเข็ญของชนชั้นแรงงานที่คณะกรรมาธิการเชื่อว่าเป็นความลำบากอันมากกว่าชาติใดใดในยุโรปที่ต้องทน”[16]

คณะราชกรรมาธิการกล่าวว่าต้นตอของปัญหามาจากความสัมพันธ์อันเลวร้ายระหว่างเจ้าของที่ดินและผู้เช่าที่ดิน ซึ่งเป็นภาวะของการขาดความจงรักภักดีต่อเจ้าของที่ดิน และเจ้าของที่ดินเองก็ขาดความรับผิดชอบในการพิทักษ์ผู้ทำงานในที่ดิน ซึ่งแตกต่างกับที่ปฏิบัติกันในอังกฤษเพราะไอร์แลนด์เป็นดินแดนที่ถูกพิชิต เมื่อเอิร์ลแห่งแคลร์กล่าวถึงเจ้าของที่ดินว่า “การยึดที่ดินเป็นเรื่องที่ทำกันโดยปกติ” นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเซซิล วูดแดม-สมิธกล่าวว่าเจ้าของที่ดินถือว่าที่ดินเป็นแหล่งหารายได้สำหรับการบีบคั้นให้ได้รายได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่ชาวไอริช “ก้มหน้าก้มตาวิตกถึงความไม่พึงพอใจต่างๆ ที่เกิดขึ้น” ตามความเห็นของเอิร์ลแห่งแคลร์เจ้าของที่ดินมีความเห็นว่าไอร์แลนด์คือดินแดนที่ไม่เป็นมิตรสำหรับการใช้เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นผลทำให้เจ้าของที่ดินเลี่ยงที่จะพำนักอยู่กับที่ดินและกลายมาเป็นเจ้าของที่ดินล่องหนกันไปตามตามกัน จะมีบางคนทีอาจจะเดินทางไปดูที่ครั้งหรือสองครั้งในชีวิต ค่าเช่าที่ได้รับมาก็นำไปใช้ในอังกฤษ ซึ่งในปี ค.ศ. 1842 ประมาณกันว่าได้มีการนำเงินออกจากไอร์แลนด์เป็นจำนวนถึง £6,000,000 การเก็บค่าเช่าก็ตกอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการที่ทำงานให้แก่เจ้าของที่ดิน ซึ่งตามความเห็นของวูดแดม-สมิธแล้ว ความมีประสิทธิภาพของผู้จัดการก็วัดได้จากการเรียกเก็บหรือขูดค่าเช่าจากผู้เช่าที่ดิน[17]

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 18 ก็ได้มีการนำระบบใหม่ในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของที่ดินเข้ามาใช้ในรูปของ “ระบบคนกลาง” ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้เจ้าของที่ดินได้รับรายได้จากที่ดินอย่างสม่ำเสมอและลดภาระจากความรับผิดชอบต่างๆ ลง แต่ผลเสียคือผู้เช่าที่ดินถูกตักตวงเพิ่มขึ้นโดยคนกลาง คณะกรรมาธิการบรรยายระบบนี้ว่าเป็น “ระบบอันกดขี่ที่สุดของผู้เผด็จการที่ยื่นมือเข้ามาช่วยในการทำลายประเทศ” คนกลางเหล่านี้มักจะได้รับการขนานนามว่า “ฉลามบก” หรือ “คนดูดเลือด”[18]

คนกลางจะเช่าที่ดินผืนใหญ่จากเจ้าของที่ดินโดยเป็นสัญญาประเภทเช่านานโดยจ่ายค่าเช่าที่คงตัว จากนั้นก็หันไปเอาที่ดินที่เช่ามาไปให้เช่าต่อตามแต่จะเหมาะสม การแบ่งที่ดินให้เช่ายิ่งย่อยออกไปเท่าใดก็ยิ่งจะทำรายได้เพิ่มขึ้นได้มากเท่านั้น ผู้เช่าที่ดินอาจจะถูกไล่ออกจากที่ดินด้วยเหตุผลเช่นไม่จ่ายค่าเช่าซึ่งเป็นจำนวนสูง หรือเมื่อเจ้าของที่ดินเปลี่ยนใจหันไปเลี้ยงแกะแทนที่จะใช้ที่ดินในการปลูกธัญพืช[19]ถ้าผู้เช่าปรับปรุงสิ่งใดในที่ดินสิ่งนั้นก็กลายเป็นของเจ้าของที่ดินหลังจากหมดสัญญาเช่า หรือเมื่อถูกเลิกสัญญา ซึ่งทำให้ไม่มีผู้ใดที่ต้องการที่จะปรับปรุงที่ดิน นอกจากนั้นผู้เช่าที่ดินก็ขาดความมั่นคงในการเช่าเพราะอาจจะถูกไล่ที่เมื่อใดก็ได้ตามแต่เจ้าของที่ดินต้องการ ชนชั้นนี้เป็นชนส่วนใหญ่ของชาวนาที่เช่าที่ดินในไอร์แลนด์ ยกเว้นแต่ในบริเวณอัลสเตอร์ที่มีระบบ “สิทธิผู้เช่าที่ดิน” ซึ่งผู้เช่าที่ดินได้รับค่าตอบแทนเมื่อทำการปรับปรุงที่ดินที่เช่า คณะกรรมาธิการตามความเห็นของวูดแดม-สมิธกล่าวว่า “ความมั่งคั่งและความสงบในอัลสเตอร์เมื่อเปรียบเทียบกับส่วนอื่นของไอร์แลนด์เป็นผลมาจากลักษณะของสิทธิผู้เช่าที่ดิน”[18]

เจ้าของที่ดินในไอร์แลนด์ใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรมโดยไม่มีความละอายใจ และผู้ที่อยู่ภายใต้อำนาจก็ได้แต่ชิงชัง ในบรรยากาศดังกล่าวนี้วูดแดม-สมิธกล่าวว่า “ความอุตสาหะและความต้องการในการปรับปรุงก็ดับ และสร้างเกษตรกรที่ยากจนที่สุดในยุโรป”[16]

ผู้เช่าที่ดิน, การแบ่งที่ดิน และ การล้มละลาย

ในปี ค.ศ. 1845 ยีสิบสี่เปอร์เซ็นต์ของฟาร์มที่ให้เช่าในไอร์แลนด์มีขนาดระหว่าง 0.4 ถึง 2 เฮคตาร์ (1 ถึง 5 เอเคอร์) อีกสี่สิบเปอร์เซ็นต์มีขนาดระหว่าง 2 ถึง 6 เฮคตาร์ (5 ถึง 15 เอเคอร์) ขนาดของที่ดินที่แบ่งออกไปมีขนาดเล็กจนกระทั่งปลูกได้ก็แต่มันฝรั่งเพียงอย่างเดียว—ไม่มีพืชอื่น—ที่ปลูกได้พอที่จะเลี้ยงครอบครัว รัฐบาลบริติชรายงานไม่นานก่อนที่จะเกิดวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัยว่าความจนแผ่ขยายอย่างกว้างขวางจนหนึ่งในสามของผู้เช่าที่ดินไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้หลังจากที่จ่ายค่าเช่าแล้ว นอกจากว่าจะเดินทางไปหารายได้เพิ่มเติมเป็นคนงานชั่วฤดู (migrant labour) ในอังกฤษหรือสกอตแลนด์[20] หลังจากวิกฤติการณ์ทุพภิกขภัย ก็มีการปฏิรูปที่ดินที่ห้ามการแบ่งที่ดินให้มีขนาดเล็กลงไปอีก[21]

จากการสำรวจจำนวนประชากรในปี ค.ศ. 1841 พบว่ามีประชากรกว่าแปดล้านคน สองในสามของจำนวนนวนนั้นดำรงชีพโดยการทำการเกษตรกรรมและแทบจะไม่มีรายได้จากค่าแรงงานอื่น ประชากรเหล่านี้ต้องทำงานให้แก่เจ้าของที่ดินเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับที่ดินเพียงกระแบะมือที่ใช้ในการปลูกพืชสำหรับเลี้ยงตนเองและครอบครัว ซึ่งทำให้ระบบเกษตรกรรมของไอร์แลนด์กลายเป็นระบบเกษตรกรรมพืชเดี่ยวซึ่งเป็นระบบที่เกษตรกรปลูกแต่เพียงพืชชนิดเดียว ซึ่งก็คือมันฝรั่งเพื่อให้เป็นจำนวนพอเพียงที่จะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ สิทธิในการได้ที่ดินในไอร์แลนด์ในช่วงนั้นจึงมีความหมายถึงการตายหรือการอยู่รอดในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19[14]

ภาวะพึ่งพิงมันฝรั่ง

มันฝรั่งนำเข้ามาปลูกในไอร์แลนด์ในช่วงแรกเป็นพืชสวนสำหรับชนชั้นผู้ดี เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 มันฝรั่งก็แพร่หลายไปเป็นอาหารประกอบแทนที่จะเป็นอาหารหลัก อาหารหลักขณะนั้นยังเป็นเนย นม และธัญพืช ในยี่สิบปีแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 18 มันฝรั่งจึงกลายมาเป็นอาหารหลักสำหรับคนยากจนโดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว[22] การขยายตัวของเศรษฐกิจระหว่าง ค.ศ. 1760 จนถึง ค.ศ. 1815 ทำให้มันฝรั่งกลายมาเป็นอาหารหลักตลอดปีสำหรับเกษตรกรและชนชั้นเกษตรกรที่มีที่ทำกินน้อย[23]

การขยายการปลูกมันฝรั่งเป็นปัจจัยของการวิวัฒนาการของระบบเกษตรกรผู้เช่านา ที่ทำให้เจ้าของที่ดินสามารถได้แรงงานที่มีราคาต่ำที่สุดแต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ระดับความเป็นอยู่ของแรงงานที่จ้างมาต่ำตามลงไปด้วย สำหรับเกษตรกรเองค่าจ้างมันฝรั่งก็สิ่งจำเป็นในการขยายเศรษฐกิจการเกษตรกรรม[23] การขยายตัวนี้ก็นำไปสู่การขยายเนื้อที่ในการปลูกมันฝรั่งที่เพิ่มมากขึ้นและการขยายตัวของชนชั้นแรงงานเกษตรกรที่ตามมา เมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1841 ชนชั้นเกษตรกรแรงงานก็มีด้วยกันกว่าหนึ่งล้านคน ผู้มีครอบครัวอีกเจ็ดแสนห้าหมื่นคน ผู้ที่ได้รับผลประโยชน์หลักจากระบบนี้คือผู้บริโภคในอังกฤษ[23]

ผืนดินที่ใช้เลี้ยงสัตว์เคลติคของ... ไอร์แลนด์นำมาใช้ในการเลี้ยงวัวอยู่เป็นเวลาหลายร้อยปี การยึดครองของอังกฤษ...เปลี่ยนสภาวะที่ดินของไอร์แลนด์เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ในการเลี้ยงปศุสัตว์สำหรับตลาดผู้บริโภคในอังกฤษ...ความต้องการอันสูงในการบริโภคเนื้อสัตว์มีผลกระทบกระเทือนที่นำความเสียหายอย่างใหญ่หลวงมาสู่ผู้มีความลำบากยากเข็ญในไอร์แลนด์...ผู้ถูกขับออกจากทุ่งที่มีดินดีไปทำมาหากินกับที่ดินเพียงผืนเล็กๆ บนดินที่ปลูกอะไรไม่ขึ้น ชาวไอริชจึงหันไปปลูกมันฝรั่ง พืชที่สามารถปลูกได้มากในสภาพดินที่ไม่ต้องดีนัก ในที่สุดที่ดินส่วนใหญ่ของไอร์แลนด์ก็กลายเป็นที่ดินสำหรับเลี้ยงวัว ที่ทำให้ประชากรท้องถิ่นของไอร์แลนด์ต้องพึ่งแต่มันฝรั่งเป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิต[24]

รามันฝรั่งในไอร์แลนด์

จ้ำดำที่ปรากฏบนใบมันฝรั่งที่โดยไฟทอฟธอรา อินเฟสทันสหัวมันฝรั่งที่ถูกเชื้อราที่ในที่สุดก็จะเน่าเละส่งกลิ่นเหม็น

ก่อนหน้าที่ “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” หรือที่เรียกว่า “รามันฝรั่ง” จะระบาดขึ้นในไอร์แลนด์ มันฝรั่งมีโรคหลักอยู่สองโรค[25] โรคหนึ่งเรียกว่า “dry rot” หรือ “taint” อีกโรคหนึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่เรียกกันว่า “curl”[25][26] นักเขียนดับเบิลยู.ซี. แพดด็อคกล่าวว่า “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” เป็น ราน้ำ (oomycete) ที่อันที่จริงแล้วไม่ใช่ “รา” ตามที่เข้าใจกัน[27]

ในปี ค.ศ. 1851 การสำรวจจำนวนประชากรในไอร์แลนด์ของคณะราชกรรมาธิการบันทึกความเสียหายที่ต่างระดับกันของผลผลิตมันฝรั่งที่เกิดขึ้นถึงยี่สิบสี่ครั้งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1728 เป็นต้นมา

  • ค.ศ. 1739 และ ค.ศ. 1740 ผลผลิตทั้งหมดถูกทำลายจนหมดสิ้น
  • ค.ศ. 1770 ผลผลิตส่วนใหญ่ก็ได้รับความเสียหาย
  • ค.ศ. 1800 เกิดความเสียหายโดยทั่วไป
  • ค.ศ. 1807 ครึ่งหนึ่งของผลผลิตได้รับความเสียหาย
  • ค.ศ. 1821 และ ค.ศ. 1822 ผลผลิตในมันสเตอร์ (Munster) และ คอนนอต (Connacht) ถูกทำลายจนหมดสิ้น
  • ค.ศ. 1830 และ ค.ศ. 1831 ผลผลิตใน มาโย, ดอเนอกัล และ กาลเวย์ ได้รับความเสียหาย
  • ค.ศ. 1832, ค.ศ. 1833, ค.ศ. 1834 และ ค.ศ. 1836 ผลผลิตมันฝรั่งจำนวนมากได้รับความเสียหายอย่างหนัก
  • ค.ศ. 1835 ใน อัลสเตอร์
  • ค.ศ. 1836 และ ค.ศ. 1837 เป็นปีที่ผลผลิตได้รับความเสียหายอย่างกว้างขวางโดยทั่วไปในไอร์แลนด์
  • ค.ศ. 1839 ความเสียหายเกิดขึ้นโดยทั่วไปทั้งประเทศ
  • ค.ศ. 1841 และ ค.ศ. 1844 ความเสียหายเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกครั้งหนึ่ง

วูดแดม-สมิธสรุปว่า “ความไม่แน่นอนของผลผลิตมันฝรั่งกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับกันเป็นปกติในไอร์แลนด์”[28]

จะเป็นวิธีใดหรือเมื่อใดที่ “ไฟทอฟธอรา อินเฟสทันส” เข้ามาเผยแพร่ในไอร์แลนด์นั้นไม่เป็นที่ทราบ แต่พี. เอ็ม. เอ. เบิร์คเชื่อว่ามิได้เกิดขึ้นก่อน ค.ศ. 1842 และอาจจะเข้ามาเผยแพร่ในปี ค.ศ. 1844 อย่างน้อยแหล่งข้อมูลแหล่งหนึ่งเสนอว่าอาจจะมาจากทางตอนเหนือของเทือกเขาแอนดีสในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะจากเปรู จากนั้นก็เข้ามาเผยแพร่ในยุโรปโดยมากับเรือที่บรรทุก ปุ๋ยขี้นก (guano) ที่เป็นสินค้าที่เป็นที่ต้องการกันมากในการใช้เป็นปุ๋ยในการเกษตรกรรมในยุโรปและบริเตนมาขาย[29]

ในปี ค.ศ. 1844 หนังสือพิมพ์ไอร์แลนด์รายงานข่าวเกี่ยวกับเชื้อโรคที่ระบาดและทำความเสียหายแก่มันฝรั่งอยู่เป็นเวลาสองปีในอเมริกา[26] นักเขียนเจมส์ ดอนเนลลีกล่าวว่าต้นตอของเชื้อโรคน่าจะมาจากทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกาที่ในปี ค.ศ. 1843 และ ค.ศ. 1844 เชื้อราทำลายพืชผลส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ดอนเนลลีเสนอว่าเรือที่เดินทางมาจากบัลติมอร์ ฟิลาเดลเฟีย และ นิวยอร์กอาจจะเป็นการนำเชื้อโรครามันฝรั่งมายังเมืองท่าในยุโรป[30] ดับเบิลยู.ซี. แพดด็อคเสนอว่าเชื้อโรคมากับมันฝรั่งที่บรรทุกมาในเรือที่ใช้เลี้ยงผู้โดยสารในเรือรับส่งผู้โดยสารที่แล่นระหว่างอเมริกาและไอร์แลนด์[31]

เมื่อเชื้อโรคมาถึงไอร์แลนด์ก็ระบาดอย่างรวดเร็ว เมื่อมาถึงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1845 รามันฝรั่งก็ระบาดไปทั่วบริเวณตอนเหนือและตอนกลางของยุโรป เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ ตอนเหนือของฝรั่งเศส และทางใต้ของอังกฤษ เมื่อกลางเดือนสิงหาคมมันฝรั่งทั้งหมดก็โดนเชื้อรา [32]

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม นิตยสาร “Gardeners' Chronicle and Horticultural Gazette” ก็พิมพ์รายงานที่บรรยาย 'เชื้อราที่มีลักษณะที่ไม่เหมือนปกติ' ที่พบบนเกาะไวท์ อาทิตย์หนึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นิตยสารก็รายงานว่า 'โรคร้ายระบาดในบรรดาแปลงมันฝรั่ง...ในเบลเยียมกล่าวกันว่าแปลงมันฝรั่งถูกทำลายทั้งแปลง ในตลาดคัฟแวนท์การ์เด็นแทบจะหามันฝรั่งที่ไม่มีเชื้อโรคได้...ถ้าพูดถึงวิธีการกำจัดโรคร้ายนี้ ก็เห็นจะไม่มี...'[33] รายงานเหล่านี้ตีพิมพ์อย่างละเอียดในหนังสือพิมพ์ไอริช[34] เมื่อวันที่ 13 กันยายน[35] นิตยสาร “Gardeners' Chronicle” ประกาศว่า: 'เราขอประกาศข่าวใหญ่ด้วยความเศร้าใจว่าเชื้อมันฝรั่งเมอร์เรนได้ประกาศตนเองในไอร์แลนด์อย่างไม่มีข้อกังขา แต่รัฐบาลบริติชก็ยังมีความหวัง[ว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น]อยู่ต่อไปอีกหลายสัปดาห์'[36]

ความเสียหายของพืชผลในปี ค.ศ. 1845 ประมาณกันว่าสูงถึงราว 50% ของพืชผลทั้งหมด[37] ถึงหนึ่งในสาม[38] คณะกรรมาธิการแมนชันเฮาส์ (The Mansion House Committee) ในดับลิน ที่เป็นที่รับจดหมายจากทั่วไอร์แลนด์อ้างว่าเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1845 ทางคณะกรรมาธิการก็ได้ประเมินผลเสียหายอย่าง 'ไม่มีข้อสงสัยว่าเกิดขึ้นกับหนึ่งในสามของพืชผลมันฝรั่งทั้งหมด ... ถูกทำลายไปเสร็จสิ้นแล้ว'[32]

ในปี ค.ศ. 1846 สามในสี่ของพืชผลก็สูญเสียไปกับเชื้อโรค[39] เมื่อมาถึงเดือนธันวาคม ผู้คนราวสามแสนห้าหมื่นคนของผู้ที่หมดหนทางก็ได้รับการจ้างโดยรัฐบาลให้ทำงานสาธารณะ (public works)[40] คอร์แม็ค โอเกรดากล่าวว่าการระบาดครั้งแรกทำให้เกิดความยากเข็ญในชนบทของไอร์แลนด์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1846 ก็เริ่มมีบันทึกเป็นครั้งแรกถึงการสูญเสียชีวิตที่เกิดจากทุพภิกขภัย[41] ในปี ค.ศ. 1848 หัวมันฝรั่งที่ใช้ในการเพาะก็เริ่มหายากขึ้น และแทบจะไม่มีการปลูกมันฝรั่งกัน ฉะนั้นแม้ว่าอัตราพืชผลจะเป็นระดับปกติแต่ผลผลิตทั้งหมดก็เป็นเพียงสองในสามของจำนวนการปลูกตามปกติ ซึ่งทำให้วิกฤติการณ์ของทุพภิกขภัยก็ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อชาวไอริช 3 ล้านคนต้องพึ่งมันฝรั่งเป็นอาหารหลัก ความหิวโหยและทุพภิกขภัยก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้[39]

ใกล้เคียง

ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ ทุพภิกขภัย ทุพภิกขภัยในจะงอยแอฟริกา พ.ศ. 2554 ทุพภิกขภัยในประเทศเอธิโอเปีย พ.ศ. 2526–2528 ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ ค.ศ. 1315–1317 ทุพภิกขภัยในเกาหลีเหนือ ทุพภิกขภัยในประเทศรัสเซีย ค.ศ. 1921–1922 ทุพภิกขภัยในไอร์แลนด์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ในไอร์แลนด์ http://www.doonbleisce.com/famine_in_doon.htm http://www.emigrantletters.com/IE/output.asp?Artic... http://www.fountainmagazine.com/articles.php?SIN=7... http://books.google.com/books?id=Q3crAAAACAAJ&dq=%... http://books.google.com/books?id=sk3o1irXY5oC&pg=P... http://books.google.com/books?q=%22irish+holocaust... http://www.historyplace.com/worldhistory/famine/co... http://www.internetspor.com/v3/futbol/haber.php?ha... http://www.mccorkellline.com/ http://www.physorg.com/news171720802.html