อาคารผู้โดยสาร ของ ท่าอากาศยานดอนเมือง

ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสาร 3 อาคาร คือ อาคาร 1 อาคาร 2 และอาคาร 3 ทุกอาคารตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของสนามบิน ด้านหน้าติดกับถนนวิภาวดีรังสิต เรียงลำดับจากทิศเหนือไปทิศใต้ (จากซ้ายไปขวาเมื่อหันหน้าเข้าหาสนามบินจากถนนวิภาวดีรังสิต) โดยอาคารแรกที่ก่อสร้าง คือ อาคาร 3 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 (โดยมีการขยายอาคาร 3 เพิ่มเติมในภายหลัง ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538) ต่อมา คือ อาคาร 1 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2531 และสุดท้าย คือ อาคาร 2 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2538[7][8][9]

อาคารผู้โดยสาร 1 (อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ)

อาคารผู้โดยสาร 1ภายในอาคารผู้โดยสาร 1ภายในอาคารผู้โดยสาร 1

เปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2530 และเปิดอย่างเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน พ.ศ. 2530 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร 1 เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2530 อาคาร 1 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 109,033 ตารางเมตร ในช่วงที่ใช้งานเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 รองรับผู้โดยสารได้ 16 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ 18.5 ล้านคนต่อปี[8][10]

ก่อนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดใช้ อาคาร 1 ใช้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ หลังจากนั้นได้ปิดใช้งานพร้อมกับการย้ายสายการบินที่ทำการบินแบบประจำทั้งหมดไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในคืนวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 คงเหลือแต่เฉพาะสายการบินที่ทำการบินแบบเช่าเหมาลำเท่านั้น แม้จะมีการนำเที่ยวบินภายในประเทศบางเที่ยวบินมาทำการบินที่ท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 แต่ใช้พื้นที่ทำการที่อาคาร 3 (อาคารผู้โดยสารในประเทศ) ไม่ได้ใช้อาคาร 1[11][12]

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ย้ายการปฏิบัติการของสายการบินภายในประเทศ (ขณะนั้น คือ นกแอร์ - เอสจีเอ แอร์ไลน์ - โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ - โซล่าแอร์) จากอาคาร 3 มารวมกับสายการบินระหว่างประเทศที่ทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ที่อาคาร 1 เนื่องจากอาคาร 1 มีพื้นที่รองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคตได้มากกว่า และขณะนั้น ทอท. ต้องการใช้ประโยชน์อาคาร 3 รวมทั้งอาคารคลังสินค้าและพื้นที่โดยรอบเพื่อดำเนินการตามแผนการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองให้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยาน โครงการศูนย์ขนส่งกระจายสินค้า โครงการศูนย์ประชุมและนิทรรศการ ฯลฯ[13][14] สำหรับการใช้อาคาร 1 เพื่อรองรับเที่ยวบินในประเทศ ทอท. ได้แบ่งพื้นที่ภายในอาคารเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ฝั่งทิศเหนือใช้สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ทิศใต้สำหรับผู้โดยสารภายในประเทศ และใช้ทางเข้าสู่จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออกฝั่งทิศเหนือใช้สำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ ฝั่งทิศใต้สำหรับผู้โดยสารในประเทศ เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 1-6 [บัสเกต] และ 12 14-15) ส่วนเที่ยวบินในประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบิน 2 และ 3 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 21-26 31-36 และ 71-77 [บัสเกต]) ซึ่งในช่วงแรกได้เปิดใช้เฉพาะอาคารเทียบเครื่องบิน 3 ก่อน จากนั้นอาคารเทียบเครื่องบิน 2 จึงเปิดใช้ตามมาในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2555 สำหรับผู้โดยสารขาเข้าระหว่างประเทศจะใช้สายพานรับกระเป๋า 1-3 และในประเทศใช้สายพานรับกระเป๋า 4-6 แต่ยังคงใช้ห้องโถงเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารเดียวกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ทอท. จำเป็นต้องปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองชั่วคราว เนื่องจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปีนั้น ส่งผลให้น้ำเริ่มไหลเข้ามาจากด้านทิศเหนือและเข้าท่วมผิวทางวิ่งและพื้นที่ภายในท่าอากาศยาน โดยสายการบินที่ทำการบินแบบประจำอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้หยุดให้บริการตั้งแต่ประมาณ 12.00 น. ของวันนั้น ก่อนย้ายไปให้บริการชั่วคราวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกรมการบินพลเรือนได้ออกประกาศหยุดทำการบินตั้งแต่เวลาประมาณ 14.00 น. ของวันเดียวกันด้วยเหตุผลด้านความไม่ปลอดภัยต่อการบิน[15] แต่ด้วยน้ำที่ท่วมภายในท่าอากาศยานมีระดับสูงสุดถึงเกือบ 4 เมตร น้ำจึงได้เข้าท่วมชั้นใต้ดินและชั้น 1 ภายในอาคารผู้โดยสารทั้งหมด ทำให้อาคาร 1 ซึ่งเปิดใช้งานอยู่ขณะนั้นจึงได้รับความเสียหายอย่างหนัก ซึ่งแม้น้ำที่ท่วมจะลดระดับลงจนเข้าสู่สภาวะปกติตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 และ ทอท. เปิดใช้ทางวิ่งฝั่งตะวันออกตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 แล้วก็ตาม แต่ก็ต้องใช้เวลาในการบูรณะซ่อมแซมอาคาร 1 ประมาณ 4 เดือน ด้วยงบประมาณ 441 ล้านบาท (งบประมาณฟื้นฟูท่าอากาศยานทั้งหมด 930 ล้านบาท) ก่อนจะเปิดใช้งานได้อีกครั้ง พร้อมกับทางวิ่งฝั่งตะวันตกและระบบสนับสนุนต่างๆ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555 และเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2555 เป็นต้นไป[16][17]

จนกระทั่ง วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555 คณะรัฐมนตรีจึงได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาท ให้ ทอท. นำไปปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อมุ่งเน้นให้เป็นท่าอากาศยานสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์ แอร์ไลน์) และเป็นศูนย์กลางเส้นทางการบินในแบบจุดต่อจุด ตามความสมัครใจของแต่ละสายการบิน[18] โดย ทอท. ได้ใช้งบประมาณดังกล่าวเพื่อปรับปรุงบางส่วนของอาคาร 1 และอาคารเทียบเครื่องบิน 2-4 ก่อนจะเปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองแบบเต็มรูปแบบ โดยให้สายการบินระหว่างประเทศที่ทำการบินแบบประจำเข้ามาใช้พื้นที่ทำการที่อาคาร 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2555[19][20] ในการนี้ ทอท. ได้ปรับการใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินที่เชื่อมต่อกับอาคาร 1 ใหม่ โดยให้เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือและอาคารเทียบเครื่องบิน 2 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 1-6 [บัสเกต] 12 14-15 และ 21-26) ส่วนเที่ยวบินในประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบิน 3 และ 4 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 31-36 41-46 และ 71-77 [บัสเกต]) แต่การแบ่งการใช้งานห้องโถงเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระยังคงเหมือนเช่นเดิม[21]

อาคาร 1 เป็นอาคาร 4 ชั้น และชั้นใต้ดินอีก 1 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้งาน ดังนี้

  • ชั้น 1 เป็นส่วนผู้โดยสารขาเข้า ประกอบด้วย จุดจอดรถบัสส่งผู้โดยสารขาเข้าจากหลุมจอดระยะไกล (หลุมจอดที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน) - ห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ มีสายพานรับกระเป๋า 6 สายพาน คือ สายพานที่ 1-6 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ - เคาน์เตอร์บริการติดตามสัมภาระ ด่านศุลกากร ด่านควบคุมโรคติดต่อ ด่านตรวจพืช ด่านกักกันสัตว์ และด่านตรวจสัตว์น้ำ อยู่ภายในห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ - ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า มีจุดนัดพบ เคาน์เตอร์บริการรถเช่า ร้านอาหาร ร้านค้า และประตูทางออกอาคาร 8 ประตู คือ ประตูที่ 1-8 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ - ชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนภายในท่าอากาศยานที่ต่อมาจากทางเข้าท่าอากาศยานบนถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า (ช่องทาง ทดม.4)
  • ชั้น 2 เป็นโถงทางเดินผู้โดยสารขาเข้า เคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าระหว่างประเทศ
  • ชั้น 3 เป็นส่วนผู้โดยสารขาออก ประกอบด้วย ชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนยกระดับที่ต่อมาจากถนนยกระดับหน้าอาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมืองและสะพานกลับรถบนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก - ห้องโถงผู้โดยสารขาออก มีประตูทางเข้าอาคาร 8 ประตู คือ ประตูที่ 1-8 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ ร้านอาหาร ร้านค้า เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบิน และที่ทำการหน่วยงานราชการ - พื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร (เคาน์เตอร์เช็คอิน) มีจุดตรวจกระเป๋าสัมภาระและเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและรับฝากกระเป๋าสัมภาระไปกับอากาศยาน จำนวน 8 แถว คือ แถวที่ 1-8 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ แถวละ 16 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ A-H ฝั่งทิศเหนือ เคาน์เตอร์ J-N และ P-R ฝั่งทิศใต้ - จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก 2 จุด และเคาน์เตอร์ตรวจคนเข้าเมืองขาออกระหว่างประเทศ อยู่ด้านหลังห้องโถงผู้โดยสารขาออกก่อนเข้าสู่โถงทางเดินผู้โดยสารขาออกและอาคารเทียบเครื่องบิน
  • ชั้น 4 เป็นร้านอาหาร ร้านค้า บริเวณดูเครื่องบิน (ออฟเซอร์เวชั่น เด็ค) และที่ทำการสายการบิน
  • ชั้นใต้ดิน เป็นที่จอดรถ จอดรถยนต์ได้ประมาณ 535 คัน

อาคารผู้โดยสาร 2 (อาคารผู้โดยสารในประเทศ)

อาคารผู้โดยสาร 2ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 ก่อนปรับปรุงภายในอาคารผู้โดยสาร 2ภายในอาคารผู้โดยสาร 2 หลังปรับปรุงใหม่

เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2538[22] และใช้เป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นร่วมกับอาคาร 1 มีพื้นที่ 106,586.5 ตารางเมตร โดยอาคาร 2 ให้บริการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 ได้ปิดตัวลงเพื่อย้ายสายการบินทั้งหมดที่ใช้งานอาคารหลังนี้ไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยในช่วงที่ใช้งานเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 อาคาร 2 รองรับผู้โดยสารได้ 9 ล้านคนต่อปี

หลังจาก ทอท. ได้เปิดให้บริการท่าอากาศยานดอนเมืองแบบเต็มรูปแบบ ทอท. ได้เริ่มปรับปรุงอาคาร 2 เพื่อใช้เป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ ตามแผนการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 2 ซึ่งเปิดให้บริการบางส่วนตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2558 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2559 (วันครบรอบ 102 ปี ของท่าอากาศยานดอนเมือง) โดยหลังจากปรับปรุงแล้ว อาคาร 2 จะรองรับผู้โดยสารได้ 11.5 ล้านคนต่อปี จากเดิม 9 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ได้มีการเปิดใช้งานอาคารเทียบเครื่องบิน 5 และทางเชื่อมฝั่งทิศใต้ (เซาท์ คอร์ริดอร์) ซึ่งได้ทำการปรับปรุงพร้อมกับอาคาร 2 ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ทำให้เที่ยวบินในประเทศสามารถใช้อาคารเทียบเครื่องบินได้เพิ่มอีก 1 อาคาร รวมเป็น 3 อาคาร คือ อาคารเทียบเครื่องบิน 3 4 และ 5 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 31-36 41-46 51-56 และ 71-78 [บัสเกต]) โดยเชื่อมต่อกับอาคาร 2 ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ อาคารเทียบเครื่องบิน 2 และ 3 (ประตูทางออกขึ้นเครื่อง 1-6 [บัสเกต] 12 14-15 21-26 และ 31-36) โดยเชื่อมต่อกับอาคาร 1 เช่นเดิม (เดิมหลังเปิดใช้อาคาร 2 ทอท. จะปรับการใช้งานอาคารเทียบเครื่องบินใหม่ โดยให้เที่ยวบินในประเทศใช้อาคารเทียบเครื่องบิน 4 และ 5 เท่านั้น และเปลี่ยนอาคารเทียบเครื่องบิน 3 ไปใช้กับเที่ยวบินระหว่างประเทศ)

อาคารผู้โดยสาร 2 เป็นอาคาร 4 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้งานเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่นอกเขตห้าม (แลนด์ไซด์) สำหรับผู้โดยสารและบุคคลทั่วไป และพื้นที่ในเขตห้าม (แอร์ไซด์) เฉพาะผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่

พื้นที่นอกเขตห้าม ประกอบด้วย

  • ชั้น 1 ส่วนผู้โดยสารขาเข้า
    • ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า มีจุดนัดพบ เคาน์เตอร์บริการรถเช่า ร้านอาหาร ร้านค้า และประตูทางออกอาคาร 6 ประตู คือ ประตูที่ 9-12 และ 14-15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้
    • ชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนภายในท่าอากาศยาน ที่ต่อมาจากชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้าของอาคาร 1
    • ทางเชื่อมไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาเข้าอาคาร 1 อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศเหนือ ทางเชื่อมไปยังอาคารจอดรถและห้องพักรอผู้โดยสารรถแท็กซี่ อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศใต้
  • ชั้น 2 ที่ทำการสายการบิน และพื้นที่สำนักงาน
  • ชั้น 3 ส่วนผู้โดยสารขาออก
    • ชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนยกระดับที่ต่อมาจากถนนยกระดับหน้าอาคาร 1
    • ห้องโถงผู้โดยสารขาออก มีประตูทางเข้าอาคาร 6 ประตู คือ ประตูที่ 9-12 และ 14-15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้
    • พื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร อยู่ภายในห้องโถงผู้โดยสารขาออก มีเคาน์เตอร์เช็คอิน จำนวน 82 เคาน์เตอร์ แบ่งเป็น 6 แถว คือ แถวที่ 9-12 และ 14-15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ แถวละ 12-14 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ A-G ฝั่งทิศเหนือ เคาน์เตอร์ J-N หรือ L-N และ P-Q ฝั่งทิศใต้ โดยติดตั้งเครื่องเอกซเรย์สัมภาระบรรทุก (สัมภาระโหลด) อัตโนมัติ แบบอินไลน์ สกรีน หรือโพส เช็คอิน สกรีน ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอินแถวละ 1 เครื่อง รวม 6 เครื่อง (เดิมมีแถวละ 18 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ A-H และ T ฝั่งทิศเหนือ เคาน์เตอร์ J-N และ P-S ฝั่งทิศใต้ และติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ ก่อนเข้าพื้นที่เช็คอิน) ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ ดังนี้ แถวที่ 9 และ 10 ไทยแอร์เอเชีย (FD |AIQ) แถวที่ 11 ฝั่งทิศเหนือ โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ (OX |OEA) และ อาร์ แอร์ไลน์ (RK |RCT) แถวที่ 11 ฝั่งทิศใต้ และ 12 ฝั่งทิศเหนือ ไทยไลอ้อนแอร์ (SL |TLM) แถวที่ 14 และ 15 นกแอร์ (DD |NOK)
    • เคาน์เตอร์จำหน่ายบัตรโดยสารของสายการบิน อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอิน แถวที่ 9-10 และ 14-15
    • ทางเข้าจุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์เช็คอิน แถวที่ 12
    • ทางเชื่อมไปยังห้องโถงผู้โดยสารขาออกอาคาร 1 อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศเหนือ และทางเชื่อมไปยังอาคารจอดรถ อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศใต้
  • ชั้น 4 ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร (ฟู้ด คอร์ท) ร้านค้า และโรงแรมขนาดเล็ก อยู่บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศเหนือและทิศใต้

พื้นที่ในเขตห้าม ประกอบด้วย

  • ชั้น 1 ส่วนผู้โดยสารขาเข้า
    • จุดจอดรถบัสส่งผู้โดยสารขาเข้าจากหลุมจอดระยะไกล (หลุมจอดที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน)
    • ห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ มีสายพานรับกระเป๋า 6 สายพาน คือ สายพานที่ 9-12 และ 14-15 เรียงจากทิศเหนือไปใต้ และเคาน์เตอร์บริการติดตามสัมภาระ
  • ชั้น 2 โถงทางเดินผู้โดยสารขาเข้า ที่เชื่อมต่อมาจากอาคารเทียบเครื่องบิน
  • ชั้น 3 ส่วนผู้โดยสารขาออก
    • จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก มีเครื่องตรวจจับโลหะแบบเดินผ่าน (วอล์คทรู) เครื่องเอกซเรย์สัมภาระติดตัว 11 เครื่อง อยู่ด้านหลังห้องโถงผู้โดยสารขาออก
    • โถงทางเดินผู้โดยสารขาออก มีร้านอาหารและร้านค้า อยู่ด้านหลังจุดตรวจค้น ก่อนเข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบิน

อาคารผู้โดยสาร 3 (อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ หลังเดิม)

อาคารผู้โดยสาร 3ภายในอาคารผู้โดยสาร 3

อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ อาคารหลังเดิมที่เป็นอาคาร 2 ชั้น อยู่ทางฝั่งทิศเหนือ เปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2528 โดยภายหลังมีเฉพาะส่วนบริการสำหรับผู้โดยสารขาออกที่ชั้น 1 เท่านั้น และอาคารหลังใหม่ที่เป็นอาคาร 3 ชั้น อยู่ทางฝั่งทิศใต้และเชื่อมต่อกับอาคารเดิม ซึ่งเปิดใช้งานในปี พ.ศ. 2536 โดยมีส่วนผู้โดยสารขาออกเพิ่มเติมที่ชั้น 2 และมีส่วนผู้โดยสารขาเข้าที่ชั้น 1 โดยในช่วงที่ใช้งานเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2549 อาคารหลังนี้รองรับผู้โดยสารได้ 9 ล้านคนต่อปี

อาคารหลังใหม่ เป็นอาคาร 3 ชั้น โดยแบ่งพื้นที่การใช้งาน ดังนี้

  • ชั้น 1 เป็นส่วนผู้โดยสารขาเข้า ประกอบด้วย จุดจอดรถบัสส่งผู้โดยสารขาเข้าจากหลุมจอดระยะไกล - ห้องโถงรับกระเป๋าสัมภาระ - ห้องโถงผู้โดยสารขาเข้า - ชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนภายในท่าอากาศยาน
  • ชั้น 2 เป็นส่วนผู้โดยสารขาออก ประกอบด้วย ชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านหน้าอาคารติดกับถนนยกระดับที่ต่อมาจากถนนภายในท่าอากาศยาน - ห้องโถงผู้โดยสารขาออก - พื้นที่ตรวจบัตรโดยสาร มีเคาน์เตอร์เช็คอิน เรียงจากทิศเหนือไปใต้ 45 เคาน์เตอร์ คือ เคาน์เตอร์ 1-45 - จุดตรวจค้นผู้โดยสารขาออก อยู่ด้านทิศเหนือของห้องโถงผู้โดยสารขาออกก่อนเข้าสู่อาคารเทียบเครื่องบิน
  • ชั้น 3 เป็นที่ทำการสายการบิน และพื้นที่สำนักงาน

อาคาร 3 ให้บริการอย่างต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2549 จึงได้ปิดตัวลงเพื่อย้ายสายการบินภายในประเทศทั้งหมดไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2550 สายการบินในประเทศที่ทำการบินแบบประจำ จำนวนหนึ่ง ได้แก่ การบินไทย นกแอร์ และวัน-ทู-โก (ภายหลังเปลี่ยนเป็นโอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ เมื่อ พ.ศ. 2553) ได้ย้ายการปฏิบัติการทั้งหมดจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กลับมายังท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้ง โดยใช้อาคาร 3 เป็นพื้นที่ให้บริการ ยกเว้นการบินไทยที่ยังคงให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศบางส่วนในเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เชียงราย ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งเป็นเที่ยวบินเชื่อมต่อสำหรับผู้โดยสารต่างประเทศที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไป โดยมีเที่ยวบินออกจากดอนเมืองในจุดบิน 4 จุดดังกล่าวเช่นเดียวกัน นอกจากนี้การบินไทยยังได้เปิด ไทย ซิตี้ แอร์ เทอร์มิน่อล (ท่าอากาศยานดอนเมือง) บริเวณโถงชั้น 1 อาคารจอดแล้วจรของ รฟม. ที่เชื่อมต่อกับสถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีน้ำเงิน) เพื่อเป็นการเพิ่มจุดบริการตรวจบัตรโดยสารให้แก่ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีบริการรถเวียนระหว่างสถานีลาดพร้าวและท่าอากาศยานดอนเมือง[23][24] อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552 การบินไทย ได้ย้ายการปฏิบัติการของเที่ยวบินในประเทศกลับไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิทั้งหมด เพื่อลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อเที่ยวบินของผู้โดยสารและผู้ส่งสินค้า และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องบินและอุปกรณ์บริการภาคพื้น ตามนโยบายการเสริมสร้างศักยภาพให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของภูมิภาคของรัฐบาลในขณะนั้น ขณะที่นกแอร์และวัน-ทู-โก ยังคงให้บริการที่อาคาร 3 ท่าอากาศยานดอนเมืองต่อไป[25][26] จนกระทั่ง วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ทอท. จึงได้ย้ายพื้นที่ปฏิบัติการของสายการบินในประเทศไปยังอาคาร 1 ทั้งหมด อีกทั้งปลายปี พ.ศ. 2554 อาคาร 3 ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย และหลังจากนั้นยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ใช้งานได้ตามเดิม

ปัจจุบัน ไม่มีสายการบินใดที่เปิดทำการให้บริการที่อาคาร 3

อาคารผู้โดยสาร หลังเดิม

ในอดีตก่อนจะมีการก่อสร้างอาคาร 1 ท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสารเพียงหลังเดียว (อยู่ทางทิศเหนือของอาคาร 1) สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2513-2516 แบ่งเป็น 3 ส่วน เรียงจากเหนือไปใต้

  • ส่วนที่ 1 อยู่ทางทิศเหนือ เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารในประเทศ เป็นอาคารชั้นเดียว
  • ส่วนที่ 2 อยู่กึ่งกลาง เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก เป็นอาคาร 4 ชั้น ชั้น 1 เป็นที่จอดรถ (แบ่งเป็น 2 ชั้นย่อย) ชั้น 2 เป็นห้องโถงเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสารและรับฝากสัมภาระไปกับอากาศยาน ชั้นที่เหลือเป็นร้านค้า ร้านอาหาร และที่ทำการสายการบิน ด้านหน้าอาคารส่วนนี้ ชั้น 2 เป็นชานชาลาส่งผู้โดยสารขาออก อยู่ติดกับถนนยกระดับซึ่งเชื่อมต่อกับสะพานกลับรถเพื่อให้รถบนถนนวิภาวดีรังสิตขาออก (จากในเมือง) วิ่งเข้าสู่อาคารผู้โดยสารได้โดยตรง
  • ส่วนที่ 3 อยู่ทางทิศใต้ เป็นส่วนของอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศขาเข้า เป็นอาคาร 3 ชั้น บนหลังคาเป็นหอบังคับการบิน ด้านหน้าอาคารส่วนนี้เป็นชานชาลารับผู้โดยสารขาเข้า อยู่ติดกับลานจอดรถ

อาคารผู้โดยสารหลังเดิมนี้ เชื่อมต่อกับอาคารเทียบเครื่องบินที่มีสะพานเทียบเครื่องบิน 4 ชุด (ขณะนั้นท่าอากาศยานดอนเมือง มีหลุมจอดแบบประชิดอาคาร 4 หลุมจอด โดยเครื่องบินจะจอดหันหน้าเข้าสู่อาคารในแนวเฉียงไปทางทิศเหนือ) ภายหลังอาคารส่วนนี้ใช้เป็นอาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ (นอร์ท คอร์ริดอร์) เชื่อมต่อกับอาคาร 1 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน[7]

ปัจจุบัน อาคารส่วนที่ 1 ใช้เป็นอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล (ไพรเวท เจ็ท เทอร์มินอล) โดยก่อนหน้านั้นได้ปรับปรุงเป็นอาคารห้องรับรองพิเศษระหว่างประเทศ อาคารส่วนที่ 2 ใช้เป็นอาคารสำนักงานของท่าอากาศยาน โดยส่วนถนนยกระดับหน้าอาคารชั้น 2 ที่เชื่อมกับสะพานกลับรถใช้เป็นทางเข้าอาคารผู้โดยสาร 1 อาคารส่วนที่ 3 หรือเรียกว่า อาคารส่วนกลาง (เซ็นทรัล บล็อก) ใช้เป็นอาคารสำนักงานของสายการบินและส่วนบริการต่างๆ โดยลานจอดรถหน้าอาคารใช้เป็นลานจอดรถโดยสารขนาดใหญ่ รวมทั้งรถเวียนรับส่งระหว่างท่าอากาศยานดอนเมือง-สุวรรณภูมิ (ชัตเทิ้ล บัส) สำหรับหอบังคับการบินบนหลังคาอาคาร มีสร้างหลังใหม่ทดแทน บริเวณทิศใต้ของอาคารผู้โดยสาร 3 แล้ว

อาคารเทียบเครื่องบิน

ท่าอากาศยานดอนเมืองใช้อาคารผู้โดยสารรูปแบบคล้ายนิ้วมือ (เพียร์ ฟิงค์เกอร์ เทอร์มินอล) มีอาคารเทียบเครื่องบิน 6 อาคาร เรียงจากทิศเหนือไปใต้ คือ อาคารฝั่งเหนือ (นอร์ท คอร์ริดอร์ หรือเพียร์ 1) อาคาร 2 3 4 5 และ 6 (เพียร์ 2 3 4 5 และ 6) โดยอาคาร 2-6 ยื่นออกจากอาคารผู้โดยสารหลักเข้าไปในลานจอดอากาศยานในแนวตั้งฉาก ส่วนอาคารฝั่งเหนือยื่นออกไปทางทิศเหนือในแนวขนานกับอาคารผู้โดยสารหลัก ปัจจุบันอาคารเทียบเครื่องบิน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ อาคารที่เชื่อมกับอาคารผู้โดยสาร 1 และ 2 ประกอบด้วย อาคารฝั่งเหนือและอาคาร 2-5 กลุ่มที่ 2 คือ อาคารที่เชื่อมกับในประเทศหลังใหม่ (อาคารผู้โดยสาร 3) ซึ่งมีเฉพาะอาคาร 6 เท่านั้น โดยอาคารเทียบเครื่องบิน 3 และ 4 เป็นอาคารที่สร้างขึ้นพร้อมกับอาคารผู้โดยสาร 1 และเปิดใช้งานพร้อมกันในปี พ.ศ. 2530 ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2531 อาคารเทียบเครื่องบิน 2 จึงสร้างแล้วเสร็จ สำหรับอาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2532 จากนั้นในปี พ.ศ. 2536 อาคารเทียบเครื่องบิน 6 จึงสร้างแล้วเสร็จ พร้อมกับอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังใหม่ ส่วนอาคารเทียบเครื่องบิน 5 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543

อาคารเทียบเครื่องบินเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้น 3 เป็นห้องโถงพักรอผู้โดยสารขาออก (เกต โฮลด์ รูม) และทางออกขึ้นเครื่องที่มีสะพานเทียบเครื่องบิน (เกต) ซึ่งเชื่อมต่อเข้ากับเครื่องบินที่จอดอยู่ในหลุมจอดประชิดอาคาร (คอนแทค เกต) ชั้น 2 เป็นโถงทางเดินผู้โดยสารขาเข้า ชั้น 1 เป็นพื้นที่ระบบสายพานขนถ่ายกระเป๋า พื้นที่คัดแยกกระเป๋าสัมภาระ และพื้นที่ส่วนงานบริการลานจอด รวมทั้งในบางอาคารยังใช้เป็นห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก (บัส เกต โฮลด์ รูม) และทางออกขึ้นเครื่องที่ไม่มีสะพานเทียบเครื่องบิน (บัส เกต) โดยมีจุดจอดรถบัสรับผู้โดยสารขาออกเพื่อไปยังหลุมจอดระยะไกล (รีโมท สแตนด์) ทั้งนี้ท่าอากาศยานดอนเมือง กำหนดให้หมายเลขของเกต ตรงกับหมายเลขของหลุมจอดประชิดอาคาร โดยใช้ตัวเลขสองหลัก ซึ่งหลักแรกแสดงหมายเลขของอาคารเทียบเครื่องบิน (1-6) หลักที่สองแสดงลำดับที่ของเกต/หลุมจอด ส่วนหมายเลขของบัส เกต จะใช้ตัวเลขหนึ่งหรือสองหลักที่ไม่ซ้ำกับเกตอื่น โดยจะไม่เกี่ยวข้องกับหมายเลขของหลุมจอดระยะไกล

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2532-2538 ท่าอากาศยานดอนเมือง มีอาคารเทียบเครื่องบิน 4 อาคาร และหลุมจอดอากาศยานแบบประชิดอาคาร 26 หลุม สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี ที่มีความยาวปีกตั้งแต่ 52 เมตร แต่ไม่เกิน 65 เมตร 14 หลุม (เช่น โบอิง 747) และขนาด โค้ด ดี ที่มีความยาวปีกตั้งแต่ 36 เมตร แต่ไม่เกิน 52 เมตร 12 หลุม (เช่น แอร์บัส เอ300/เอ310 โบอิง 707/757/767 แมคดอนเนลล์ ดักลาส ดีซี-10/เอ็มดี-11 ล็อกฮีด แอล-1011 เป็นต้น) ดังนี้

  • อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ มีหลุมจอด 4 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 11-12 และ 14-15 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว รวมทั้งยังมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 1-7
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 7 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 4 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด ดี ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 21 23 25 และ 27 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว และฝั่งทิศใต้ 3 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 22 24 และ 26 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 3 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 7 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 31-37 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว ยกเว้นทางออกขึ้นเครื่อง 37 ใช้สะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 4 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 แต่มีหลุมจอดที่รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี บริเวณปลายอาคารฝั่งทิศใต้ เพิ่มอีก 1 หลุม รวมเป็น 8 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 41-48 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว

เมื่อมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสารในประเทศหลังใหม่ (อาคารผู้โดยสาร 3) พร้อมอาคารเทียบเครื่องบิน 6 ในปี พ.ศ. 2538 ท่าอากาศยานดอนเมืองจึงมีอาคารเทียบเครื่องบิน 5 อาคาร และหลุมจอดอากาศยานแบบประชิดอาคาร 34 หลุม สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี 15 หลุม ขนาด โค้ด ดี 17 หลุม และขนาด โค้ด ซี ที่มีความยาวปีกตั้งแต่ 24 เมตร แต่ไม่เกิน 36 เมตร (เช่น โบอิง 737) 2 หลุม ดังนี้

  • อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือและอาคาร 2-4 ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 6 มีหลุมจอด 8 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 4 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 61 63 65 และ 67 และฝั่งทิศใต้ 4 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 62 64 66 และ 68 โดยหลุมจอด 61-65 รองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด ดี หลุมจอด 66-67 รองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด ซี และหลุมจอด 68 รองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี ทั้งหมดเชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว รวมทั้งยังมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 8-10

นอกจากนี้เมื่อมีการเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร 2 ในปี พ.ศ. 2538 เช่นกัน ได้มีการเปิดใช้ห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 71-77 เพิ่มเติมภายในอาคารผู้โดยสาร 2 โดยอยู่บริเวณปลายอาคารเทียบเครื่องบิน 4 ฝั่งทิศตะวันตก

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2541-2543 ได้มีการปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง) ในขณะนั้น ให้รองรับการบริการได้จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2546 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเปิดให้บริการของท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ในปี พ.ศ. 2547 โดยอาคารทั้งหมดยังคงใช้งานต่อมาจนกระทั่งย้ายการให้บริการไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2549 ทั้งนี้การปรับปรุงประกอบด้วย (1) ลดจำนวนหลุมฝั่งทิศเหนือของอาคาร 2-4 จาก 4 หลุมเป็น 3 หลุม เพื่อให้หลุมจอดมีขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับรองรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี ได้ (2) ก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบิน 5 พร้อมทางเชื่อมฝั่งทิศใต้ (เซาท์ คอร์ริดอร์) เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสาร 2 (3) ลดจำนวนหลุมจอดฝั่งทิศใต้ของอาคาร 4 จาก 4 หลุมเป็น 3 หลุม เพื่อใช้พื้นที่ก่อสร้างทางเชื่อมฝั่งทิศใต้ไปยังอาคาร 5 (4) ปรับปรุงห้องโถงพักรอผู้โดยสารขาออกของอาคาร 2-4 เพื่อให้มีพื้นที่ใช้งานมากขึ้น จากแบบที่มีการกั้นห้องแยกกันระหว่างแต่ละทางออกขึ้นเครื่องและอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร โดยมีทางเดินผู้โดยสารขาออกอยู่บนชั้น 3 ให้เป็นแบบรวมกันในห้องเดียวและอยู่บนชั้น 3 ของอาคาร โดยก่อสร้างทางลงไปยังสะพานเทียบเครื่องบินที่อยู่บนชั้น 2 ให้เป็นส่วนต่อเติมที่ยื่นออกไปนอกตัวอาคารเดิมตามตำแหน่งของสะพานเทียบเครื่องบิน (5) เปลี่ยนสะพานเทียบเครื่องบินของอาคารฝั่งเหนือและอาคาร 2-4 ฝั่งทิศใต้ จากแบบซองเดียว (ส่วนใหญ่) เป็นแบบ 2 ซองทั้งหมด (6) ก่อสร้างห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออกภายในอาคาร 6 เพิ่มเติมบริเวณปลายอาคารฝั่งทิศตะวันออก

หลังปี พ.ศ. 2543 เมื่อการปรับปรุงแล้วเสร็จ ท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารเทียบเครื่องบิน 6 อาคาร และหลุมจอดประชิดอาคาร 36 หลุม สำหรับเครื่องบินโดยสารขนาด โค้ด อี 29 หลุม ขนาด โค้ด ดี 5 หลุม และขนาด โค้ด ซี 2 หลุม (แต่หลุมจอดสำหรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี จำนวน 9 หลุม มีลักษณะจำกัด โดยรองรับเฉพาะเครื่องบินขนาด โค้ด อี ที่มีความยาวปีกไม่เกิน 61 เมตร เท่านั้น เช่น แอร์บัส เอ330 แอร์บัส เอ340-200/300 โบอิง 777-200/200อีอาร์) ดังนี้

  • อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ มีหลุมจอด 4 หลุม ขนาดเท่าเดิม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 11-12 และ 14-15 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง และมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 1-7
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 6 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 3 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ได้บางแบบ (ความยาวปีกไม่เกิน 61 เมตร) ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 21 23 และ 25 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว และฝั่งทิศใต้ 3 หลุม รองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี ได้ทุกแบบ ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 22 24 และ 26 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 3 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 6 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 31-36
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 4 ลักษณะเหมือนกับอาคารเทียบเครื่องบิน 2 มีหลุมจอด 6 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 41-46
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 5 มีหลุมจอด 6 หลุม แบ่งเป็นฝั่งทิศเหนือ 3 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 51 53 และ 55 และฝั่งทิศใต้ 3 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 52 54 และ 56 โดยทุกหลุมจอดรองรับเครื่องบินขนาด โค้ด อี และเชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบ 2 ซอง รวมทั้งยังมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 57-59
  • อาคารเทียบเครื่องบิน 6 มีหลุมจอด 8 หลุม ขนาดเท่าเดิม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 61-68 เชื่อมต่อด้วยสะพานเทียบเครื่องบินแบบซองเดียว และมีห้องโถงพักรอผู้โดยสารรถบัสขาออก สำหรับทางออกขึ้นเครื่อง 8-10 และ 81-84

ในช่วงหลังการเปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดบริเวณทิศเหนือบางส่วน ที่ติดกับอาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ เพื่อใช้สร้างโรงเก็บอากาศยานและลานจอด สำหรับอากาศยานส่วนบุคคล พร้อมกับการปรับปรุงอาคารห้องรับรองพิเศษระหว่างประเทศเป็นอาคารผู้โดยสารส่วนบุคคล จึงได้มีการยกเลิกหลุมจอด 11 และทางออกขึ้นเครื่อง 11 โดยถอดสะพานเทียบเครื่องบินออก ทำให้อาคารเทียบเครื่องบินฝั่งเหนือ เหลือหลุมจอด 3 หลุม ซึ่งตรงกับทางออกขึ้นเครื่อง 12 และ 14-15 โดยยังมีขนาดเท่าเดิม (รองรับเครื่องบินขนาดโค้ด อี)

ใกล้เคียง

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา (ระยอง–พัทยา) ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานนานาชาติปารีส-ชาร์ล เดอ โกล ท่าอากาศยานนานาชาตินครศรีธรรมราช ท่าอากาศยานนครราชสีมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ท่าอากาศยานดอนเมือง http://www.airportthai.com/uploads/profiles/000000... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://maps.google.com/maps?ll=13.912407,100.60154... http://hilight.kapook.com/view/7399 http://www.kasikornresearch.com/TH/K-EconAnalysis/... http://aot.listedcompany.com/transport.html http://news.mthai.com/headline-news/194053.html http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.9124... http://nationmultimedia.com/2006/09/27/business/bu... http://2g.pantip.com/cafe/blueplanet/topic/E127680...