เหตุการณ์สำคัญ ของ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

  • เมื่อ 3 มกราคม พ.ศ. 2550 จีอี มันนี่ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเพื่อรายย่อยชั้นนำของโลกได้บรรลุข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งสะท้อนถึงความตั้งใจและความเชื่อมั่นในธนาคารฯ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับการผสานความสามารถทางธุรกิจของสององค์กร เพื่อให้ธนาคารฯ เป็นธนาคารที่ให้บริการครบวงจรชั้นนำของประเทศไทย
  • 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ธนาคารฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (GECAL) เสร็จสมบูรณ์ โดย ณ วันโอนกิจการ GECAL มีสินทรัพย์รวม 78,010 ล้านบาท และเงินให้สินเชื่อสุทธิรวม 75,283 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารฯ เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 17 ณ วันโอนกิจการ และต่อมา GECAL เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL)
  • 8 เมษายน พ.ศ. 2552 ธนาคารฯ ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นธนาคาร เอไอจี เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) (AIGRB) และบริษัท เอไอจี คาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (AIGCC) เสร็จสมบูรณ์ ในราคารวม 1,605 ล้านบาท โดยทำให้ธนาคารฯ มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นประมาณ 32,800 ล้านบาท มีฐานสินเชื่อเพิ่มขึ้น 21,900 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 18,600 ล้านบาท และมีจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นประมาณ 222,000 บัตร
  • 9 กันยายน พ.ศ. 2552 ธนาคารฯ เข้าซื้อกิจการบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิสเซส จำกัด (CFGS) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทอเมริกัน อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป อิงค์ จำกัด เสร็จสมบูรณ์ ทั้งนี้ CFGS เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการไมโครไฟแนนซ์โดยเฉพาะสินเชื่อที่ใช้ทะเบียนรถเป็นหลักประกัน มีเครือข่ายสาขากว่า 163 แห่งทั่วประเทศ และเป็นที่รู้จักกันดีในนาม "เงินติดล้อ"
  • 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ธนาคารฯ เข้าซื้อธุรกิจการเงินเพื่อผู้บริโภคของจีอี แคปปิตอล ในประเทศไทย เสร็จสมบูรณ์ การเข้าซื้อครั้งนี้ทำให้ธุรกิจการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเติบโตเร็วขึ้น และทำให้สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยของธนาคารเพิ่มขึ้นจาก 36% เป็น 42% ของสินเชื่อรวม และจะส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของธนาคารเพิ่มขึ้น ด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และความหลากหลายยิ่งขึ้นในบริการหลักของธุรกิจการเงินเพื่อลูกค้ารายย่อยของธนาคาร การผนวกธุรกิจของจีอี มันนี่ ประเทศไทย เข้ากับธนาคาร ทำให้ธนาคารกรุงศรีอยุธยากลายเป็นผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยจำนวนบัตรหมุนเวียนในระบบมากกว่า 3 ล้านใบ และให้บริการลูกค้ากว่า 8 ล้านราย
  • ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ธนาคารกรุงศรีอยุธยารับโอนธุรกิจลูกค้ารายย่อยของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (HSBC) ซึ่งประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัย และธุรกิจเงินฝาก มูลค่าของสินทรัพย์สุทธิประมาณ 3.6 พันล้านบาท ส่งผลให้สินทรัพย์ของกรุงศรีเพิ่มขึ้นจำนวน 17.5 พันล้านบาทหรือเติบโตร้อยละ 1.8 และทำให้สัดส่วนสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้นจากระดับ ร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 46 ของสินเชื่อรวม
  • 5 มกราคม พ.ศ. 2558 ธนาคารประสบความสำเร็จในการดำเนินการควบรวมกิจการของธนาคารและบีทีเอ็มยู (BTMU) สาขากรุงเทพฯ ตามนโยบายสถาบีนการเงิน 1 รูปแบบของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ กรุงศรีได้จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 1,281,618,026 หุ้นให้แก่บีทีเอ็มยูเพื่อแลกกับการควบรวมกิจการของบีทีเอ็มยูสาขากรุงเทพฯ
  • 22 เมษายน 2558 กรุงศรีเปิดสำนักงานผู้แทน ณ เมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมุ่งสนับสนุนลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกค้าธุรกิจ SME ของกรุงศรี เพื่อแสวงหาโอกาสด้านการค้าและการลงทุนในเมียนมาร์
  • 13 กันยายน 2559 กรุงศรีเข้าซื้อ Hattha Kakser Limited ธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ชั้นนำในกัมพูชา เข้าเป็นบริษัทย่อยของธนาคารการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จครั้งสำคัญของกลยุทธ์การขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศและโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของกรุงศรีในธุรกิจสินเชื่อเพื่อรายย่อยและไมโครไฟแนนซ์
  • 27 มีนาคม 2560 กรุงศรีจัดตั้งบริษัทย่อยใหม่ชื่อ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด ประกอบธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) ภายใต้ขอบเขตและหลักเกณฑ์การกำกับธุรกิจเงินร่วมลงทุน ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้
  • 27 กันยายน 2560 กรุงศรีได้รับการคัดเลือกจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Bank: D-SIB) โดยประเมินจากขนาดสินทรัพย์ ความเชื่อมโยงและบทบาทของกรุงศรีที่มีต่อเสถียรภาพและพัฒนาการของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ใกล้เคียง

ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยเครดิต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร