ประวัติ ของ ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารมณฑล

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินการจัดตั้งธนาคารของรัฐในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจขึ้นเพื่อทดแทนธนาคารต่างประเทศที่ยุติการดำเนินกิจการเนื่องจากประกาศสงครามของรัฐบาลไทยต่อฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยทำการจัดตั้งธนาคารเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2485 โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ธนาคารไทย จำกัด (อังกฤษ: Thai Bank Company Ltd.) ธนาคารไทยจึงมีหน้าที่ในการดำเนินธุรกิจทดแทนธนาคารต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเพื่อเกื้อกูลการค้าข้าวของบริษัท ข้าวไทย จำกัด ต่อมาธนาคารไทยได้เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล จำกัด (อังกฤษ: The Provincial Bank Ltd.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 เพื่อมิให้ชื่อซํ้าซ้อนกับธนาคารชาติซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยรวมถึงสอดคล้องกับบทบาทในการสนับสนุนกิจการของบริษัทพาณิชย์ในจังหวัดต่าง ๆ[3]

ธนาคารมณฑลได้รับการก่อตั้งโดยมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังถือ 50,650 หุ้น และบริษัท ข้าวไทย จำกัด ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจถือ 45,172 หุ้น ทำให้ธนาคารมณฑลมีสัดส่วนของการถือหุ้นของรัฐสูงถึงร้อยละ 95.8 และกรรมการธนาคารในระยะแรกมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น วนิช ปานะนนท์ แนบ พหลโยธิน พระยาเฉลิมอากาศ เป็นต้น และพนักงานส่วนใหญ่เป็นพนักงานเดิมจากธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารชาร์เตอร์ด และธนาคารเมอร์แคนไทล์ที่ได้ยุติกิจการไป[3]

ภายหลังการรัฐประหารของพล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ที่มีต่อรัฐบาลของ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ใน พ.ศ. 2490 กลุ่มซอยราชครูที่เป็นกลุ่มการเมืองของพล.ท.ผิน ได้พยายามเข้าครอบงำธนาคารมณฑลเพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจและประสบความสำเร็จใน พ.ศ. 2495 โดยแต่งตั้ง พล.ต.ต.ละม้าย อุทยานานนท์ หนึ่งในกลุ่มซอยราชครูขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการต่อจากพระยาโกมารกุลมนตรีและพระยาบุรณศิริพงษ์เป็นผู้จัดการ ในภายหลังธนาคารได้กลับสู่กลุ่มอำนาจของจอมพล ป. อีกครั้งหลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2494 และอยู่ภายใต้กลุ่มอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500[3]

การถูกใช้แสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจทางการเมืองหลายครั้งทำให้ฐานะของธนาคารมณฑลอยู่ในสภาวะง่อนแง่น มีผลการดำเนินงานต่ำ หลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีวินัยทางการเงินทำให้ธนาคารมณฑลเริ่มประสบภาวะขาดทุนจนได้รับอัดฉีดเงินการกระทรวงการคลังจาก 10 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาท โดยถือหุ้นร้อยละ 82.3 เพื่อมิให้ธนาคารล้มละลาย แต่ก็แก้ไขสถานการณ์ไม่ได้นักทำให้รัฐบาลในสมัยจอมพล ถนอม กิตติขจร ตัดสินใจรวมธนาคารมณฑลเข้ากับธนาคารเกษตร[3]

ธนาคารเกษตร

ธนาคารเกษตร (อังกฤษ: Agricultural Bank Ltd.) ได้รับการก่อตั้งโดยกลุ่มข้าราชการและพ่อค้าซึ่งนำโดยวิลาส โอสถานนท์และดิเรก ชัยนาม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นเกษตรกรเมื่อวันที่ 26 เมษายนพ.ศ. 2493 โดยมีทุนจดทะเบียนในชั้นแรก 10 ล้านบาท แบ่งเป็น 10,000 หุ้น โดยมีการกระจายหุ้นอย่างกว้างกว้างให้กับบุคคลต่าง ๆ โดยมีสุริยน ไรวาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และวิลาสดำรงตำแหน่งผู้จัดการคนแรก ต่อมาได้มีข้าราชการหลายคนเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการแทน เช่น พระช่วงเกษตรศิลปการ พระยาบูรณสิริพงศ์[3]

ธนาคารเกษตรได้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของกลุ่มซอยราชครูเช่นเดียวกับธนาคารมณฑลโดยมีจอมพลผิน ชุณหะวัณ เข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารสืบต่อจากพระยาศรีวิสารวาจาทำให้ฐานะของธนาคารอยู่ในสภาวะตกต่ำจากการแสวงหาผลประโยชน์ ภายหลังจากการรัฐประหารใน พ.ศ. 2500 ธนาคารเกษตรเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินจนทำให้รัฐบาลต้องอัดฉีดเงินเพื่อประคองธนาคารและส่งผลให้ธนาคารแปรสภาพจากวิสาหกิจเอกชนเป็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลังพยายามที่จะอัดฉีดเงินเพื่อพยุงฐานะของธนาคารจนถึง พ.ศ. 2508 รัฐบาลถือหุ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ 92.15 และต่อมาได้รวมกิจการเข้ากับธนาคารมณฑลโดยมี ม.จ. ทองประทาศรี ทองใหญ่ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร และจำรัส จตุรภัทร เป็นกรรมการผู้จัดการคนสุดท้ายของธนาคารเกษตร[3]

รวมกิจการ

ด้วยนโยบายของเสริม วินิจฉัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่เห็นว่าธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ควรมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ขณะที่ในเวลาดังกล่าว รัฐบาลไทยเข้าถือหุ้นใหญ่ ในธนาคารพาณิชย์ถึงสองแห่ง ประกอบด้วย ธนาคารมณฑล จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2485 และ ธนาคารเกษตร จำกัด ที่ก่อตั้งโดยสุริยน ไรวา ตั้งแต่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2493 กระทรวงการคลังจึงประกาศ ให้ควบรวมกิจการของธนาคารทั้งสองดังกล่าว โดยก่อตั้งขึ้นในชื่อใหม่ว่า ธนาคารกรุงไทย จำกัด เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2509 และใช้อาคารสำนักงานใหญ่แห่งเดิมของธนาคารเกษตร ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเยาวราช แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร เป็นสำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงไทยในยุคแรก ต่อมาอาคารที่เยาวราชคับแคบ ไม่สามารถรองรับกิจการ ซึ่งขยายตัวขึ้นอย่างมาก ธนาคารจึงทำการย้ายสำนักงานใหญ่ ไปยังอาคารเลขที่ 35 ถนนสุขุมวิท แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน สำหรับอาคารที่เยาวราชในทุกวันนี้ นอกจากคงใช้เป็นสาขาเยาวราชแล้ว ยังปรับปรุงส่วนหนึ่งของอาคาร ให้เป็นหอศิลป์กรุงไทยด้วย

จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และแปรสภาพ

ธนาคารกรุงไทย นับเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย[ต้องการอ้างอิง] เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ก่อนจะเปิดการซื้อขายอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ปีเดียวกัน และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2537 ตามลำดับ ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยถือผ่านกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน[4]

ธนาคารกรุงไทยเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศประจำปี 2560[5]ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 17/2560

ธนาคารอื่นที่รับโอนกิจการและโอนบริการ

ใกล้เคียง

ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทยธนชาต ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารออมสิน ธนาคารไทยเครดิต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร