ธรณีกาล
ธรณีกาล

ธรณีกาล

ธรณีกาล (อังกฤษ: Geologic Time) ตามความหมายทางธรณีวิทยา เป็นการแบ่งระยะช่วงเวลาในประวัติศาสตร์โลกตั้งแต่กำเนิดโลกจนถึงปัจจุบัน หน่วยการแบ่งธรณีกาลที่ใหญ่ที่สุดคือ บรมยุค (Eons) เริ่มจากบรมยุคเฮเดียน (Hadean), อาร์เคียน (Archean), โพรเทอโรโซอิก (Proterozoic) และพาเนอโรโซอิก (Phanerozoic) บรมยุคสามบรมยุคแรกสามารถจัดเป็นกลุ่มใหญ่เรียกว่า อภิมหาบรมยุคพรีแคมเบรียน (Precambrian) บรมยุคสามารถย่อยลงมาเป็น มหายุค (Era) ยุค (Period) สมัย (Epoch) และอายุ (Age)มาตรธรณีกาล (อังกฤษ: Geologic time scale, GTS) คือมาตรวัดที่ใช้โดยนักธรณีวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ เพื่ออธิบายเวลา ณ จุดต่าง ๆ ในห้วงเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์โลก และความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ด้วยการจัดแบ่งทางธรณีวิทยาจากชั้นหิน (stratigraphy) ซึ่งศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ชั้นต่าง ๆ ของโลก เช่น เปลือกโลก และ ผิวโลก แล้วประเมินความสอดคล้องกันของข้อมูลของแต่ละชั้นซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละยุค อาทิ ประเภทสิ่งมีชีวิต สารประกอบในชั้นหิน ในปัจจุบันนักธรณีวิทยาทั่วโลกนิยมใช้มาตรธรณีกาลฉบับสากลในการศึกษาวิจัยทางธรณีวิทยามาตรธรณีกาลฉบับสากล จัดทำโดยคณะทำงานการลำดับชั้นหินสากล (International Commission on Stratigraphy) มีลักษณะเป็นรูปแบบตารางสีสันหลากหลาย ประกอบด้วยชื่อบรมยุค มหายุค ยุค และสมัย พร้อมตัวเลขอายุของเส้นแบ่งแต่ละยุคสมัยในหน่วยล้านปี (Ma) ซึ่งได้มาจากข้อมูลของชุดหินอ้างอิง (Global Stratotype Sections and Points หรือ GSSPs) กำหนดสีมาตรฐานของเวลาทางธรณีวิทยาที่ห้วงเวลาต่าง ๆ กัน[1]