โลก ของ ธรรมชาติ

ดูบทความหลักที่: โลก (ดาวเคราะห์)
รูปถ่ายโลก ถ่ายไว้เมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยยานอะพอลโล 17

โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวในปัจจุบันที่ทราบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ และลักษณะทางธรรมชาติเป็นหัวข้อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายสาขา ในระบบสุริยะ เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เป็นอันดับสาม เป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกใหญ่ที่สุด และเป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่เป็นอันดับห้า ลักษณะภูมิอากาศที่โดดเด่นที่สุดคือ บริเวณสองขั้วขนาดใหญ่ สองเขตอบอุ่นค่อนข้างแคบ และบริเวณเส้นศูนย์สูตรกว้างเขตร้อนถึงบริเวณเขตกึ่งร้อน[2] หยาดน้ำฟ้ามีแตกต่างกันหลากหลายตามตำแหน่ง ตั้งแต่หลายเมตรต่อปีจนถึงน้อยกว่ามิลลิเมตร พื้นผิวโลกร้อยละ 71 ปกคลุมด้วยมหาสมุทรน้ำเค็ม ที่เหลือเป็นทวีปและเกาะ ซึ่งบริเวณที่มีผู้อยู่อาศัยส่วนใหญ่อยู่ในซีกโลกเหนือ

โลกวิวัฒนาการผ่านขบวนการทางธรณีวิทยาและชีววิทยาซึ่งเหลือร่องรอยสภาพดั้งเดิมอยู่ พื้นผิวส่วนนอกแบ่งเป็นแผ่นเปลือกโลกหลายแผ่นที่ค่อย ๆ ย้ายที่ ชั้นในยังมีพลังอยู่ โดยชั้นเนื้อโลกพลาสติกหนาและแก่นเหล็กที่สร้างสนามแม่เหล็ก

สภาพบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพดั้งเดิมอย่างสำคัญเพราะมีสิ่งมีชีวิต[3] ซึ่งสร้างสมดุลทางระบบนิเวศซึ่งรักษาสมดุลของสภาพพื้นผิว แม้จะมีความแตกต่างของภูมิอากาศอย่างมากในแต่ละพื้นที่ตามละติจูดและปัจจัยทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ แต่ภูมิอากาศโลกเฉลี่ยในระยะยาวค่อนข้างเสถียรระหว่างช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (interglacial period)[4] และความแตกต่างของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกหนึ่งหรือสององศามีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสมดุลระบบนิเวศ และธรณีวิทยาตามที่เป็นจริงของโลก[5][6]

วิวัฒนาการทางธรณีวิทยา

ธรณีวิทยาของพื้นที่หนึ่งวิวัฒนาการตามกาลเมื่อหน่วยหินถูกทับถมและแทรก และขบวนการเปลี่ยนลักษณะเปลี่ยนรูปทรงและตำแหน่งไป

เริ่มต้นหน่วยหินถูกแทนที่ด้วยการทับถมสู่พื้นผิวหรือรุกล้ำเข้าไปในหินท้องที่ การทับถมสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อตะกอนจมลงสู่พื้นผิวโลก และต่อมาแข็งตัวเป็นหินตะกอน หรือเมื่อวัตถุภูเขาไฟ เช่น เถ้าภูเขาไฟหรือลาวาไหลปกคลุมพื้นผิว หินอัคนีแทรกซอน เช่น หินอัคนีมวลไพศาล หินอัคนีรูปเห็ด พนังและพนังแทรกชั้น ผลักขึ้นไปด้านบนสู่หินที่ทับอยู่ และตกผลึกขณะที่หินอัคนีแทรกซอนรุกล้ำเข้าไป

หลังลำดับหินขั้นแรกถูกทับถมแล้ว หน่วยหินสามารถเปลี่ยนลักษณะ และ/หรือ เปลี่ยนสัณฐานได้ การเปลี่ยนลักษณะโดยทั่วไปเกิดขึ้นเป็นผลของการย่อสั้นลงในแนวนอน การขยายขนาดในแนวนอน หรือการเคลื่อนที่ตามแนวระดับ กฎเกณฑ์โครงสร้างเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างกว้าง ๆ กับแนวแผ่นเปลือกโลกลู่เข้าหากัน แนวแผ่นเปลือกโลกลู่ออกจากกัน และแนวแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่สวนกันตามลำดับ

ทัศนะประวัติศาสตร์

ประเมินว่าโลกก่อตัวขึ้นเมื่อราว 4,540 ล้านปีก่อนจากเนบิวลาสุริยะ ร่วมกับดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ดวงอื่น ดวงจันทร์ก่อตัวขึ้นราว 20 ล้านปีให้หลัง ในตอนแรกโลกยังหลอมเหลวอยู่ แต่ชั้นนอกของดาวเคราะห์เย็นตัวลง เกิดเป็นเปลือกแข็ง การกำจัดแก๊สและกิจกรรมภูเขาไฟผลิตบรรยากาศยุคแรก ไอน้ำที่ควบคแน่น ซึ่งส่วนใหญ่หรือทั้งหมดมาจากน้ำแข็งจากดาวหาง ก่อให้เกิดมหาสมุทรและแหล่งน้ำอื่น เชื่อกันว่าเคมีซึ่งมีพลังสูงผลิตโมเลกุลที่สามารถทำสำเนาตัวเองได้เมื่อราว 4,000 ล้านปีมาแล้ว

ทวีปก่อตัวขึ้น แล้วแตกออกแล้วเปลี่ยนรูปเมื่อพื้นผิวโลกเปลี่ยนรูปในห้วงหนึ่งร้อยล้านปี บางครั้งรวมกันเกิดเป็นมหาทวีป (supercontinent) ราว 750 ล้านปีก่อน มหาทวีปแรกสุดที่ทราบ คือ มหาทวีปโรดิเนีย เริ่มแยกออกจากกัน ภายหลังทวีปกลับมารวมกันเกิดเป็นแพนโนเทียซึ่งแตกออกเมื่อราว 540 ล้านปีก่อน และท้ายสุด พันเจีย ซึ่งแยกออกจากกันเมื่อราว 180 ล้านปีก่อน

มีหลักฐานสำคัญว่ากิริยาธารน้ำแข็งรุนแรงระหว่างยุคนีโอโพรเทอโรโซอิกปกคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ของโลกใต้แผ่นน้ำแข็ง สมมุติฐานนี้เรียกว่า "โลกก้อนหิมะ" (Snowball Earth) และได้รับความสนใจเป็นพิเศษเพราะเกิดขึ้นก่อนการระเบิดยุคแคมเบรียน (Cambrian explosion) ซึ่งสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์เริ่มเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วราว 530–540 ล้านปีก่อน

นับแต่การระเบิดยุคแคมเบรีนย มีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่สามารถระบุได้แยกกันห้าครั้ง การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อราว 65 ล้านปีก่อน เมื่อการชนของอุกกาบาตอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ที่มิใช่สัตว์ปีกและสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อื่น ๆ แต่เหลือสัตว์เล็ก เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ซึ่งในขณะนั้นรูปร่างคล้ายหนูผี ในห้วง 65 ล้านปีหลัง สิ่งมีชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมมีความหลากหลายมากขึ้น