ประวัติ ของ ธรรมยุติกนิกาย

การก่อตั้ง

พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นเมื่อไร ทางตำนานแสดงไว้ว่า ดังนี้

1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเอาวินัยวงศ์ คือ ธรรมเนียมประพฤติปฏิบัติทางพระวินัยแบบรามัญมาเป็นข้อปฏิบัติเป็นครั้งแรก เมื่อ จ.ศ. 1187 ตรงกับ พ.ศ. 2368 อันเป็นปีที่ 2 แห่งการผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเอาวินัยวงศ์แบบรามัญนิกายมาเป็นแบบปฏิบัตินั้น เป็นการเริ่มต้นแก้ไขการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระองค์ ซึ่งยังผลให้มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดเป็นพระสงฆ์คณะหนึ่งในเวลาต่อมา

2. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระเถรชั้นเดิมแห่งคณะธรรมยุต พระองค์หนึ่ง ทรงแสดงพระมติ “อันที่จริงคณะธรรมยุตค่อยเป็นมาโดยลำดับ ปีที่ออกหน้า ควรจะกำหนดว่าเป็นปีที่ตั้งนั้น คือ จ.ศ. 1191” ปี จ.ศ. 1191 ตรงกับ พ.ศ. 2372 อันเป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชได้ 6 พรรษา และเสด็จจากวัดมหาธาตุกลับไปประทับ ณ วัดสมอราย(วัดราชาธิวาส) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงสะดวกในการที่จะปรับปรุงแก้ไข การประพฤติปฏิบัตพระธรรมวินัยในส่วนพระองค์เองได้โดยสะดวกพระทัย เพราะการประทับอยู่ในวัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช และเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วยนั้น คงทรงเห็นว่าไม่เป็นการเหมาะสมที่จะประพฤติปฏิบัติวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ที่แปลกจากทำเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา ฉะนั้น การเสด็จกลับไปประทับที่วัดสมอราย จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการปรับปรุงแก้ใขวัตรปฏิบัติทางพระธรรมวินัยของพระองค์ พร้อมทั้งคณะศิษย์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง

3. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงพระมติไว้ ตามที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วันพรุ่งนี้ (คือวันที่ 11 มกราคม) เป็นวันที่คณะธรรมยุตและวัดบวรนิเวศ ตั้งมาได้ครบ 60 รอบปีบริบูรณ์” ตามความในลายพระหัตถ์ดังกล่าวนี้หมายความว่า ทรงถือเอาวันที่ 11 มกราคม ร.ศ. 55 ( ตรงกับ พ.ศ. 2379) อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จจากวัดสมอรายมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวันตั้งคณะธรรมยุต และเป็นวันตั้งวัดบวรนิเวศวิหาร

พัฒนาการของธรรมยุติกนิกาย

วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกนิกาย

ตามความในพระราชประวัติแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มปรับปรุงแก้ไขการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยในส่วนพระองค์ เพื่อให้ถูกต้องตามที่ทรงได้ศึกษาพิจารณามาตั้งแต่ผนวชได้ 2 พรรษา ขณะที่ยังประทับอยู่วัดมหาธาตุ และเริ่มมีสหธรรมิกอื่น ๆ นิยมปฏิบัติตามพระองค์ขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่มากนัก

ครั้นปี พ.ศ. 2372 อันเป็นปีที่ผนวชได้ 6 พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ มาถึงระยะนี้ คงมีภิกษุสามเณรที่นิยมการปฏิบัติตามอย่างพระองค์และมาถวายตัวเป็นศิษย์มากขึ้น จึงได้เสด็จจากวัดมหาธาตุกลับไปวัดสมอราย(วัดราชาธิวาส) อันเป็นวัดนอกกำแพงพระนครและเป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี หรือวัดป่า ที่มีชื่ออยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ก็คงเพื่อความสะดวกพระทัย ในอันเป็นที่พระองค์พร้อมทั้งคณะศิษย์จะได้ประพฤติปฏิบัติ และบำเพ็ญกิจวัตรต่าง ๆ ทางพระธรรมวินัยที่เห็นว่าถูกว่าควรได้ตามประสงค์ แต่ศิษย์บางส่วนก็ยังคงอยู่ที่วัดมหาธาตุต่อมา

แม้เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดสมอรายแล้ว การปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในคณะของพระองค์ก็คงยังดำเนินไปได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะพระองค์มิได้ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์แห่งสำนักนั้น ฉะนั้น ในขณะเมื่อประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุก็ดี ที่วัดสมอรายก็ดี ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขขึ้นใหม่คงยังไม่ได้มีกำหนดเป็นรูปแบบที่ชัดเจนบริบูรณ์

ต่อเมื่อเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2379 แล้ว จึงปรากฏหลักฐานว่า ทรงตั้งธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติขึ้นอย่างไรบ้าง ดังที่ปรากฏในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารเป็นต้น

โดยที่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นจากผลของการแสวงหาความถูกต้องตามพระธรรมวินัย เริ่มแต่การทรงศึกษาสอบสวน ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดมาจนถึงการศึกษาสอบสวนของพระเถรานุเถระผู้เป็นบูรพาจารย์แห่งคณะธรรมยุตเป็นลำดับมา

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระเถรชั้นเดิมแห่งคณะธรรมยุต

ใกล้เคียง

ธรรมยุติกนิกาย ธรรมยุติกนิกายในประเทศกัมพูชา ธรรมชาติ ธรรมนัส พรหมเผ่า ธรรมกาย ธรรมจักร ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ธรรมนูญเวสต์มินสเตอร์ (ค.ศ. 1931) ธรรมเนียมพระยศและบรรดาศักดิ์ในราชวงศ์โชซ็อน ธรรม์ โทณะวณิก