แก่นของเรื่องและแรงบันดาลใจ ของ ธุลีปริศนา

ภาพวาดประกอบกวีนิพนธ์ พาราไดซ์ ลอสท์ วาดโดย วิลเลียม เบลก ชื่อว่า "ซาตานกำลังเฝ้ามองการสัมผัสของอดัมกับอีฟ"

พูลแมนระบุถึงวรรณกรรมเอกของโลกสามเรื่องซึ่งเป็นแรงบันดาลใจต่อธุลีปริศนา ได้แก่ งานเขียนร้อยแก้วเรื่อง On the Marionette Theatre ของ ไฮน์ริช ฟอน ไคลสท์ ผลงานหลายชุดของวิลเลียม เบลก และที่สำคัญที่สุดก็คือ พาราไดซ์ ลอสท์ ของจอห์น มิลตัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุดวรรณกรรมไตรภาคชุดนี้[7]

พูลแมนเคยแสดงเจตนาอย่างชัดเจนในการดัดแปลงเรื่องราวของมิลตันว่าด้วยสงครามระหว่างสวรรค์กับนรก ซึ่งปีศาจสามารถจะกลายมาเป็นวีรบุรุษก็ได้[8]ในบทนำของเขา เขาดัดแปลงถ้อยคำอันโด่งดังของเบลกที่พรรณนาถึงมิลตัน เป็นการล้อเลียนว่าตัวเขาเอง (พูลแมน) นั้น "เป็นพวกของปีศาจและรู้จักมันดี" พูลแมนยังอ้างอิงถึงแนวคิดอันเป็นเหตุเป็นผลในการพรรณนาโครงสร้างเชิงเทพนิยายที่แฝงอยู่ในนวนิยายของเขาอีกด้วย[9]

จากแนวคิดดังกล่าวทำให้การตีความต่าง ๆ ในนวนิยายเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับแนวคิดดั้งเดิมของศาสนาคริสต์ อนุภาคเงาหรือฝุ่นธุลีในเรื่อง ซึ่งถือเป็นความผิดบาปสำหรับศาสนจักรในโลกของไลรา กลับกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับ "ชีวิต" การล่มสลายของมนุษย์หรือความผิดบาปครั้งแรกที่ทำให้มนุษย์ถูกลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้าโดยการเนรเทศออกจากสวนอีเดน ก็ถูกตีความเสียใหม่ ว่าการล่มสลายครั้งนั้นแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ดี[10]

นักวิจารณ์วรรณกรรมมักเปรียบเทียบไตรภาคชุดนี้กับวรรณกรรมเรื่อง A Wrinkle in Time, A Wind in the Door และ A Swiftly Tilting Planet ของแมเดอลีน เลงเกิล ซึ่งมีแก่นเรื่องคล้ายกัน[11] เช่นเดียวกันกับเรื่อง[[ตำนานแห่งนาร์เนีย]'[12] นวนิยายชุดของ ซี. เอส. ลิวอิส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตำนานแห่งนาร์เนียดูจะให้แรงบันดาลใจในทางตรงข้ามต่อแกนเรื่องหลักของวรรณกรรมไตรภาคของพูลแมนชุดนี้ พูลแมนกล่าววิพากษ์วิจารณ์นวนิยายชุดนาร์เนียในทางลบหลายประการ เช่น ว่าเป็น "วรรณกรรมการเหยียดผิวอย่างโจ่งแจ้ง" "การดูหมิ่นสตรีอย่างมหันต์" "ไร้ศีลธรรม" และ "ชั่วร้าย"[13][14]

อาจกล่าวได้ว่า ธุลีปริศนาเป็นวรรณกรรมที่มีการตีความทางศาสนาตรงกันข้ามกับตำนานแห่งนาร์เนียอย่างสิ้นเชิง ตัวละครเอกอย่างไลรา ก็มาเพื่อแทนที่ลูซี่ ตู้เสื้อผ้าที่พาไปยังโลกอื่น กับเอกภพคู่ขนาน สัตว์พูดได้ สงครามครั้งสุดท้ายของจักรวาล และแม่มด ซึ่งในเรื่องนี้เป็นตัวละครทางฝ่ายดีแทนที่จะเป็นพวกปีศาจ[15] พูลแมนเองก็เคยกล่าวว่า "ผมเกลียดแนวคิดในเรื่องนาร์เนียอย่างที่สุด ที่ว่าวัยเยาว์เป็นยุคอันรุ่งเรือง ส่วนพวกผู้ใหญ่กับเพศสัมพันธ์เป็นความตกต่ำ"[15] อย่างไรก็ดีเมื่อมีผู้ถามว่า พูลแมนต้องการสื่ออะไรในนิยายเรื่องนี้ เขาหลีกเลี่ยงไม่ยอมตอบ แต่เอ่ยถึงแนวคิดทั่ว ๆ ไปว่า

"ทุกเรื่องราวล้วนมีแง่คิดบางอย่าง ไม่ว่าผู้เล่าเรื่องประสงค์จะบอกสิ่งนั้นหรือไม่ก็ตาม เรื่องราวจะสอนเกี่ยวกับโลกที่เราเป็นผู้สร้าง สอนเกี่ยวกับชีวิตที่เราดำรงอยู่ สอนอะไรๆ มากกว่าศีลธรรม คำแนะนำหรือสุภาษิต มนุษย์เราไม่ได้ต้องการรายการสิ่งที่ถูกกับสิ่งที่ผิด ไม่ต้องการตารางบอกสิ่งที่ควรทำกับสิ่งที่ห้ามทำ สิ่งที่เราต้องการคือหนังสือ เวลา และความเงียบ แล้วลืมคำว่า "ห้ามทำ" ไปเสีย"[15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธุลีปริศนา http://www.smh.com.au/articles/2003/12/12/10711256... http://ses.library.usyd.edu.au/bitstream/2123/1250... http://www.amazon.com/gp/feature.html/ref=amb_link... http://search.barnesandnoble.com/booksearch/isbnin... http://www.boxofficemojo.com/movies/?id=goldencomp... http://www.christianitytoday.com/movies/reviews/hi... http://www.costabookawards.com/downloads/Past_Winn... http://www.goldencompassmovie.com/ http://www.hisdarkmaterials.com http://www.latimes.com/business/printedition/la-fi...