การอนุรักษ์ ของ นกกระเรียนไทย

นกกระเรียนปกติจะอยู่เป็นคู่หรือฝูงขนาดเล็ก

มีนกกระเรียนไทยเหลืออยู่ในธรรมชาติประมาณ 15,000–20,000 ตัวจากการประเมินในปี ค.ศ. 2009[1] ประชากรชนิดย่อย นกกระเรียนอินเดีย เหลือน้อยกว่า 10,000 ตัวแต่ก็ถือว่ายังดีกว่าอีก 2 ชนิดย่อยที่เหลือ อาจเป็นเพราะได้รับความเคารพและธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาทำให้นกไม่ได้รับอันตราย[60] และในหลาย ๆ พื้นที่ นกกระเรียนไม่เกรงกลัวมนุษย์ นกกระเรียนไทยเคยพบในประเทศปากีสถานแต่ยังไม่พบอีกเลยตั้งแต่ปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ประชากรนกกระเรียนในอินเดียมีการลดจำนวนลง[1] จากการประมาณประชากรโดยรวมบนพื้นฐานของหลักฐานที่สะสมมาแสดงว่าประชากรในปี ค.ศ. 2000 ดีที่สุดคือร้อยละ 10 และเลวร้ายที่สุดคือร้อยละ 2.5 ของจำนวนทั้งหมดในปี ค.ศ. 1850[61] เกษตรกรหลายคนในอินเดียเชื่อว่านกกระเรียนนั้นเป็นตัวทำลายพืชผล[10] โดยเฉพาะข้าว แม้ว่าจากการศึกษาแสดงว่าการจิกกินเมล็กข้าวโดยตรงนั้นมีการสูญเสียจำนวนน้อยกว่าร้อยละหนึ่งและการเหยียบย่ำทำให้สูญเสียเมล็ดประมาณ 0.4–15 กิโลกรัม[62] ทัศนคติของเกษตรกรมีแนวโน้มเป็นบวกในเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้น และนี่เองเป็นการช่วยอนุรักษ์นกกระเรียนภายในพื้นที่เกษตรกรรม และการชดเชยความเสียหายความเสียหายแก่เกษตรกรตามความเป็นจริงอาจจะช่วยได้[48] ทุ่งนาอาจมีบทบาทที่สำหรับสำคัญในการช่วยอนุรักษ์นกชนิดนี้ เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาตินั้นถูกคุกคามมากขึ้นด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์[63] ประชากรนกกระเรียนในประเทศออสเตรเลียมีประมาณ 5,000 ตัวและอาจเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ[7] อย่างไรก็ตาม นกกระเรียนอินโดจีนกลับลดลงเป็นจำนวนมากจากสงครามและการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย (เช่นการเกษตรแบบเร่งรัดและการระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำ) และเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ 20 นกกระเรียนอินโดจีนได้หายไปจากพื้นที่การจายพันธุ์ส่วนใหญ่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยแผ่ไปถึงตอนใต้ของประเทศจีน มีประชากรเหลือประมาณ 1,500–2,000 ตัวกระจายตัวเป็นกลุ่มประชากรเล็ก ๆ ประชากรในประเทศฟิลิปปินส์นั้นรู้น้อยมากและสูญพันธุ์ไปในตอนปลายของคริสต์ทศวรรษ 1960[1]

ฝูงนกกระเรียน ประกอบไปด้วยนกโตเต็มที่ 2 ตัวและนกวัยอ่อน 1 ตัว

นกกระเรียนไทยจัดอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในบัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ[1] และไซเตสจัดอยู่ในบัญชีอนุรักษ์ที่ 2[64] การคุกคามประกอบไปด้วยภัยคุกคามทำลายถิ่นที่อยู่หรือทำให้เสื่อมลง การล่าและดักจับ เช่นเดียวกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ โรค และการแข่งขันในสปีชีส์ ผลของการผสมพันธุ์กันในเชื้อสายที่ใกล้เคียงกันมากในประชากรของประเทศออสเตรเลียยังต้องศึกษาต่อไป[7]

นกกระเรียนไทยสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย มีโครงการนำนกกระเรียนกลับสู่ธรรมชาติในประเทศไทยโดยนำนกมาจากประเทศกัมพูชา[65]

ประเทศไทย

นกกระเรียนไทยเป็นสัตว์ป่าสงวนหนึ่งใน 19 ชนิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 สถานะภาพปัจจุบันจัดเป็นสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว[66] ประเทศไทยพบนกกระเรียนในธรรมชาติครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2511 ที่บริเวณชายแดนติดกับกัมพูชา[67]

โดยในอดีต ปี พ.ศ. 2448 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า ทรงพบเห็นฝูงนกกระเรียนไทยจำนวนนับพันนับหมื่นตัว ทำรังวางไข่ที่ทุ่งมะค่า และเมื่อปี พ.ศ. 2488 มีรายงานการพบเห็นฝูงนกกระเรียนไทยบินผ่านท้องฟ้าบริเวณจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ นั่นนับเป็นการพบเห็นนกกระเรียนไทยบินรวมตัวเป็นฝูงครั้งสุดท้ายในประเทศไทย[68]

ด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (ICF) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำนกกระเรียนคืนถิ่น (G. a. sharpii) โดยเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2525 ในปี พ.ศ. 2527 มูลนิธิฯ ได้ส่งลูกนกกระเรียนมาจำนวน 6 ตัว แต่ตายไป 1 ตัว ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 มูลนิธิฯ ได้ส่งลูกนกมาให้อีก 6 ตัว นกทั้งหมดนำมาเลี้ยงดูอยู่ที่ศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าบางพระ และเนื่องจากพ่อแม่พันธุ์มีน้อยเกินไป ทางโครงการต้องจัดหาเพิ่มจากแหล่งอื่นอีก[69] ต่อมาสวนสัตว์โคราชได้ลูกนกมาจากการได้รับบริจาคจากประชาชนในบริเวณชายแดนไทย ลาว และกัมพูชา ระหว่างปี พ.ศ. 2532-2540 จำนวนหลายตัว ทางโครงการจึงได้มีการติดต่อกับสวนสัตว์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน[70]

สวนสัตว์โคราชจัดเป็นสถานที่เพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[40] โดยได้เริ่มขยายพันธุ์ทั้งแบบธรรมชาติและการผสมเทียม มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน จากประชากรเริ่มต้นจำนวน 26 ตัว จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 มีลูกนกที่เกิดมารวม 100 ตัว ขณะที่สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสถานีเพาะเลี้ยงนกน้ำบางพระ สามารถขยายพันธุ์ได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ตัว[71] ทางสวนสัตว์จึงมีโครงการปล่อยนกกระเรียนกลับคืนสู่ธรรมชาติใน 6 แหล่งด้วยกันคือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบงคาย เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด เขตห้ามล่าสัตว์ป่าห้วยตลาดและห้วยจระเข้มาก เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบางพระ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน และ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว[72] ซึ่งในอดีต ประเทศไทยเคยปล่อยนกกระเรียนสามตัวกลับสู่ธรรมชาติที่ทุ่งกะมังในปี พ.ศ. 2540 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ[67]

ปี พ.ศ. 2554 ระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม คณะทำงานโครงการทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ (ประเทศไทย) และสวนสัตว์นครราชสีมาได้มีการทดลองปล่อยนกกระเรียนไทย อายุ 5–8 เดือน จำนวน 10 ตัว กลับคืนสู่ธรรมชาติที่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ จากการติดตามพบว่านกกระเรียนดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติได้ตามปกติ ในปีถัดมา ได้ปล่อยนกกระเรียนไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติอีกครั้ง จำนวน 9 ตัว ที่อ่างเก็บน้ำสนามบิน อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์[73]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกกระเรียนไทย http://www.business-standard.com/india/news/after-... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sect... http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/hobsonjobson... http://www.umsl.edu/~ricklefsr/Reprints/R2000.pdf http://digitalcommons.unl.edu/bioscicranes/26/ http://digitalcommons.unl.edu/bioscicranes/4/ http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v064n04/p0602-p06... http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v103n01/p0125-p01... http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v113n03/p0655-p06... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15142765