นิเวศวิทยาและพฤติกรรม ของ นกกระเรียนไทย

นกกระเรียนไทยไม่ใช่นกอพยพทางไกลเหมือนนกกระเรียนชนิดอื่น ๆ แต่ก็มีการอพยพเป็นระยะทางช่วงสั้น ๆ ในฤดูแล้งและฤดูฝน ประชากรนกกระเรียนที่มีการอพยพนั้นพบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น[12] นกกระเรียนที่จับคู่จะปกป้องอาณาเขตจากนกกระเรียนอื่นด้วยเสียงร้องกู่ร้องและการกางปีก นกที่ยังไม่จับคู่จะอยู่รวมกันเป็นฝูงหลากหลายขนาดจำนวนตั้งแต่ 1–430 ตัว[11][25][26] ในพื้นที่กึ่งแห้งแล้ง คู่นกและลูกนกที่บินได้แล้วจะละทิ้งอาณาเขตในฤดูแล้งไปรวมฝูงกับนกที่ยังไม่ได้จับคู่ ในพื้นที่ชุ่มน้ำตลอดปี อย่างในรัฐอุตตรประเทศ คู่นกจะไม่ทิ้งอาณาเขต ฝูงนกกระเรียนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในพื้นที่ 29 ตารางกิโลเมตรของอุทยานแห่งชาติเกวลาเทวะ (Keoladeo)[27] ซึ่งมีนกถึง 430 ตัว และจากพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตอิฏาวา (Etawah) และไมนปุรี (Mainpuri) ในรัฐอุตตรประเทศ มีนกจำนวน 245–412 ตัว ฝูกนกที่มีสมาชิกเกิน 100 ตัวนั้นมีรายงานจากรัฐคุชราต[28] และประเทศออสเตรเลียเป็นประจำ ในระหว่างฤดูผสมพันธุ์ นกที่จับคู่จะขับไล่นกกระเรียนที่ยังไม่จับคู่ออกจากพื้นที่ชุ่มน้ำบางแห่งและประชากรนกท้องถิ่นสามารถลดลงได้ ประชากรนกกระเรียนในอุทยานแห่งชาติเคียวลาเดียวเคยมีบันทึกว่าจากนกมากกว่า 400 ตัวในฤดูร้อนลดลงเหลือเพียง 20 ในระหว่างมรสุม[27]

นกกระเรียนจะนอนในน้ำตื้น ๆ อาจเป็นเพราะจะได้ปลอดภัยจากสัตว์นักล่าบนพื้นดิน[6] นกที่โตเต็มที่จะไม่ผลัดขนทุกปี แต่จะผลัดทุกสองถึงสามปี[29]

การกินอาหาร

นกกระเรียนกำลังหากินอยู่ริมบึงที่ภารตปุระ อินเดีย

นกกระเรียนไทยหากินในน้ำตื้น (ปกติน้ำลึกน้อยกว่า 30 เซนติเมตร) หรือในทุ่งหญ้า บ่อยครั้งพบนกกระเรียนแหย่ปากหากินในปลักโคลน มันเป็นสัตว์กินได้ทั้งพืชและสัตว์ เช่น แมลง (โดยเฉพาะตั๊กแตน) พืชน้ำ ปลา (อาจแค่เฉพาะในกรงเลี้ยง)[30] กบ สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง และเมล็ดพืช บางครั้งก็เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เช่น งูน้ำ (Xenochrophis piscator)[6] มีบางกรณีที่พบได้ยากที่นกกระเรียนไทยกินไข่ของนกอื่น[31] และเต่า[32] ส่วนพืชก็อย่างเช่น พืชมีหัว หัวของพืชน้ำ หน่อหญ้า เมล็ดพืช และเมล็ดจากพืชที่เพาะปลูกอย่างถั่วลิสงและธัญพืชเช่นข้าว[6]

การเกี้ยวพาราสีและการผสมพันธุ์

นกกระเรียนไทยมีเสียงร้อง "แกร๋...แกร๋..." ดังเหมือนแตร ที่สร้างมาจากหลอดลมที่ยาวม้วนพันกันอยู่ในบริเวณสันอกซึ่งคล้ายกันกับนกกระเรียนชนิดอื่น[33] การเกี้ยวพาราสีของนกกระเรียน จะแสดงออกโดยคู่นกอาจแสดงการกางปีก กระพือปีก ส่งเสียงร้องด้วยท่าทางที่สวยงามและพร้อมเพียงกันไปรอบ ๆ พื้นที่ รวมถึงการ "เต้นระบำ" ที่กระทำทั้งในและนอกฤดูผสมพันธุ์ ซึ่งประกอบไปด้วยการกระโดดช่วงสั้น ๆ กระดกศีรษะขึ้นลง ตบเท้า ไปรอบ ๆ คู่ของมัน[34] นอกจากนี้การเต้นระบำยังเป็นการข่มขู่ขับไล่เมื่อรังหรือลูกนกตกอยู่ในอันตรายอีกด้วย[6] นกกระเรียนไทยส่วนใหญ่ผสมพันธุ์ในฤดูมรสุมในประเทศอินเดีย (กรกฎาคมถึงตุลาคม) แม้ว่าอาจมีการวางไข่ครั้งที่ 2[27] และมีบันทึกว่านกกระเรียนผสมพันธุ์ได้ทั้งปี[11] และในตอนต้นฤดูฝนในประเทศออสเตรเลีย

หลอดลมยาวม้วนพันกันที่ใช้สร้างเสียงเรียกดังคล้ายแตรไข่ของนกกระเรียนไทย

นกกระเรียนสร้างรังขนาดใหญ่มีรูปร่างกลมแบนแบบง่าย ๆ จากต้นไม้จำพวกอ้อหรือกกและพืชต่าง ๆ ในหนองบึงหรือนาข้าว[16] รังจะสร้างในน้ำตื้นโดยซ้อนทับไปบนกอกก กอข้าว หรือกอหญ้า เพื่อที่รังจะได้อยู่สูงจากระดับน้ำคล้ายกับเป็นเกาะเล็ก ๆ รังไม่มีสิ่งปกปิดมองเห็นได้ชัดเจนจากระยะไกล[35] รังอาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 2 เมตรสูงเกือบ 1 เมตร[36] คู่นกจะหวงแหนแหล่งทำรังมาก บ่อยครั้งที่จะกับมาซ่อมแซมและใช้รังเดิมถึง 5 ฤดูผสมพันธุ์[37] ในหนึ่งครอกจะมีไข่ 1-2 ใบ (น้อยครั้งที่จะเป็น 3[37] หรือ 4[38] ใบ) พ่อแม่นกจะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ฟักไข่[38] ใช้เวลาฟักไข่ราว 31 วัน (ราว 27–35 วัน[11][39]) ไข่นกกระเรียนไทยมีสีขาว (บางครั้งมีสีครีมแกมชมพูหรือสีเขียว[40]) หนักประมาณ 240 กรัม[6] พ่อแม่นกจะย้ายเปลือกไข่ออกจากรังหรือจะกลืนเปลือกไข่เข้าไปหลังลูกนกฟักเป็นตัว[41] ลูกนกระเรียนจะมีขนอุยปกคลุมทั่วตัว ขนบริเวณหัวและคอมีสีน้ำตาลอมเหลือง ขนข้างอกและหลังด้านบนเป็นสีน้ำตาลเข้ม บริเวณอกและท้องเป็นสีขาว[42] ลูกนกจะกินอาหารจากที่พ่อและแม่ป้อนในสองสามวันแรกและจะหากินเองหลังจากนั้นและจะตามพ่อแม่ไปหาอาหาร เมื่อเตือนภัย พ่อแม่นกจะร้อง "แคร่ร-รร" เสียงต่ำเพื่อส่งสัญญาณให้ลูกนกหยุดและนอนลง[43] นกวัยอ่อนจะอยู่กับพ่อแม่มากกว่า 3 เดือน[6] เชื่อกันว่านกกระเรียนจับคู่อยู่ด้วยกันตลอดชีวิต ถ้ามีตัวใดตัวหนึ่งตายลง นกที่เหลืออาจจับคู่กับนกตัวใหม่ได้ แต่นกกระเรียนเป็นนกที่จับคู่ยากมาก มันจะไม่ยอมจับคู่ใหม่จนกว่าจะพบคู่ที่พอใจ[44] นอกจากนี้ยังมีรายงานการเปลี่ยนคู่บันทึกไว้[45]

ปัจจัยคุกคาม

ไข่ของนกกระเรียนไทยในรังถูกอีกาทำลายอยู่บ่อยครั้ง[41] ในประเทศออสเตรเลีย สัตว์นักล่านกวัยอ่อนนั้นรวมถึงดิงโกและหมาจิ้งจอกแดง ขณะที่เหยี่ยวแดงมักจะกินไข่[6] การนำไข่ไปจากรังโดยเกษตรกร (เพื่อลดความเสียหายของพืชผล) หรือเด็ก ๆ (นำไปเล่น)[46] หรือคนงานเร่ร่อนเพื่อนำไปทำอาหาร[47] เป็นปัจจัยคุกคามต่อไข่นกกระเรียนที่สำคัญ ประมาณร้อยละ 31–42 ของไข่ในรังจะไม่สามารถฟักเป็นตัวได้จากเหตุผลข้างต้น ลูกนกจะเป็นเหยื่อของสัตว์นักล่าประมาณร้อยละ 8 แต่มากกว่าร้อยละ 30 ของลูกนกที่ตายนั้นไม่ทราบสาเหตุ[48][49] อัตราการรอดตายตั้งแต่เป็นไข่จนถึงนกวัยอ่อนจะอยู่ประมาณร้อยละ 20[50] ในบริเวณที่เกษตรกรยินยอมให้นกอาศัยโดยไม่ได้ทำอันตรายต่อนกนั้น มีอัตราการรอดเท่า ๆ กันกับในพื้นที่ชุ่มน้ำ คู่นกที่ทำรังช้าในฤดูกาลมีโอกาสการเลี้ยงลูกนกให้รอดตายต่ำกว่าปกติ แต่ถ้าในอาณาเขตมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากอัตราการรอดจะดีขึ้น[46]

เรื่องโรคและปรสิตของนกกระเรียนไทยเป็นที่รู้น้อยมาก รวมถึงผลกระทบที่มีต่อนกป่า จากการศึกษาที่สวนสัตว์โรมระบุบว่านกทนต่อโรคระบาด[51] ปรสิตภายในที่มีการระบุบก็มี พยาธิตัวแบน Opisthorhis dendriticus จากตับของนกในกรงเลี้ยงที่สวนสัตว์ลอนดอน[52] และปรสิตหนอนตัวแบน (Allopyge antigones) จากนกในประเทศออสเตรเลีย[53] นกกระเรียนไทยมีแมลงปรสิตเหมือนกับนกทั่ว ๆ ไป ชนิดที่มีการบันทึกไว้ก็มี Heleonomus laveryi และ Esthiopterum indicum[54]

ในกรงเลี้ยง นกกระเรียนไทยมีอายุยาวถึง 42 ปี[note 3][55][56] การตายของนกกระเรียนที่ยังไม่โตเต็มที่บ่อยครั้งเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ มีอุบัติเหตุกับนกกระเรียนที่เกิดจากสารพิษอย่างโมโนโครโตฟอส (monocrotophos) และดีลดริน (dieldrin) ในพื้นที่เกษตรกรรมบันทึกไว้[57][58] เท่าที่ทราบ มีนกที่โตเต็มที่บินชนสายไฟและโดนไฟดูดตาย ซึ่งมีอัตราการตายจากสาเหตุนี้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากรนกในพื้นที่ต่อปี[59]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นกกระเรียนไทย http://www.business-standard.com/india/news/after-... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sect... http://dsal.uchicago.edu/dictionaries/hobsonjobson... http://www.umsl.edu/~ricklefsr/Reprints/R2000.pdf http://digitalcommons.unl.edu/bioscicranes/26/ http://digitalcommons.unl.edu/bioscicranes/4/ http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v064n04/p0602-p06... http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v103n01/p0125-p01... http://elibrary.unm.edu/sora/Auk/v113n03/p0655-p06... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/15142765