ลักษณะสำคัญ ของ ประชาธิปไตย

การเลือกตั้งเป็นกลไกสำคัญของประชาธิปไตย แต่ประเทศที่มีการเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องปกครองแบบประชาธิปไตย

แม้ในปัจจุบัน ยังไม่มีการนิยามคำว่า "ประชาธิปไตย" ที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วกันก็ตาม แต่มีสองหลักการสำคัญที่นิยามคำว่า "ประชาธิปไตย"

  • ประการแรก เห็นว่าบรรดาพลเมืองหรือสมาชิกในสังคมย่อมมีความเสมอภาคกันในการเข้าถึงอำนาจ
  • ประการที่สอง เห็นว่าพลเมืองย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการรับรองโดยเสมอกัน

หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ "การยอมรับนับถือความสำคัญและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคล ความเสมอภาคและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต"[41] และจากหลักการพื้นฐานดังกล่าว จึงสามารถประมวลลักษณะสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้ดังนี้[41]

  1. ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย จึงกล่าวได้ว่า ประชาชนเป็นผู้ที่มีอำนาจมากที่สุดในรัฐ
  2. ประชาชนทุกคนในรัฐมีความเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ตลอดจนมีสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
  3. การดำเนินการของรัฐจำเป็นต้องถือตามมติเสียงข้างมากเป็นตัวตัดสิน แต่เสียงส่วนน้อยในรัฐจะต้องได้รับการคุ้มครองความเป็นธรรมตามกฎหมายด้วยเช่นกัน
  4. การปกครองแบบประชาธิปไตย จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐ

อย่างไรก็ตาม หากประชาธิปไตยมิได้รับการควบคุมอย่างรอบคอบโดยกฎหมายเพื่อขจัดความไม่เท่าเทียมกันในการกระจายอำนาจทางการเมืองด้วยการถ่วงดุลอำนาจ อย่างเช่น การแบ่งแยกอำนาจการปกครอง แล้ว อาจส่งผลให้ฝ่ายบริหารอำนาจสามารถสะสมอำนาจจนอาจเป็นอันตรายแก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้[42][43][44] นอกจากนี้ ด้วยเหตุที่ลักษณะเด่นของการปกครองในระบอบนี้คือ "การถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์" แต่ถ้าหากรัฐบาลปราศจากความรับผิดชอบแล้ว เสียงข้างมากก็อาจไม่แยแสสิทธิของเสียงข้างน้อย ชนิดที่เรียกว่าเป็น "เผด็จการโดยเสียงข้างมาก" เลยทีเดียว ดังนั้น กระบวนการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน จึงได้แก่การเลือกตั้ง ซึ่งควรเป็นไปโดยยุติธรรมทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ประกอบกับการคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของสื่อมวลชน อันจะยังให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและตัดสินใจใช้สิทธิ์ใช้เสียงเพื่อประโยชน์ของตนได้[45][46]

แม้มโนทัศน์ในเรื่อง "อำนาจอธิปไตยของปวงชน" (popular sovereignty) จะสามารถพบได้ทั่วไปในประเทศที่นำหลักการประชาธิปไตยไปใช้ก็ตาม แต่แนวคิดดังกล่าวก็มิใช่หลักปรัชญาสำคัญระดับสากลอันส่งผลให้เกิดการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ เพราะในบางประเทศมองว่าประชาธิปไตยมีพื้นฐานมาจากความเสมอภาคกันในการมีสิทธิ โดยคนจำนวนมากเห็นว่าประชาธิปไตยที่ดีได้แก่ "เสรีประชาธิปไตย" และอาจมีองค์ประกอบเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น การพหุนิยมทางการเมือง หลักนิติธรรม (rule of law) และสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ (right of petition) เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย ตลอดจนเรียกร้องให้เกิดมีวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (due process of law) เสรีภาพของพลเมือง สิทธิมนุษยชน และบทบาทของภาคประชาสังคม (civil society) เป็นอาทิ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาหมายเอาการแบ่งแย่งอำนาจการปกครองเป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย และในประเทศอื่น เช่น สหราชอาณาจักร นั้นหมายเอาการบริหารอำนาจอธิปไตยโดยกระบวนการของรัฐสภาและองค์กรตุลาการที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ ในบางกรณียังมีการใช้คำ "ประชาธิปไตย" สื่อถึงประชาธิปไตยทางตรง ด้วย เหนืออื่นใด แม้คำว่า "ประชาธิปไตย" จะนิยมใช้ในบริบาทของรัฐทางการเมืองเป็นหลัก แต่ว่ามโนทัศน์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถใช้แก่ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอว่า คุณลักษณะพื้นฐานของประชาธิปไตย คือ ความสามารถของปัจเจกบุคคลในการมีส่วนร่วมอย่างเสรีและอย่างเต็มที่ในชีวิตสังคมของตน[47] ด้วยการเน้นความเข้าใจของสัญญาประชาคมและเจตจำนงร่วมของประชาชน ประชาธิปไตยจึงอาจแสดงคุณลักษณะพิเศษเป็นคติรวมหมู่ทางการเมือง (political collectivism) แบบหนึ่ง เพราะคติรวมหมู่ทางการเมืองนิยามว่าเป็นระบอบการปกครองซึ่งพลเมืองผู้ใหญ่ทุกคนมีสิทธิในการพูดเท่าเทียมกันในการตัดสินใจซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตของตน[48]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประชาธิปไตย http://www.humanities.mq.edu.au/Ockham/y6704.html http://www.dwatch.ca http://annourbis.com/Ancient-Rome/8rome10.html http://the-fear-of-freedom.blogspot.com/2008/11/pl... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/157129/d... http://www.conservativeclassics.com/books/libertyb... http://www.economist.com/markets/rankings/displays... http://www.enterstageright.com/archive/articles/01... http://www.gegenstandpunkt.com/english/state/toc.h... http://books.google.com/books?id=4BL5WqHHVrwC&pg=P...