ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (อังกฤษ: democratic form of government with the King as Head of State[1]) เป็นชื่อเรียกระบอบการปกครองในประเทศไทย ที่รวมเอาทั้งรูปแบบการปกครอง (form of government) ประเภทประชาธิปไตยโดยมีรัฐสภา (parliamentary democracy) กับรูปแบบรัฐ (form of state) [2]) ไว้ในคำเดียวกัน สำหรับที่มานั้น วลีที่ว่า "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เพิ่งจะมีขึ้นในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2492[3] โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ความว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ทั้งนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่างขึ้นภายใต้อิทธิพลของพลังอนุรักษนิยม ซึ่งขณะนั้นมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนทางการเมืองที่สำคัญ แต่การปรากฏขึ้นครั้งแรกนี้ ยังไม่ได้ยืนยันความเป็นชื่อเฉพาะของระบอบการปกครองแต่อย่างใด[4] หากแต่การปรากฏขึ้นซ้ำในภายหลัง คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 และ พ.ศ. 2519 เป็นสองฉบับแรกที่ยืนยันความชอบธรรมของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"[4]สมศักดิ์ได้ให้ความเห็นไว้อีกว่า หน้าที่ (function) ของการยืนยันในสองฉบับมีความต่างกัน โดยฉบับ พ.ศ. 2511 เพื่อต่อต้านการเมืองและพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เพิ่งปรากฏตัวขึ้น และฉบับ พ.ศ. 2519 เพื่อต่อต้านฝ่ายซ้าย[4]
สำหรับกรณีของประเทศอังกฤษซึ่งถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น Penny Junor นักเขียน และนักหนังสือพิมพ์ ได้ให้ความเห็นไว้ในหนังสือของเธอว่า [5]กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว... มีพระมหากษัตริย์และพระราชินีปกครองแผ่นดิน. […] หนึ่งร้อยยี่สิบปีต่อมา, ภายหลังการเปลี่ยนแปลงหลายประการ (และช่วงเวลาสั้น ๆ ในศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งปราศจากกษัตริย์) พวกเรามีพระราชินีผู้ไร้ซึ่งอำนาจในการบริหาร, ผู้ซึ่งกระทำการต่าง ๆ โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี, ผู้ซึ่งอ่านพระราชดำรัสซึ่งผู้อื่นเป็นคนร่างขึ้น. […]สถาบันกษัตริย์จะต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะองค์พระราชินีเป็นตัวแทนของชาติทั้งมวล ไม่ว่าจะเป็นสี, ความเชื่อ หรือการเมือง, ไม่ว่าจะด้วยสถานะ หรือสถานการณ์, หรือแม้กระทั่งยุคสมัยของพวกเขา - พระองค์เป็นศูนย์รวมของพลังภายในประเทศ เป็นเสมือนกาวประสานพวกเราเอาไว้ด้วยกัน และนั่นคือความเข้มแข็งของพระองค์. พระองค์เป็นของคนทุกคน, ด้วยไม่มีใครออกเสียงเพื่อพระองค์ และเสียงของพวกเขาจะไม่ถูกมอบให้กับใครอื่นอีก. หากว่าพระองค์ทรงแสดงความคิดเห็นซึ่งสามารถนำไปอ้างได้โดยพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ย่อมสร้างความแบ่งฝักฝ่ายในหมู่เหล่าของประชากรโดยพลัน และนั่นย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก และเมื่อพระองค์มิได้ทรงกระทำ - พระองค์ย่อมเป็นผู้ซึ่งไม่อาจหยั่งถึงได้อย่างถึงที่สุด. […]ทั้งนี้ หากกล่าวถึงการเป็นประมุขในทางพิธีการของระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ก็คือ เป็นพิธีการที่ทรงบริหารอำนาจอธิปไตยแทนปวงชนโดยแบ่งแยกอำนาจนั้นเป็นสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังสภานิติบัญญัติที่เรียก "รัฐสภา" ฝ่ายบริหาร อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังกลุ่มผู้บริหารสูงสุดที่เรียก "คณะรัฐมนตรี" และฝ่ายตุลาการ อำนาจอธิปไตยนั้นผ่านมายังศาลทั้งหลาย ซึ่งมีสามประเภท คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความจริงแล้ว องค์กรเหล่านั้นเป็นปวงชนหรือผู้แทนของปวงชนที่บริหารอำนาจด้วยตนเองเพื่อประโยชน์ของปวงชนและโดยการควบคุมของปวงชน ส่วนพระมหากษัตริย์เป็นแต่เชิดให้กิจการดำเนินไปด้วยดีตามพระราชภารกิจทางพิธีการที่รัฐธรรมนูญมอบให้เท่านั้น[6]