กรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ของ ประวัติศาสตร์ไทย

การรวมแผ่นดิน

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุสาวรีย์มากกว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์[9]

หลังกรุงศรีอยุธยาแตกในปี 2310 บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะอนาธิปไตย พม่าที่ติดพันในการสงครามกับจีนจึงเหลือกองทหารเล็ก ๆ ไว้รักษากรุงเก่าเท่านั้น บ้านเมืองแตกออกเป็น 5 ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิมายที่นครราชสีมา ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝางที่เมืองสวางคบุรี (ฝาง) ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช และชุมนุมเจ้าตาก เจ้าตากเริ่มสร้างฐานอำนาจที่จันทบุรีแล้วใช้เวลาไม่ถึงปีขยายอำนาจทั่วภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน[5]:220–1 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ครองราชย์ 2310–25) หลังปราบดาภิเษกแล้ว ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานีซึ่งมีทำเลเหมาะแก่การค้าทางทะเล ทรงใช้เวลาอีกสามปีรวบรวมหัวเมืองที่เคยขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาเป็นหนึ่งอีกครั้ง[5]:223 พระองค์ยังทรงขยายอิทธิพลไปยังดินแดนใกล้เคียง หัวเมืองมลายูตรังกานูและปัตตานีส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงธนบุรี ทรงผลักดันเจ้ากัมพูชาให้ขึ้นครองราชย์ และทรงให้ความช่วยเหลือแก่พระเจ้ากรุงเวียงจันในการสงคราม นอกจากนี้ ยังทรงขับทหารพม่าออกจากล้านนาได้ในปี 2319 ทำให้ล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงธนบุรีนับแต่นั้น[5]:224–5 จากนั้นโปรดให้ยกทัพไปปราบหัวเมืองตะวันออก โดยนครเวียงจันถูกตีแตกในปี 2321 และมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน[5]:227–8 ในช่วงปลายรัชกาล มีบันทึกว่าพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนเพราะบังคับให้พระสงฆ์กราบไหว้และสั่งลงโทษพระสงฆ์ที่ไม่ยอมตาม อย่างไรก็ดี น่าจะเป็นเรื่องแต่งเติมเพราะพระองค์เป็นคนนอกไม่มีพื้นเพเป็นตระกูลผู้ดีเก่ากรุงศรีอยุธยามากกว่า[5]:229–30 ปลายปี 2324 กลุ่มชนชั้นนำต่างคิดเห็นว่าควรปลดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสีย ครั้นปี 2325 เกิดกบฏพระยาสรรค์ เจ้าพระยาจักรีที่กำลังยกทัพไปปราบกบฏในกัมพูชาในปีเดียวกันจึงยกทัพกลับมารักษาความสงบในกรุง และสำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี[5]:230–1

กรุงเทพมหานคร

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (ครองราชย์ 2325–52) ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีการขนย้ายอิฐกำแพงกรุงศรีอยุธยาเดิมมาสร้างเป็นกำแพงพระนครแห่งใหม่ด้วย[5]:233–4 พระองค์ทรงให้ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ มีการออกกฎคณะสงฆ์ สังคายนาพระไตรปิฏก ทรงให้ฟื้นฟูขนบธรรมเนียมอย่างกรุงศรีอยุธยาซึ่งถือเป็นยุคทอง โปรดให้จัดทำประมวลกฎหมาย ชื่อ กฎหมายตราสามดวง ซึงใช้กันในกรุงรัตนโกสินทร์ต่อมาอีกหนึ่งศตวรรษ[5]:234–5 ในปี 2328 พระเจ้าปดุง (ครองราชย์ 2324–62) แต่งทัพออกเป็น 9 ทัพ ยกมาตีกรุงเทพมหานคร 5 ทิศทาง เรียก สงครามเก้าทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงใช้ยุทธศาสตร์กระจายกำลังไปรับศึกนอกพระนครได้เป็นผลสำเร็จ พม่ายกทัพมาอีกครั้งในปลายปี 2328 และต้นปี 2329 เรียก สงครามท่าดินแดง แต่ก็ถูกตีกลับไปเช่นกัน[5]:240–5 กรุงเทพมหานครยังส่งทัพไปช่วยล้านนาจากพม่าได้สามครั้ง[5]:246–7 ทรงให้พระยากาวิละ (ต่อมาเป็นพระเจ้ากาวิละ) ต้นราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นเจ้าครองล้านนาในฐานะประเทศราชของกรุงเทพมหานครสืบต่อไป[5]:251–2 พระยากาวิละรวบรวมผู้คนเพื่อมาตั้งรกรากในเชียงใหม่ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้อีกครั้ง และขยายอาณาเขตไปทางทิศเหนือจนตีได้เชียงแสนและหัวเมืองแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน นับได้ว่าสามารถฟื้นฟูอาณาจักรล้านนาโบราณได้สำเร็จ[5]:252–3 กรุงเทพมหานครยังพยายามขยายอิทธิพลเข้าไปในกัมพูชาและลาว โดยใช้วิธีแบ่งแยกและปกครอง คือ แบ่งล้านช้างออกเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ เพื่อทำให้อ่อนแอจนไม่สามารถแข่งขันกับกรุงเทพมหานครได้[5]:257 แยกสงขลาออกจากเจ้านครศรีธรรมราชแล้วส่งขุนนางส่วนกลางไปปกครองโดยตรง กับทั้งลดฐานะของเจ้านครศรีธรรมราชเป็นเจ้าเมือง และแบ่งแยกกลันตันและตรังกานู[5]:259

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ครองราชย์ 2352–67) ถือเป็นยุคทองแห่งศิลปะ และสงบสุขเกือบตลอดรัชกาล กัมพูชากลายเป็นสนามรบระหว่างกรุงเทพมหานครและเวียดนาม สุดท้ายเวียดนามครอบงำกัมพูชาอยู่หลายสิบปีหลังปี 2356 แต่กรุงเทพมหานครเข้าควบคุมพื้นที่กว้างขวางขึ้นในกัมพูชา[5]:257–9 หลังจากอิทธิพลของอังกฤษในภูมิภาคเพิ่มขึ้นจากการได้มะละกา เกาะหมาก (ปีนัง) และสิงคโปร์ ในปี 2364 ข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียส่งจอห์น ครอว์เฟิร์ดเข้ามาเจรจาค้าขาย แต่ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับไป[5]:271,273

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2367–94) รัฐบาลอังกฤษในอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีเข้ามาเจรจากับกรุงเทพมหานคร โดยขอให้ส่งเสบียงช่วยเหลือหรือไม่ก็วางตนเป็นกลางในสงครามอังกฤษ–พม่าครั้งที่หนึ่ง (2367–9) อังกฤษกลายมามีอาณาเขตติดต่อกับกรุงเทพมหานครหลังยึดดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่าไว้ได้[5]:279–80 ราชสำนักยอมตกลงสนธิสัญญาเบอร์นีในปี 2369 หลังมีข่าวว่าอังกฤษชนะพม่า เนื้อหาของสนธิสัญญา อังกฤษยอมรับอำนาจของกรุงเทพมหานครเหนือไทรบุรี กลันตัน ตรังกานูและปัตตานี แลกกับที่กรุงเทพมหานครยอมรับอิสรภาพของเปรักและสลังงอร์ และลดการเก็บภาษีจำนวนมากกับวาณิชต่างประเทศเหลือค่าธรรมเนียมปากเรืออย่างเดียว[5]:281 ในปี 2376 สหรัฐส่งทูตเข้ามาทำสนธิสัญญาโรเบิร์ต ซึ่งนับเป็นสนธิสัญญาแรกระหว่างสหรัฐกับชาติเอเชีย[10]

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ (ครองราชย์ 2348–71) แห่งเวียงจันหลังทราบข่าวกรุงเทพมหานครเตรียมรับศึกอังกฤษ ก็หมายฉวยโอกาสโจมตีกรุงเทพมหานครเพื่อกวาดต้อนผู้คนไปไว้ในราชอาณาจักร ในปี 2369 ก่อกบฏโดยยกทัพเข้ามายึดนครราชสีมา ฝ่ายกรุงเทพมหานครหยุดยั้งการบุกเอาไว้ได้ และส่งกองทัพไปตีกรุงเวียงจันได้สำเร็จ[5]:283–4 แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังไม่พอพระทัยที่จับเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ และมีพระราชประสงค์ให้ทำลายเวียงจันให้สิ้นซาก ในปี 2370 มีการส่งกองทัพอีกกองหนึ่งขึ้นไปตีกรุงเวียงจันที่เจ้าอนุวงศ์ตีกลับคืนไปได้อีกครั้ง ครั้งนี้มีการทำลายอาคารบ้านเรือนทั้งหมดจนสิ้นซาก และกวาดต้อนผู้คนมาอยู่ในแถบภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน คณะสำรวจฝรั่งเศสอีกสี่สิบปีถัดมาบันทึกว่าเวียงจันยังเป็นเมืองร้าง[5]:284–5 หลังจากนั้นอีกหลายสิบปี กรุงเทพมหานครยังกวาดต้อนชาวลาวเข้ามาตั้งรกรากในที่ราบสูงโคราช ผลทำให้หัวเมืองลาวอีสานเพิ่มขึ้นประมาณ 40 เมืองซึ่งเกิดจากชาวลาวที่กวาดต้อนมา[5]:285–6 ฝ่ายมลายูทางใต้ กรุงเทพมหานครปรับนโยบายเป็นให้เจ้ามลายูปกครองกันเองหลังเกิดกบฏขึ้น 2 ครั้งในปี 2374 และ 2381 จากนั้นในภูมิภาคดังกล่าวก็มีระเบียบและความมั่นคงพอสมควร[5]:287–9 ฝ่ายทางตะวันออก กรุงเทพมหานครรบกับเวียดนามเพื่อแย่งชิงอิทธิพลเหนือกัมพูชาอีกครั้ง เรียก อานัมสยามยุทธ (2376–90) สุดท้ายทั้งสองตกลงกันโดยให้เจ้ากัมพูชาส่งเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งสองอาณาจักร[5]:290–2

หลังจากสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่งในจีน (2382–5) ชาติตะวันตกเริ่มก้าวร้าวมากขึ้น และระหว่างปี 2392–3 มีคณะทูตจากอังกฤษและสหรัฐเข้ามาเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครยกเลิกข้อกีดกันทางการค้าและตั้งศาลกงสุลแต่ถูกปัดกลับไป สาเหตุจากประจวบกับช่วงที่กำลังมีความกังวลเรื่องการแก่งแย่งราชสมบัติ[5]:301–2 อย่างไรก็ดี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยคุกคามของชาติตะวันตก ดังที่มีกระแสพระราชดำรัสก่อนเสด็จสวรรคตว่า "การศึกสงครามข้างญวนข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่พวกข้างฝรั่ง"[5]:305

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์จีน ประวัติยูทูบ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์อินเดีย ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)