การเผชิญหน้ากับมหาอำนาจตะวันตก ของ ประวัติศาสตร์ไทย

การปฏิรูปและการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2394–2411) ทรงได้รับการยกให้ขึ้นครองราชสมบัติพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเกลี่ยอำนาจของพระอนุชา[5]:310–1 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงความขัดเคืองของทูตอังกฤษที่กลับไปมือเปล่าในช่วงปลายรัชกาลก่อน จึงทรงติดต่อฮ่องกง[5]:311 ต้นปี 2398 รัฐบาลสหราชอาณาจักรในกรุงลอนดอนส่งคณะทูตซึ่งมีเซอร์จอห์น เบาว์ริงเป็นหัวหน้าเข้ามาเจรจา มีการบรรลุสนธิสัญญาเบาว์ริง[lower-alpha 2] ในเวลาสองสัปดาห์ถัดมา มีเนื้อหาจำกัดพิกัดภาษีขาเข้า ให้คนต่างด้าวพำนักและเป็นเจ้าของที่ดินรอบ ๆ พระนครได้ การให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต และการยกเลิกการผูกขาดการค้าของราชการ[5]:311–3 ภายในหนึ่งทศวรรษหลังจากนั้น กรุงเทพมหานครยังลงนามสนธิสัญญาทำนองเดียวกันกับอีก 12 ประเทศ เป็นการริเริ่มความสัมพันธ์แบบพหุภาคีเพื่อหวังให้ชาติเหล่านั้นถ่วงดุลอำนาจกันเอง[5]:314–5 ปริมาณการค้าโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 5.6 ล้านบาทในปี 2393 เป็น 10 ล้านบาทในปี 2411 กรุงเทพมหานครเปลี่ยนโฉมโดยมีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมและตัดถนนใหม่[5]:318–9 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มการปฏิรูป ตั้งแต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษา ทรงเลิกธรรมเนียมโบราณ ทรงให้ราษฎรถวายฎีกา และให้ผู้หญิงเลือกคู่เองได้ และเริ่มจ้างชาวต่างประเทศในงานพิเศษบางอย่าง ทั้งนี้ พระองค์ทรงตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงจะต้องเป็นไปอย่างช้า ๆ หากพระองค์จะได้รับความร่วมมือจากขุนนางผู้ใหญ่ที่กุมอำนาจในระบบราชการเป็นเวลาหลายชั่วคนแล้ว[5]:322,324

หลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตกระทันหันด้วยโรคมาลาเรีย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2411–53) จึงสืบราชสมบัติทั้งที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยมมีสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หลังบรรลุนิติภาวะแล้ว ทรงริเริ่มการปฏิรูปเป็นชุด โดยมีการตั้งศาลพิเศษเพื่อชำระคดีของศาลกรมต่าง ๆ ที่ค้างอยู่ ทรงรวมศูนย์อำนาจการจัดทำงบประมาณและสัมปทานค้าฝิ่นและบ่อนเบี้ย ทรงตั้งสภาที่ปฤกษาราชการแผ่นดินและปรีวีเคาน์ซิล ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มหรือคู่แข่งตระกูลบุนนาค ทรงออกกฎหมายค่อย ๆ ลดการมีทาสเพื่อทำลายระบบการควบคุมคนและเศรษฐกิจของชนชั้นขุนนาง[5]:329–30 ในปี 2417 ความพยายามปฏิรูปทำให้เกิดความขัดแย้งกับอำนาจเก่าอย่างหนัก เกิดความขัดแย้งกับวังหน้าอย่างรุนแรงจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง[lower-alpha 3] สุดท้ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถจำกัดอำนาจของวังหน้าได้แต่ทรงยอมยุติการปฏิรูปไปก่อน[5]:331–3 พระองค์ทรงเริ่มใช้วิธีส่งข้าหลวงต่างพระองค์ไปปกครองหัวเมืองเหนือ หัวเมืองตะวันออกเฉียงเหนือและหัวเมืองใต้เริ่มตั้งแต่ปี 2413 เพื่อพยายามทำให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งของสยาม[5]:334–5

ในช่วงนี้ฝรั่งเศสมีความพยายามแสวงหาดินแดนใหม่เพิ่มขึ้น เริ่มจากการทำสัญญากับสยามในปี 2410 ให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสและเริ่มส่งคณะสำเร็จไปลุ่มแม่น้ำโขง[5]:337 ในปี 2430 มีการปรับคณะรัฐบาลโดยให้ตั้งกรมขึ้นมา 12 กรมที่มีฐานะเท่ากันตามอย่างรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการยกฐานะเป็นกระทรวงในปี 2432[5]:347 ช่วงปี 2430–6 ฝรั่งเศสพยายามขยายอิทธิพลเหนือลาว ในปี 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 คือ มีเหตุการณ์ไล่ตัวแทนฝรั่งเศสออกจากหลวงพระบาง มีการเรียกร้องเอาดินแดนลาวฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง และเมื่อกองทัพสยามในพื้นที่ต่อสู้ทหารฝรั่งเศสที่พยายามเข้าควบคุมพื้นที่นั้น รัฐบาลฝรั่งเศสสบช่องจะประกาศสงครามกับสยาม และส่งเรือรบมายังปากแม่น้ำเจ้าพระยา สุดท้ายพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมตามคำขาดของฝรั่งเศส เช่นเดียวกับการจ่ายค่าปรับและการยกบางส่วนของแคว้นน่านและจันทบุรีให้ฝรั่งเศส[5]:352–5 ในปี 2439 ฝรั่งเศสและบริเตนตกลงให้สยามมีเอกราชและเป็นรัฐกันชนระหว่างพม่าของบริเตนและอินโดจีนของฝรั่งเศส[12]

ในทศวรรษสุดท้ายของการครองราชย์ สยามพยายามให้พิจารณาสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม แต่ผลเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยต้องมีการลงนามสัญญาอีกหลายฉบับในปี 2446–9 เพื่อให้ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีและตราด เช่นเดียวกับการทำสัญญากับบริเตนในปี 2452 เพื่อแลกหัวเมืองประเทศราชมลายูแก่บริเตนกับการเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของคนในบังคับบริเตน[5]:358–9 ในปี 2436 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทยในขณะนั้น ทรงริเริ่มระบบมณฑลเทศาภิบาลที่นครราชสีมาเป็นที่แรก แล้วส่งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครองโดยตรงแทนผู้ปกครองสืบทอดในหัวเมือง มีการสร้างทางรถไฟไปภาคอีสานและภาคเหนือ การปรับปรุงกฎหมายสยามโดยยึดตามประมวลกฎหมายนโปเลียนของฝรั่งเศส[5]:363–5 อย่างไรก็ดี ในปี 2445 เกิดกบฏขึ้นในราชอาณาจักร 3 ครั้ง เพื่อต่อต้านการโอนอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง[5]:372–3 ในปี 2448 มีการปฏิรูปแบบค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถแทนที่ระบบการเกณฑ์แรงงานแบบเก่ามาใช้ระบบเงินรัชชูปการและการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่แทน[5]:365–6 ผลของการเลิกระบบไพร่ทำให้ราษฎรทำการเกษตรเพิ่มขึ้น ปริมาณการส่งออกข้าวของสยามเพิ่มขึ้นจากไม่ถึง 1 ล้านเกวียนในคริสต์ทศวรรษ 1850 เป็นกว่า 11 ล้านเกวียนในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[5]:375 ในปี 2441 เริ่มมีการตั้งโรงเรียนในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยใช้ตำราเรียนและหลักสูตรเดียวกันที่ส่วนกลางกำหนดแทนการศึกษาในวัดแบบเดิม นับเป็นการเริ่มหล่อหลอมให้เกิดรัฐชาติที่มีเอกภาพ[5]:378–9 นอกจากนี้ ชาวจีนยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ด้วย โดยจำนวนชาวจีนเพิ่มขึ้นจาก 230,000 คนในปี 2368 เป็น 792,000 คนในปี 2453 ชาวจีนเหล่านี้ประสมประสานวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และมีบทบาทในเศรษฐกิจสมัยใหม่ของอาณาจักร[5]:380–1

รัฐชาติสมัยใหม่

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่: สมัยระหว่างสงคราม
กองทหารอาสาสยามในการสวนสนามชัยกรุงปารีส ปี 2462

การพัฒนาราชอาณาจักรสยามในรัชกาลที่ 5 ไม่ได้เป็นไปอย่างสม่ำเสมอ คือ สังคมเข้าสู่สมัยใหม่เร็วช้าไม่เท่ากัน ทำให้เกิดช่องว่างทางสังคม[5]:393 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2453–68) ทรงสร้างให้เกิดสำนึกความเป็นชาติอย่างน้อยก็ในหมู่ชนชั้นนำ ในปี 2454 ทรงตั้งกองเสือป่าซึ่งสมาชิกหลุดพ้นจากกรอบราชการและนับถือประมุข[5]:396–7 ในปีเดียวกัน เกิดเหตุการณ์คณะนายทหารชั้นผู้น้อยคบคิดกันเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยมีแนวคิดต่อต้านสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังไม่ทันวางแผนเสร็จก็ถูกจับได้เสียก่อน[5]:397,399 พระองค์ทรงตอบโต้ด้วยการแต่งตั้งเสนาบดีซึ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับการศึกษาในทวีปยุโรป ทรงตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหางบประมาณขาดดุลและทรงใช้วิธีประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อซึ่งใช้มาจนสิ้นรัชกาล[5]:400–2 คือ ทรงใช้พระปรีชาทางวรรณศิลป์เผยแพร่พระราชนิพนธ์ทางสื่อต่าง ๆ โดยย้ำแนวคิดสำคัญส่งเสริมวิถีชีวิตแบบตะวันตก ทรงริเริ่มธรรมเนียมอย่างตะวันตก เช่น นามสกุล กีฬาที่เล่นเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอล ธรรมเนียมผัวเดียวเมียเดียว ทรงส่งเสริมการศึกษาแผนใหม่ โดยสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2459 และทรงให้การศึกษาระดับประถมเป็นภาคบังคับ[5]:402–3 ทั้งยังทรงเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมทางการเมืองและชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่ประสงค์ให้กำจัดอิทธิพลของชาวจีนในเศรษฐกิจสยาม[5]:404 ทรงพยายามส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักสมาคมกันโดยไม่แบ่งวรรณะ รู้จักตัดสินโดยยึดหลักเสียงข้างมาก และกระตุ้นการอภิปรายสาธารณะในสื่อต่าง ๆ[5]:406 ด้านกิจการทหาร ทรงจัดหาเรือรบที่ทันสมัย และในปี 2460 ราชสำนักเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอาจก่อให้เกิดประโยชน์ในการเลิกสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม จึงประกาศสงครามกับฝ่ายมหาอำนาจกลางในวันที่ 22 กรกฎาคม 2460[5]:407 ผลทำให้ชาติตะวันตกยอมแก้ไขสนธิสัญญาในช่วงปี 2463–9 ให้สยามได้รับอิสระในการจัดเก็บภาษีอากรและยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[5]:408–9 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการปกครองจะทำให้สยามพินาศล่มจมจึงปฏิเสธข้อเสนอแนะให้ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญเสียทุกครั้ง[5]:412 ในด้านเศรษฐกิจ รายได้ของรัฐที่ลดลงจากราคาผลผลิตการเกษตรที่ตกต่ำ และรายจ่ายส่วนพระองค์ที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ งบประมาณจึงขาดดุลเช่นนี้ไปจนสิ้นรัชกาล ทำให้ต้องมีการกู้เงินต่างประเทศมาเป็นระยะ ๆ[5]:413

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ 2468–78) บ้านเมืองเต็มไปด้วยความไม่สงบและปัญหาเศรษฐกิจ ความพยายามลดงบประมาณทำให้เกิดการทะเลาะกันในหมู่ข้าราชการทำให้เกิดภาพไร้ประสิทธิภาพ[5]:416–7 หนังสือพิมพ์สะท้อนความคิดเห็นของมหาชนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล พระองค์ทรงเร่งสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้า พระองค์ยังทรงมีแนวคิดทดลองประชาธิปไตยในสยาม อย่างไรก็ดี ความพยายามให้ทดลองการปกครองตนเองระดับเทศบาลมีผลเล็กน้อยจนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง[5]:421 ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีกลุ่มนักเรียนต่างประเทศซึ่งมีแนวคิดต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่โดดเด่นได้แก่ ปรีดี พนมยงค์ และแปลก ขีตตะสังคะ เริ่มพบปะกันอย่างลับ ๆ เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 2472 ผลสะเทือนถึงสยามทำให้ราคาข้าวตกลง รัฐเสียรายได้ และเกิดวิกฤตค่าเงินบาท[5]:426–7 ในปี 2475 รัฐบาลดำเนินมาตรการ เช่น ปลดข้าราชการออกจำนวนมาก ระงับการเลื่อนขั้น และเพิ่มการเก็บภาษี ผลทำให้เกิดชนชั้นกลางได้รับผลกระทบมากเมื่อเทียบกับคนจีน ชนชั้นสูงและเจ้า และเกิดความไม่พอใจ[5]:428 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาความเป็นไปได้ของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีการทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญฉบับร่างโดยเนื้อหามีใจความว่า จะให้โอนอำนาจบริหารเป็นของนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้ง มีสภานิติบัญญัติควบคุมตรวจสอบโดยมีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งและแต่งตั้งอย่างละกึ่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี เจ้านายในคณะอภิรัฐมนตรีสภาคัดค้านร่างรัฐธรรนนูญดังกล่าว จึงไม่ได้ดำเนินการอย่างไรต่อ[5]:429,431

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติศาสตร์อินเดีย