ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ของ ประวัติศาสตร์ไทย

การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

ดูเพิ่มเติมที่: ลำดับเหตุการณ์คณะราษฎร
พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรีคนแรก ปราศรัยต่อฝูงชนหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม

วันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มบุคคลที่เรียกคณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ผลทำให้ระหว่างปี 2478–2500 เป็นช่วงเวลาที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ปกครอง และพระมหากษัตริย์ทรงไม่มีบทบาททางสังคมอีกจนพ้นช่วงดังกล่าว[5]:440 คณะราษฎรเริ่มวางแผนปฏิรูปการเมืองแต่เป็นไปอย่างช้า ๆ[5]:442–3 หลังจากนั้น คณะราษฎรเกิดขัดแย้งกันเอง โดยฝ่ายพลเรือนมีอำนาจน้อยกว่าฝ่ายทหาร คณะราษฎรแตกกันเป็น 5 ฝ่าย และหลังเกิดวิกฤต 3 ครั้งในปี 2476 สุดท้ายฝ่ายทหารหนุ่มชนะ[5]:444–5 เดือนตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงนำทหารในต่างจังหวัดกบฏ แต่ก่อการไม่สำเร็จ ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม มีความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับรัฐบาลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลังจากรัฐบาลปฏิเสธการต่อรองเพื่อปรับเปลี่ยนพระราชอำนาจและรูปแบบการปกครอง พระองค์ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477 (นับแบบเก่า)[5]:448 รัฐบาลกราบบังคมทูลพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล (ต่อมาเป็นพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร, ครองราชย์ 2478–89) ขณะยังทรงพระเยาว์และกำลังศึกษาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เป็นพระมหากษัตริย์และแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะรัฐมนตรีในช่วงแรก ๆ สั่นคลอนแต่อยู่ร่วมกันได้เพราะบุคลิกของพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และในปี 2478 รัฐบาลสามารถเจรจาจนสยามมีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์[5]:452–3

จอมพล ป. พิบูลสงครามและสงครามโลกครั้งที่สอง

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่: สงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง
จอมพล ป. พิบูลสงครามตรวจแถวทหารระหว่างกรณีพิพาทอินโดจีน เขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่รั้งตำแหน่งนานที่สุด

ในปี 2481 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เขาจัดการความนิยมของรัฐบาลด้วยการควบคุมสื่อและตรวจพิจารณา มีการจับนักโทษการเมืองและเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์[5]:455,457 ภายในปีแรก รัฐบาลออกกฎหมายต่อต้านชาวจีนหลายฉบับ และสงวนบางอาชีพให้เฉพาะชาวไทยซึ่งเป็นความคิดชาตินิยมทางเศรษฐกิจ ออกรัฐนิยม 12 ประการ รวมทั้งการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทย และควบคุมวิถีชีวิตประจำวันต่าง ๆ โดยอ้างว่าเพื่อให้ต่างประเทศมองว่าไทยเป็นประเทศสมัยใหม่ ในเดือนพฤศจิกายน 2483 ไทยส่งกำลังรุกเข้าไปในลาวและกัมพูชา ถึงแม้จะแพ้ในยุทธนาวีเกาะช้าง แต่ทางบกสามารถยึดดินแดนได้ จนญี่ปุ่นเข้ามาเป็นตัวกลาง โดยมีการบรรลุอนุสัญญายกดินแดนลาวและกัมพูชาบางส่วนให้ไทย[5]:462 หลังจากนั้นประเทศไทยเตรียมรับศึกญี่ปุ่น แต่ชาติมหาอำนาจอังกฤษและสหรัฐต่างไม่สามารถช่วยรักษาความมั่นคงของไทยได้[5]:462–3

การทิ้งระเบิดสะพานพระราม 6 ของฝ่ายสัมพันธมิตร

วันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านประเทศไทย มีการปะทะกับญี่ปุ่นหลายจุด จอมพล ป. เห็นว่าการขัดขืนเปล่าประโยชน์ จึงสั่งหยุดยิง ยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินทางผ่านประเทศไทยโดยแลกกับให้ญี่ปุ่นยอมรับเอกราชของไทย[5]:463,465 ต่อมารัฐบาลเห็นญี่ปุ่นได้ชัยตามสมรภูมิต่าง ๆ ก็เชื่อว่าญี่ปุ่นจะชนะสงคราม จึงเข้าเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักร ฝ่ายเสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐในเวลานั้น ปฏิเสธยื่นคำประกาศสงครามไปยังสหรัฐ และก่อตั้งขบวนการเสรีไทย เดือนพฤษภาคม 2485 รัฐบาลนำกำลังเข้ายึดครองรัฐฉาน สถาปนาเป็นสหรัฐไทยเดิม ขณะเดียวกันญี่ปุ่นยังมอบดินแดนมลายูที่ยกให้บริเตนในปี 2452 แก่ไทยด้วย[5]:466–7 อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในปี 2487 ไทยประสบปัญหาขาดแคลนสินค้าจำเป็น การเพิ่มภาษีและเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ทั้งยังเผชิญกับการทิ้งระเบิดทางอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตร[5]:467–8 เดือนกรกฎาคม 2487 จอมพล ป. พิบูลสงครามแพ้มติในสภาผู้แทนราษฎรจึงลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ เหตุผลหนึ่งคือ ส.ส. ต้องการพัฒนาความสัมพันธ์กับฝ่ายสัมพันธมิตรและเห็นว่าจอมพล ป. คือสายสัมพันธ์ในอดีตกับญี่ปุ่น และเลือกควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรีแทน[5]:470 ช่วงปลายสงคราม รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะให้รอดพ้นจากข้อเรียกร้องของฝ่ายสัมพันธมิตร โดยพยายามเสนอขบวนการเสรีไทยในประเทศให้ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้เพื่อต่อต้านญี่ปุ่น และไทยพึ่งความสัมพันธ์กับรัฐบาลสหรัฐ[5]:472–3

พระราชพิธีราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่ครองราชย์นานที่สุด

หลังญี่ปุ่นยอมจำนนในเดือนสิงหาคม 2488 ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้เหตุผลว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและสหราชอาณาจักรไม่ชอบด้วยกฎหมาย และปฏิเสธข้อตกลงทั้งหมดระหว่างรัฐบาลจอมพล ป. กับญี่ปุ่น ด้านควง อภัยวงศ์ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพราะไปมีส่วนกับญี่ปุ่นระหว่างสงคราม[5]:473–4 รัฐบาลสหราชอาณาจักรมีข้อเรียกร้องยืดยาวต่อไทย แต่ถูกรัฐบาลสหรัฐใช้อิทธิพลข่มไว้ สุดท้าย มีการตกลงความตกลงสมบูรณ์แบบซึ่งให้ไทยคืนดินแดนที่ได้มาระหว่างสงครามแก่เจ้าของเดิมและการขายข้าวให้สหราชอาณาจักรเพื่อแลกกับการได้รับเสียงสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติเท่านั้น ในปี 2489 ศาลฎีกายุติคดีจอมพล ป. ที่เกี่ยวข้องกับสงคราม และวันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลต้องพระแสงปืนสวรรคตอย่างมีปริศนา[5]:467–8 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดชสืบราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดช (ครองราชย์ 2489–2559) ทำให้ในช่วงปี 2489–2490 รัฐบาลฝ่ายที่สนับสนุนปรีดีเสื่อมอำนาจอย่างรวดเร็ว

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 คณะทหารรัฐประหาร มีการถอนรากถอนโคนฝ่ายซ้าย โดยเฉพาะผู้สนับสนุนของปรีดี[5]:480 รัฐบาลจอมพล ป. หวนคืนสู่อำนาจอีกครั้งในปี 2491 และใช้นโยบายปราบปรามชาวจีน มลายู และนักการเมืองภาคอีสาน เดือนเมษายน 2491 เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของชาวบ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งรัฐบาลใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก[5]:486 หลังจากเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันในปี 2494 พลตรี เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ และ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ค่อย ๆ มีอำนาจมากขึ้นแทนจอมพล ป.[5]:488,490 บทบาทของสหรัฐในเวลานั้นมองว่าไทยเป็นรัฐที่ต้องได้รับการปกป้องเพื่อกันการแผ่ขยายของลัทธิคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเข้าร่วมรบในสงครามเกาหลีในปี 2497 เป็นประเทศหลักในองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยได้รับเงินอุดหนุนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความช่วยเหลือทางเทคนิค และการปรับปรุงกองทัพและตำรวจจากสหรัฐ[5]:493–4 ช่วงปี 2498–2500 จอมพล ป. เริ่มผ่อนปรนการควบคุมการเมืองอย่างเข้มงวดและให้จดทะเบียนพรรคการเมืองได้ จอมพล ป. ยังมุ่งลดอำนาจของ พล.ต.อ. เผ่า การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 พรรคของจอมพล ป. ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย แต่เป็นที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "การเลือกตั้งที่สกปรกที่สุด" จอมพลสฤษฎิ์ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเนื่องจากลาออกจากคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคม 2500 จนในวันที่ 13 กันยายน จอมพลสฤษฎิ์นำกองทัพรัฐประหาร[5]:496–9

ระบอบสฤษดิ์และยุคถนอม-ประภาส

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่: สงครามกลางเมืองลาว และ วิกฤตการณ์มาลายา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ เยี่ยมจอมพลสฤษดิ์เป็นการส่วนพระองค์ในปี 2506 พระยาศรีวิสารวาจา (หุ่น ฮุนตระกูล) องคมนตรี กล่าวว่า สฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์มากที่สุด[13]

หลังรัฐประหารปี 2500 พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่รัฐบาลถูกค้านในสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักจนไม่สามารถทำงานอย่างราบรื่น จอมพลฤษฎดิ์มีความเห็นว่าพฤติกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สื่อมวลชนที่ขาดการควบคุม และข้อพิพาทแรงงานและการประท้วงล้วนบ่อนทำลายประเทศ[5]:508–9 ในปี 2501 เขายกเลิกรัฐธรรมนูญและออกคำสั่งสภาปฏิวัติ และสั่งจับผู้วิจารณ์รัฐบาลหลายร้อยคน เขาตอกย้ำภาพความสะอาดและความเป็นระเบียบ โดยจัดการปัญหาอาชญากรรมอย่างเฉียบขาด สังคมไทยหลายภาคส่วนยอมรับผู้นำเบ็ดเสร็จแบบดังกล่าว[5]:510 เขายังเปลี่ยนจากความจงรักภักดีต่อรัฐและรัฐธรรมนูญมาเป็นความภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งย่อมทำให้รัฐบาลในพระมหากษัตริย์มีความชอบธรรมตามไปด้วย[5]:511 เขาฟื้นฟูบทบาททางสังคมของสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังพยายามสร้างความชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตยด้วยการดำเนินนโยบายพัฒนาชนบท ส่งเสริมการลงทุนของเอกชนและต่างชาติเพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศ[5]:513–4 หลังขบวนการปะเทดลาวซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ มีอำนาจเพิ่มขึ้นในลาว รัฐบาลยอมรับข้อตกลงของสหรัฐในการคุ้มครองไทย และให้สหรัฐเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศ[5]:516–7

หลังจอมพลสฤษฎิ์ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2506 มีการสืบทอดตำแหน่งผู้นำประเทศเข้าสู่ยุคถนอม-ประภาส ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องในสงครามเวียดนามมากขึ้น อย่างไรก็ตาม วัยอาจระบุว่าไม่ใช่ว่าประเทศไทยสละความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระในนโยบายต่างประเทศ แต่ประเทศไทยใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับสหรัฐเพื่อบรรลุเป้าหมายของตนคือสร้างมิตรกับฝ่ายที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ในลาวและกัมพูชา และต่อต้านอิทธิพลของเวียดนามในสองประเทศนี้[5]:523–4 เมื่อรัฐบาลไทยและสหรัฐเข้าไปตอบโต้ปฏิบัติการของเวียดนามในลาวและกัมพูชา เวียดนามเหนือและจีนตอบโต้ด้วยการส่งเสริมการต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทย[5]:524 ระหว่างปี 2507–11 มีการส่งทหารอเมริกันเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องจนมีเจ้าหน้าที่เกือบ 45,000 คน มีเครื่องบินรบเกือบ 600 ลำ[5]:524 จนถึงปี 2510 ไทยส่งกองทัพครบทั้งสามเหล่าทัพเข้าร่วมปฏิบัติการในเวียดนามใต้ โดยในปี 2512 มีทหารไทยในเวียดนาม 11,000 นายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 14 ของกำลังพลทั้งหมด[5]:525 ผลกระทบของการเข้ามาของทหารอเมริกันนี้ยังเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชาวนาในชนบท และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพกับผู้นำธุรกิจเชื้อสายไทย-จีน คนหนุ่มสาวในชนบทเข้าเมืองเพื่อหางานทำ เร่งโอกาสทางการศึกษาและการเข้าถึงสื่อมวลชน[5]:526–7 นอกจากนี้ ชาวนาในชนบทยังเกิดสำนึกเรื่องความไม่เสมอภาคทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐบาล ปลายปี 2507 เริ่มเกิดการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์เริ่มจากภาคอีสาน แล้วลามไปภาคเหนือและใต้

ในช่วงเดียวกัน จำนวนประชากรไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และเศรษฐกิจของประเทศเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม จำนวนคนหนุ่มสาวที่ได้รับการศึกษาดีมีเพิ่มขึ้นนำไปสู่การขยายชนชั้นกลางที่เป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ชนชั้นกลางเหล่านี้มีอัตลักษณ์ของตนเองโดยมีลักษณะอนุรักษนิยมทางการเมือง พร้อมกับยึดถือค่านิยมที่เน้นเสรีภาพอย่างตะวันตก[5]:537 การที่รัฐบาลเข้าไปมีอำนาจในหมู่บ้านชนบททำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะชาวบ้านถูกทหารและตำรวจข่มเหง หรือถูกข้าราชการฉ้อโกง มีการต่อต้านรัฐบาลควบคู่ไปกับการดำเนินงานของสหภาพชาวนาและกรรมกร[5]:539–40

ในปี 2511 ท่ามกลางแรงกดดันจากนักศึกษาในประเทศและสหรัฐ จอมพลถนอมจึงประกาศรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งคู่กับวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง จอมพลถนอมชนะการเลือกตั้งในปี 2512 และได้ตั้งรัฐบาลอีกสมัย แต่ความขัดแย้งในสภา และกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดจากการผ่อนปรนการจำกัดการแสดงออก ทำให้รัฐบาลตื่นภัยว่าอาจเป็นความล่มสลายของความสามัคคีในชาติ เช่นเดียวกับฐานะของจอมพลถนอมและประภาสในกองทัพที่มีอนาคตไม่แน่นอน เดือนพฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมยุบสภาและยกเลิกพรรคการเมือง นำประเทศกลับสู่ยุคกองทัพครอบงำอีกครั้ง[5]:540–1 จอมพลถนอมใช้วิธีสร้างผู้นำให้เข้มแข็งที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน แต่ในช่วงนั้นชนชั้นกลางและชาวนาต้องการส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองมากขึ้น เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม 2516 ที่มีการจับกุมนักศึกษาที่แจกใบปลิวต่อต้านรัฐบาล ทำให้มีการเดินขบวนใหญ่ที่มีผู้เข้าร่วมนับแสนคนในกรุงเทพมหานคร รัฐบาลใช้กำลังเข้าปราบปรามจนมีผู้เสียชีวิต 77 คน สุดท้ายจอมพลถนอมและประภาสถูกบีบให้ลาออกจากลี้ภัยออกนอกประเทศ

ประชาธิปไตยลุ่ม ๆ ดอน ๆ

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
อดีตช่างภาพเอพี นีล อูเลวิช กล่าวสะท้อนเหตุการณ์ 6 ตุลา, เอพี

ผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาทำให้การแสดงความเห็นต่างที่ถูกเก็บกดมาหลายสิบปีกลับมามีปากเสียง เกิดรัฐบาลพลเรือน และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้ทั้งสมาชิกรัฐสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เกิดองค์การการเมืองและการดำเนินกิจกรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เกิดการประท้วงของกรรมกรและชาวนาไปทั่ว การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะมีอิสระ งานเขียนของปัญญาชนฝ่ายซ้ายได้รับความนิยม สมัยนายกรัฐมนตรีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชสามารถเจรจาให้สหรัฐถอนฐานทัพออกจากประเทศและเจรจาสร้างความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีน[5]:544,546–7 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภูมิภาคขณะนั้นประเทศลาวมีการเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ และคอมมิวนิสต์ชนะสงครามเวียดนาม หลังการเลือกตั้งในปี 2519 ได้รัฐบาลผสมอีกสมัยที่มีความเปราะบาง เกิดขัดแย้งในสภาทำให้รัฐบาลแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้น้อย และนักศึกษาฝ่ายซ้ายเริ่มทำให้ผู้สนับสนุนรู้สึกแปลกแยก สถาบันพระมหากษัตริย์ ชนชั้นนำในเมืองและชนชั้นกลางจำนวนมากเริ่มหันมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาต่าง ๆ เช่น นวพล ลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง เพราะมองว่านักศึกษาถูกลัทธิคอมมิวนิสต์ชักนำ[5]:547–8 ในช่วงนี้กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง ในปี 2519 จอมพลถนอมที่บวชเป็นสามเณรเดินทางกลับประเทศ โดยมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปเยี่ยมที่วัด[5]:548 เกิดการประท้วงขึ้นรายวันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย่างเข้าเดือนตุลาคม 2519 ฝ่ายขวามีปฏิกิริยาต่อการประท้วงโดยการปลุกระดมใส่ร้ายนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนสุดท้ายมีการสังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทัพเข้ามาครอบงำการเมืองอีกครั้ง และการแสดงออกถูกปิดกั้น[5]:549 พอล แฮนด์ลีย์เขียนว่า ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารพระราชทานรางวัลแก่บุคลากรฝ่ายขวาที่ก่อการนั้นด้วย[14]

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ (ขวา) กับประธานาธิบดีสหรัฐ โรนัลด์ เรแกน พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี 8 ปีในระบอบ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ"

หลังรัฐประหารในปี 2519 มีรัฐบาลขวาจัดที่ใช้อำนาจควบคุมอย่างเข้มงวด นักเคลื่อนไหวฝ่ายซ้ายหนีเข้าป่าและออกนอกประเทศจำนวนมาก รัฐบาลเริ่มเสียการสนับสนุนจากกองทัพ จนมีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในปี 2520[5]:552–3 รัฐบาลใหม่พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลดความรุนแรงของฝ่ายขวาและพยายามนำผู้หลบหนีออกจากป่า ในช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์เวียดนามบุกกัมพูชา ทำให้ชายแดนตะวันออกของประเทศมีผู้ลี้ภัยเข้ามานับแสนคน และกลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มพยายามโจมตีข้ามชายแดนเข้ามา เมื่อประกอบกับรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ เขาถูกบังคับให้ลาออกก่อนมีรัฐประหารโดยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523[5]:553–4 ในสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม มีการใช้นโยบายยันกองทัพเวียดนามที่ชายแดนโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ รัฐบาลยังสามารถนำผู้ก่อการเริบกลับเข้าสู่สังคมและจัดการเลือกตั้งทั่วไปได้ในปี 2526[5]:557 ในทศวรรษนั้นเริ่มเห็นได้ชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาททางการเมือง หลังจากทรงสนับสนุนนักศึกษาในปี 2516 ทรงเปลี่ยนมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาในปี 2519 และรัฐบาลธานินทร์ จนสู่รัฐบาลพลเอกเปรม[5]:558 ปรากฏชัดในครั้งกบฏยังเติร์กในปี 2524 ที่ทรงประกาศสนับสนุนรัฐบาลพลเอกเปรมทำให้กบฏล้มเหลว[5]:558–9

ผู้ประท้วงกับทหารในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 ถึง 1990 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารอีกครั้ง กรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก ประเทศมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในโลก ประเทศเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ซึ่งดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ[5]:561 พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ชนะการเลือกตั้งในปี 2531 เขาดูแลกองทัพที่เป็นพวกของตน ทำให้กองทัพอีกฝ่ายยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นำโดยพลเอก สุจินดา คราประยูร ทีแรกเขาให้สัญญาว่าจะไม่รับอำนาจทางการเมืองแต่สุดท้ายเขาตระบัดสัตย์และเข้าเป็นหัวหน้ารัฐบาลใหม่[5]:572–3 เหตุการณ์เดินขบวนประท้วงในกรุงเทพมหานครในเดือนพฤษภาคม 2535 ลงเอยด้วยการสั่งปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งให้พลเอกสุจินดาและพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ประท้วง เข้าเฝ้าฯ จากนั้นพลเอกสุจินดาลาออกจากตำแหน่ง กลางปี 2540 เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่เศรษฐกิจแตก อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐลดลงอย่างรวดเร็ว วิกฤตนี้ทำให้รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชาและพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ล้ม ชวน หลีกภัยกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง รัฐบาลสามารถเจรจาข้อตกลงกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ แม้การกู้เงินดังกล่าวจะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย แต่มีเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเป็นกองทุนช่วยเหลือคนรวย มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างใหญ่โต[5]:575–6

ยุคทักษิณและวิกฤตการณ์การเมือง

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังปี 2544 ถูกครอบงำด้วยความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 พรรคไทยรักไทยซึ่งขณะนั้นมีอายุได้ 3 ปี ชนะการเลือกตั้งทั่วไป นโยบายเศรษฐกิจของเขาที่เรียก ทักษิโณมิกส์ เน้นกระตุ้นการบริโภคในประเทศและการเพิ่มความสามารถการแข่งขันของประเทศ นโยบายของเขายังรวมการเพิ่มสวัสดิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในชนบท อย่างไรก็ดี การเอื้อพวกพ้องของทักษิณในการเลื่อนยศทหารใกล้ชิดในกองทัพทำให้พลเอกเปรมและพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ไม่พอใจ[15]:268 การเคลื่อนไหวต่อต้านทักษิณครั้งแรกเริ่มจากนโยบายภาคใต้ เริ่มจากการเปลี่ยนองค์การของกองทัพมาให้ตำรวจคุมในปี 2545 และปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารจังหวัดนราธิวาสแห่งหนึ่งในปี 2547 ชนชั้นกลางในกรุงเทพมหานครเริ่มไม่พอใจนโยบายประชานิยม การวิจารณ์ในสื่อเพิ่มขึ้น[15]:268 สนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งเป็นเจ้าของสื่อคนหนึ่งวิจารณ์ทักษิณทางโทรทัศน์จนรายการของเขาถูกสั่งระงับ จึงหันมาเดินขบวนตามท้องถนนและปลุกเร้าอารมณ์ด้วยการอ้างว่าทักษิณเป็นภัยคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์[15]:269 การประท้วงในปี 2548 ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ในปี 2549 หลังมีเหตุการณ์ขายหุ้นกลุ่มบริษัทชินคอร์ปให้แก่เทมาเส็กโฮลดิงส์ของรัฐบาลสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี ทำให้เริ่มมีการชุมนุมโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) กองทัพบางส่วนเล็งเห็นโอกาสในการโค่นทักษิณจึงร่วมมือกับ พธม.[15]:269 การชุมนุมเน้นกล่าวหาทักษิณว่ามีแผนเปลี่ยนประเทศเป็นสาธารณรัฐและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ[15]:269 ทักษิณประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์คว่ำบาตรการเลือกตั้ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรียกทักษิณไปเข้าเฝ้าและหลังจากนั้นทักษิณประกาศจะถอยออกจากการเมืองแถวหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชดำรัสให้ฝ่ายตุลาการมีบทบาทเพิ่มขึ้นใน "การขับเคลื่อนประชาธิปไตย"[15]:269

รัฐประหารในปี 2549 มีผู้นำเป็นกลุ่มนิยมเจ้าอย่างเข้มข้น และอ้างว่ารัฐบาลทักษิณสร้างความแตกแยกและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อย่างไรก็ดี ฝ่ายทหารได้ฉวยประโยชน์จากโอกาสนี้ด้วย โดยมีนายทหารได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจและตำแหน่งสำคัญ ๆ งบประมาณของกองทัพเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 ภายในสองปี[15]:270 เป้าหมายหลักของรัฐบาลทหารคือการกำจัดทักษิณ ลดบทบาทของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และคืนอำนาจให้แก่ข้าราชการและกองทัพ[15]:270 กองทัพยังตั้งใจใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อทวงบทบาทควบคุมดูแลการเมืองของประเทศ โดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ลดอำนาจของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ การก่อตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[15]:271 นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กองทัพและพวกนิยมเจ้ายกให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางความมั่นคงของชาติ และมีการใช้กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างกว้างขวาง[16]:374–5 บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารครั้งนี้[16]:378

ความพยายามทั้งหลายนี้ไม่อาจกำจัดเสียงสนับสนุนทักษิณในชนบทได้ หลังมีการรื้อฟื้นการปกครองแบบรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2550 พรรคไทยรักไทยที่ถูกสั่งยุบพรรคในปี 2549 ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกในชื่อพรรคพลังประชาชนโดยมีสมัคร สุนทรเวชเป็นหัวหน้า พรรคพลังประชาชนครองอำนาจอยู่พักหนึ่งก็เกิดการประท้วงของ พธม. ด้านกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งถือกำเนิดในเดือนกรกฎาคม 2550 ชุมนุมต่อต้าน พธม. ฝ่าย พธม. อ้างว่าตนกำลังพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ และ นปช. อ้างว่าตนกำลังพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตย[15]:274 หลังการชุมนุมดำเนินมาจนสิ้นปี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน หลังจากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคใหญ่อันดับสองในสภา เป็นนายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้นพลเอกเปรมและพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก อำนวยความสะดวกหรือสั่งการโดยตรงให้มีการซื้อตัวกลุ่มเพื่อนเนวิน[17]:87 นปช. ชุมนุมในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยเข้าขัดขวางการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปี 2552 และในปีต่อมา มีการชุมนุมยืดเยื้อในกรุงเทพมหานครตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 และปิดฉากลงด้วยเหตุการณ์เผาย่านธุรกิจในเขตราชประสงค์ และเผาอาคารราชการ 4 แห่งในต่างจังหวัด

ภาพกรุงเทพมหานครบางส่วนเกิดอัคคีภัยระหว่างวิกฤตการณ์การเมืองเดือนพฤษภาคม 2553

เมื่ออภิสิทธิ์ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2554 ปรากฏว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวผู้ไม่มีประสบการณ์การเมืองของทักษิณ นำพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าเธอจะใช้วิธีประนีประนอมกับพระราชวังและให้กองทัพจัดการตนเอง วิธีนี้ดูเหมือนทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ถูกท้าทายอย่างจริงจังในช่วงแรก ปลายปี 2556 อดีต พธม. ร่วมกับกลุ่มต่อต้านทักษิณและนิยมเจ้าอื่น ๆ เข้าพวกกันตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย[16]:374 กลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองเมื่อพรรครัฐบาลพยายามเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ทักษิณ แต่แม้ว่ารัฐบาลจะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป กปปส. ยังคงชุมนุมอย่างต่อเนื่องพร้อมกับใช้วาทศิลป์ค้านการเมืองแบบเลือกตั้ง[16]:374 เห็นได้จากการขัดขวางและทำร้ายร่างกายผู้ออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งปี 2557[16]:375 ฝ่ายตุลาการถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่ง แต่รัฐบาลรักษาการยังดำรงอยู่ จนมีรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557[16]:375

คณะผู้ยึดอำนาจปกครองควบคุมรัฐบาล ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามอย่างกว้างขวาง มีการแต่งตั้งสภาหุ่นเชิดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะกวาดล้างความนิยมของทักษิณได้ดีกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 พยายามก่อรูปร่างของสังคมด้วยค่านิยมตามที่พวกตนกำหนด[16]:376 นอกจากเพื่อต่อต้านทักษิณแล้ว กองทัพยังรู้สึกว่าตนต้องควบคุมการเปลี่ยนรัชกาลที่กำลังมาถึง และมีแผนจัดโครงสร้างทางการเมืองเพื่อสงวนอำนาจของอภิชน[18]:281 ผู้นำรัฐประหารยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของกองทัพขณะที่ลดอำนาจของประชาสังคมและการปกครองส่วนท้องถิ่นจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีการวางแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี และให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นผู้ดำเนินการ[18]:282 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตในปี 2559 และเข้าสู่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ตั้งแต่ปี 2559) ระเบียบการเมืองเดิมที่ยึดโยงพระมหากษัตริย์ที่มีบารมีหมดไป และกองทัพก้าวเข้ามาเป็นผู้ชี้นำการกระจายอำนาจและผลประโยชน์ในช่วงหลังเปลี่ยนรัชกาลใหม่[18]:286 นโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารที่เรียก ประชารัฐ ทำให้เกิดทุนนิยมแบบลำดับชั้นที่ธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยเชื้อสายจีนเข้าไปเลี้ยงดูและชี้นำธุรกิจในท้องถิ่น[18]:300 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งเป็นฉบับที่ 20 หลังจากครองอำนาจเกือบห้าปี คสช. ยอมให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ผลทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่มีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำ โดยได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสภา

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติศาสตร์อินเดีย