เศรษฐกิจ ของ ประเทศกัมพูชา

ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของกัมพูชา จากปี ค.ศ. 1970–2010ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวในจังหวัดพระตะบองท่าอากาศยานนานาชาติเสียมราฐสิ่งก่อสร้างสมัยใหม่ ในพนมเปญ
  1. เกษตรกรรม อยู่บริเวณที่ราบภาคกลาง รอบทะเลสาบเขมร พืชที่สำคัญคือ ข้าวเจ้า ยางพารา พริกไทย
  2. การประมง บริเวณรอบทะเลสาบเขมร เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค
  3. การทำป่าไม้ บริเวณเขตภูเขาทางภาคเหนือโดยล่องมาตามแม่น้ำโขง
  4. การทำเหมืองแร่ ยังไม่ค่อยสำคัญ
  5. อุตสาหกรรม เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ส่วนใหญ่เป็นโรงสีข้าว โรงเลื่อย รองเท้า

ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสังคมนิยมเป็นระบอบประชาธิปไตย และหลังจากสงครามภายใน ประเทศกัมพูชาเริ่มสงบลง และเริ่มพัฒนาฟื้นฟูบูรณะประเทศ ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ ประเทศทำการค้าขายกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น กัมพูชาจึงกำหนดนโยบายที่มุ่งหวังการพัฒนาศักยภาพทางการเกษตร การท่องเที่ยว และส่งเสริมให้มีการลงทุนจากต่างชาติ โดยกำหนดยุทธการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐและได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การปรับปรุงกฎหมายด้านเศรษฐกิจ การเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างประเทศ การปฏิรูประบบจัดเก็บภาษีเงินได้ และเร่งรัดพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น สนามบิน ถนน ไฟฟ้า ประปา และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เป็นต้น ภายใต้ความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย และ UNDP รวมทั้งประเทศที่ให้ความช่วยเหลืออื่น ๆ

แต่การพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชาได้เติบโตอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2540-2541 กัมพูชาต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย และความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศถอนตัวออกจากประเทศกัมพูชา ส่งผลให้การฟื้นฟูบูรณะและการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้า แต่หลังจากปี 2542 สถานการณ์การเมืองกัมพูชาเริ่มมีความมั่นคงพอสมควร และนับเป็นปีแรกที่กัมพูชามีสันติภาพอย่างแท้จริง เพราะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในหมดไป ปัจจุบัน กัมพูชากำลังพัฒนาตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (ตุลาคม 2543 - กันยายน 2548) ทั้งนี้เพื่อให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในเกณฑ์ร้อยละ 6-7 ต่อปี ภาวะเศรษฐกิจของกัมพูชาในอดีตที่ผ่านมาสามารถสรุปได้ดังนี้

สินค้าเกษตรกรรมถือว่าเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศประมาณร้อยละ 43 ของ GDP มาจากข้าวและปศุสัตว์ ส่วนการประมงและป่าไม้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 สินค้าเกษตรที่ส่งออกได้แก่ข้าว ไม้ และยางพารา รองลงมาได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเหลือง สัตว์มีชีวิต ผลไม้ และปลา เป็นต้น ทั่วไปกัมพูชามีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ไม้ ยางพารา ข้าว และปลา สินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง บุหรี่ ทอง วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรและเครื่องยนต์

เศรษฐกิจกัมพูชาในปี 2546 คาดการณ์โดย The Economist Intelligence Unit (EIU) มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเหลือ 5.0 % และ International Monetary Fund (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจขยายตัว 4.7 % เทียบกับที่ขยายตัวราว 5.5 % ในปี 2545 ปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชา ได้แก่ รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์การก่อความไม่สงบ โดยมีการเผาสถานทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เกิดปัญหาการระบาดของโรคทางเดินหายใจ เฉียบพลันรุนแรง (SARS) ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองในกัมพูชา (หลังการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2546 ที่ผ่านมา) ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มั่นใจในความปลอดภัยและ ปัญหาการเมืองที่ยังคงไร้เสถียรภาพ ทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ถึงแม้ว่าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 สภาแห่งชาติของกัมพูชา (The National Assembly) ได้อนุมัติการออกกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายการลงทุนฉบับลงวันที่ 5 สิงหาคม 2534 (Law on the Amendment to the Law on Investment of the Kingdom of Cambodia) เพื่อเอื้อสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ส่วนภาคธุรกิจก่อสร้างยังคงอยู่ในภาวะซบเซา

ปี 2547 EIU และ IMF คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 % - 5.8 % ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกัมพูชาคาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 5.5 % - 6.0 % เนื่องจากรายได้จากการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ประกอบกับเมื่อเดือนธันวาคม 2546 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศเพิ่มโควตานำเข้าสิ่งทอสำหรับปี 2547 ให้กัมพูชาเพิ่มขึ้นอีก 14 % ซึ่งคาดว่าจะทำให้กัมพูชามีรายได้จากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจก่อสร้างเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น และจากการที่กัมพูชาได้เข้าเป็นสมาชิก ใหม่ของ WTO อย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ทำให้กัมพูชามีพันธกรณีที่ต้องเร่งปรับปรุงกฎหมายด้านการลงทุนให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าไปลงทุนในกัมพูชาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการย้ายฐานการผลิตเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชาเพื่อส่งออก เนื่องจากกัมพูชายังมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ ทางด้านอัตราเงินเฟ้อ EIU และ IMF คาดว่าปี 2547 กัมพูชาจะมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3.1 % - 3.5 % จากอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยราว 1.3 % - 2.6 % ในปี 2546 เนื่องจากราคาอาหารในประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก (ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, 2547)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศกัมพูชา http://www.angelfire.com/pokemon2/stateless_it/pag... http://cambotoday.blogspot.com/2009/06/oil-revenue... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/90520/Ca... http://www.nitipoom.com/th/article3.asp?idOpenSky=... http://www.phnompenhpost.com/index.php/20110518491... http://www.phnompenhpost.com/national/kampong-cham... http://www.samkokview.com/main/index.php/2012-02-0... http://www.tourismcambodia.com/ http://www.world-gazetteer.com/wg.php?x=&men=gcis&... http://news.xinhuanet.com/english2010/culture/2010...