ประวัติศาสตร์ ของ ประเทศญี่ปุ่น

ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ยุคก่อนประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์โบราณ

เครื่องปั้นดินเผายุคโจมง

วัฒนธรรมยุคหินเก่าประมาณ 30,000 ปีก่อน ค.ศ. เป็นหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์บนกลุ่มเกาะญี่ปุ่นครั้งแรกเท่าที่ทราบ หลังจากนั้นเป็นยุคโจมงเมื่อประมาณ 14,000 ปีก่อน ค.ศ. ที่มีวัฒนธรรมนักล่าสัตว์หาของป่ากึ่งอยู่กับที่ยุคหินกลางถึงยุคหินใหม่ ซึ่งมีลักษณะโดยการอาศัยอยู่ในหลุมและเกษตรกรรมเรียบง่าย[36] รวมทั้งบรรพบุรุษของชาวไอนุและชาวยะมะโตะร่วมสมัยด้วย[37][38] เครื่องดินเผาตกแต่งจากยุคนี้ยังเป็นตัวอย่างเครื่องดินเผาเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังเหลือรอดในโลกด้วย ประมาณ 300 ปีก่อน ค.ศ. ชาวยะโยะอิเริ่มเข้าสู่หมู่เกาะญี่ปุ่น ผสมผสานกับโจมอน[39] ยุคยะโยะอิซึ่งเริ่มตั้งแต่ประมาณ 500 ปีก่อน ค.ศ. มีการริเริ่มการปฏิวัติอย่างการทำนาข้าวเปียก[40] เครื่องดินเผาแบบใหม่[41] และโลหะวิทยาที่รับมาจากจีนและเกาหลี[42]

ญี่ปุ่นปรากฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ลายลักษณ์อักษรในฮั่นซู (บันทึกประวัติศาสตร์ฮั่น) ของจีน[43] ตามบันทึกสามก๊ก ราชอาณาจักรทรงอำนาจที่สุดในกลุ่มเกาะญี่ปุ่นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 3 เรียก ยะมะไตโกะกุ มีกาเผยแผ่ศาสนาพุทธ เข้าประเทศญี่ปุ่นจากอาณาจักรแพ็กเจ (เกาหลีปัจจุบัน) และได้รับอุปถัมภ์โดยเจ้าชายโชโตะกุ และการพัฒนาศาสนาพุทธญี่ปุ่นในเวลาต่อมาได้รับอิทธิพลจากจีนเป็นหลัก[44] แม้มีการต่อต้านในช่วงแรก แต่ศาสนาพุทธได้รับการส่งเสริมจากชนชั้นปกครองและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในช่วงต้นยุคอะซุกะ (ค.ศ. 592–710)[45]

ยุคนาระ (พ.ศ. 1253–1337) มีการกำเนิดรัฐญี่ปุ่นแบบรวมอำนาจปกครองโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนักจักรพรรดิในเฮโจเกียว (จังหวัดนาระปัจจุบัน) ยุคนาระเริ่มมีวรรณคดีตลอดจนการพัฒนาศิลปะและสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ[46] การระบาดของโรคฝีดาษในปี พ.ศ. 1278–1280 เชื่อว่าฆ่าประชากรญี่ปุ่นไปมากถึงหนึ่งในสาม[47] ในปี พ.ศ. 1327 จักรพรรดิคัมมุย้ายเมืองหลวงจากนาระไปนางาโอกะเกียว และเฮอังเกียว (นครเกียวโตปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 1337

นับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคเฮอัง (พ.ศ. 1337–1728) ซึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นเฉพาะถิ่นชัดเจนกำเนิด โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ศิลปะ กวีและร้อยแก้ว ตำนานเก็นจิของมุราซากิ ชิคิบุ และ "คิมิงะโยะ" เนื้อร้องเพลงชาติประเทศญี่ปุ่นปัจจุบัน ก็มีการเขียนขึ้นในช่วงนี้[48]

ศาสนาพุทธเริ่มแพร่ขยายระหว่างยุคเฮอัง ผ่านสองนิกายหลัก ได้แก่ เท็งไดและชินงน สุขาวดี (โจโดะชู โจโดะชินชู) ได้รับความนิยมมากกว่าในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 11

ยุคเจ้าขุนมูลนาย

นักรบซะมุไรสู้รบกับมองโกลระหว่างการบุกครองญี่ปุ่นของมองโกล (Suenaga, 1836)วัดคิงกะกุ ในเมืองเกียวโต

ยุคเจ้าขุนมูลนายของญี่ปุ่นมีลักษณะจากการถือกำเนิดและการครอบงำของชนชั้นนักรบซะมุไร ใน พ.ศ. 1728 จักรพรรดิโกะ-โทะบะทรงแต่งตั้งซะมุไร มินะโมะโตะ โนะ โยะริโตะโมะ เป็นโชกุน หลังพิชิตตระกูลไทระในสงครามเก็มเป โยะริโตะโมะตั้งฐานอำนาจในคะมะกุระ หลังเขาเสียชีวิต ตระกูลโฮโจเถลิงอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการให้โชกุน มีการเผยแผ่ศาสนาพุทธสำนักเซนจากจีนในยุคคะมะกุระ (พ.ศ. 1728–1876) และได้รับความนิยมในชนชั้นซะมุไร รัฐบาลโชกุนคะมะกุระขับไล่การบุกครองของมองโกลสองครั้งใน พ.ศ. 1817 และ 1824 แต่สุดท้ายถูกจักรพรรดิโกะ-ไดโงะโค่นล้ม ส่วนจักรพรรดิโกะ-ไดโงะก็ถูกอะชิกะงะ ทะกะอุจิพิชิตอีกทอดหนึ่งใน พ.ศ. 1879

อะชิกะงะ ทะกะอุจิตั้งรัฐบาลโชกุนในมุโระมะชิ จังหวัดเกียวโต เป็นจุดเริ่มต้นของยุคมุโระมะชิ (พ.ศ. 1879–2116) รัฐบาลโชกุนอะชิกะงะรุ่งเรืองในสมัยของอะชิกะงะ โยะชิมิสึ และวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่บนศาสนาพุทธแบบเซ็น (ศิลปะมิยะบิ) แพร่กระจาย ต่อมาศิลปะมิยะบิวิวัฒน์เป็นวัฒนธรรมฮิงะชิยะมะ และเจริญจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21–22) อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลโชกุนอะชิกะงะสมัยต่อมาไม่สามารถควบคุมขุนศึกเจ้าขุนมูลนาย (ไดเมียว) ได้ และเกิดสงครามกลางเมือง (สงครามโอนิน) ใน พ.ศ. 2010 เปิดฉากยุคเซ็งโงะกุ ("รณรัฐ") ยาวนานนับศตวรรษ

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีพ่อค้าและมิชชันนารีคณะเยสุอิตจากประเทศโปรตุเกสเดินทางถึงญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และเริ่มการค้าขายและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่นกับโลกตะวันตก (การค้านัมบัน) โดยตรง ทำให้โอะดะ โนะบุนะงะได้เทคโนโลยีและอาวุธปืนยุโรปซึ่งเขาใช้พิชิตไดเมียวคนอื่นหลายคน การรวบอำนาจของเขาเริ่มยุคอะซุชิโมะโมะยะมะ (พ.ศ. 2116–2146) หลังโนะบุนะงะถูกอะเกะชิ มิสึฮิเดะลอบฆ่าใน พ.ศ. 2125 โทะโยะโตะมิ ฮิเดะโยะชิ ผู้สืบทอดของโนะบุนะงะ รวมประเทศใน พ.ศ. 2133 และเปิดฉากบุกครองเกาหลี 2 ครั้งใน พ.ศ. 2135 และ 2140 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ

หลังฮิเดะโยะชิถึงแก่อสัญกรรม โทะกุงะวะ อิเอะยะซุตั้งตนเองเป็นผู้สำเร็จราชการแทนบุตรของฮิเดะโยะชิและใช้ตำแหน่งให้ได้มาซึ่งการสนับสนุนทางการเมืองและการทหาร อิเอะยะซุเอาชนะไดเมียวต่าง ๆ ได้ในยุทธการที่เซะกิงะฮะระใน พ.ศ. 2143 ต่อมาใน พ.ศ. 2146 จักรพรรดิโกะ-โยเซจึงทรงแต่งตั้งเขาเป็นโชกุน เขาตั้งรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะในเอะโดะ (กรุงโตเกียวปัจจุบัน) รัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะออกมาตรการซึ่งรวมบุเกะโชะฮัตโตะเป็นจรรยาบรรณสำหรับควบคุมไดเมียวอัตตาณัติ และนโยบายซะโกะกุ ("ประเทศปิด") ใน พ.ศ. 2182 ซึ่งกินเวลานานสองศตวรรษครึ่งและเป็นยุคเอกภาพทางการเมืองที่เรียก ยุคเอะโดะ (พ.ศ. 2146–2411) การศึกษาศาสตร์ตะวันตก ที่เรียก รังงะกุ ยังคงมีต่อผ่านการติดต่อกับดินแดนแทรกของเนเธอร์แลนด์ที่เดจิมะในนางาซากิ ยุคเอะโดะยังทำให้โคะกุงะกุ ("การศึกษาชาติ") หรือการศึกษาประเทศญี่ปุ่นโดยคนญี่ปุ่น เจริญด้วย

ยุคใหม่

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ มีการฟื้นฟูการปกครองแบบจักรวรรดิในช่วงปลายรัฐบาลโชกุนโทะกุงะวะ

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2397 พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี และ "เรือดำ" แห่งกองทัพเรือสหรัฐบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศต่อโลกภายนอกด้วยสนธิสัญญาคานางาวะ สนธิสัญญาคล้ายกันกับประเทศตะวันตกในยุคบะกุมะสึนำมาซึ่งวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเมือง การลาออกของโชกุนนำสู่สงครามโบะชิง และการสถาปนารัฐรวมอำนาจปกครองที่เป็นเอกภาพในนามภายใต้จักรพรรดิ (การฟื้นฟูเมจิ)[49]

ประเทศญี่ปุ่นรับสถาบันการเมือง ตุลาการและทหารแบบตะวันตกและอิทธิพลทางวัฒนธรรมตะวันตกรวมเข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมขปงะเรทศสำหรับการกลายเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ โดยผ่านกระบวนการกลายเป็นตะวันตกระหว่างการฟื้นฟูเมจิในปี พ.ศ. 2411 คณะรัฐมนตรีจัดตั้งคณะองคมนตรี ริเริ่มรัฐธรรมนูญเมจิ และเรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ การฟื้นฟูเมจิเปลี่ยนจักรวรรดิญี่ปุ่นให้เป็นมหาอำนาจอุตสาหกรรมซึ่งมุ่งใช้ความขัดแย้งทางทหารเพื่อขยายเขตอิทธิพลของตน หลังคว้าชัยในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2437–2438) และสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2447–2448) ประเทศญี่ปุ่นเข้าควบคุมไต้หวัน เกาหลีและครึ่งใต้ของเกาะซาฮาลิน ประชากรญี่ปุ่นเพิ่มจาก 35 ล้านคนในปี พ.ศ. 2416 เป็น 70 ล้านคนในปี พ.ศ. 2478

สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้ญี่ปุ่นซึ่งอยู่ฝ่ายสัมพันธมิตรผู้ชนะ สามารถขยายอำนาจและอาณาเขตในทวีปเอเชียต่อไปอีก ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีช่วง "ประชาธิปไตยไทโช" (พ.ศ. 2455–2469) แต่คริสต์ทศวรรษ 1920 (ประมาณพุทธทศวรรษ 2460) ประชาธิปไตยที่เปราะบางตกอยู่ภายใต้การเลื่อนทางการเมืองสู่ฟาสซิสต์ มีการผ่านกฎหมายปราบปรามการเห็นต่างทางการเมืองและมีความพยายามรัฐประหารหลายครั้ง "ยุคโชวะ" ต่อมาอำนาจของกองทัพเริ่มเพิ่มขึ้นและนำญี่ปุ่นสู่การขยายอาณาเขตและการเสริมสร้างแสนยานุภาพ ตลอดจนเผด็จการเบ็ดเสร็จและลัทธิคลั่งชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์ฟาสซิสต์ ในปี พ.ศ. 2474 ประเทศญี่ปุ่นบุกครองและยึดครองแมนจูเรีย เมื่อนานาชาติประณามการครอบครองนี้ ประเทศญี่ปุ่นก็ลาออกจากสันนิบาตชาติในปี พ.ศ. 2476[50] ในปี พ.ศ. 2479 ญี่ปุ่นลงนามกติกาสัญญาต่อต้านโคมินเทิร์นกับนาซีเยอรมนี และกติกาสัญญาไตรภาคีในปี พ.ศ. 2483 เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ[51] หลังพ่ายในสงครามชายแดนโซเวียต–ญี่ปุ่นที่กินเวลาสั้น ๆ ประเทศญี่ปุ่นเจรจากติกาสัญญาความเป็นกลางโซเวียต–ญี่ปุ่น ซึ่งกินเวลาถึงปี พ.ศ. 2488 เมื่อสหภาพโซเวียตบุกครองแมนจูเรีย

ระเบิดนิวเคลียร์แฟทแมนที่ถูกทิ้งลงนางาซากิในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488

ในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นได้เสริมสร้างอำนาจทางการทหารให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น หลังจากญี่ปุ่นถูกกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงได้เปิดฉากสงครามในแถบเอเชียแปซิฟิก (ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ สงครามมหาเอเชียบูรพา) ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยการโจมตีฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และการยาตราทัพเข้ามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นดินแดนอาณานิคมของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ ตลอดสงครามครั้งนั้น ญี่ปุ่นสามารถยึดครองประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทั้งหมด แต่หลังจากที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ให้แก่สหรัฐอเมริกาในการรบทางน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกหลังจากยุทธนาวีแห่งมิดเวย์ (พ.ศ. 2485) ญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ยังไม่ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยง่าย เมื่อต้องเผชิญหน้ากับระเบิดปรมาณูของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถูกทิ้งที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ (ในวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ตามลำดับ) และการรุกรานของสหภาพโซเวียต (วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2488) ญี่ปุ่นจึงประกาศยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขในวันที่ 15 สิงหาคม ปีเดียวกัน[52] สงครามทำให้ญี่ปุ่นต้องสูญเสียพลเมืองนับล้านคนและทำให้อุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเสียหายอย่างหนัก ฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลเอกดักลาส แมกอาร์เธอร์เข้ามาควบคุมญี่ปุ่นตั้งแต่หลังสงครามจบ

ปี พ.ศ. 2490 ประเทศญี่ปุ่นเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งเน้นวัตรประชาธิปไตยเสรีนิยม การยึดครองญี่ปุ่นของฝ่ายสัมพันธมิตรสิ้นสุดเมื่อมีการลงนามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกในปี พ.ศ. 2499[53] และญี่ปุ่นได้เป็นสมาชิกสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2499[54] หลังสงคราม ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากจนกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จนถูกประเทศจีนแซงในปี พ.ศ. 2553 แต่การเติบโตดังกล่าวหยุดในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1990 เมื่อญี่ปุ่นประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอย[55] ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 การเติบโตทางบวกส่งสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป[56] วันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ประเทศญี่ปุ่นประสบแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งยังส่งผลให้เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะไดอิชิ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศญี่ปุ่น http://www.usyd.edu.au/news/international/226.html... http://www.asahi.com/english/index.html http://www.bach-cantatas.com/Bio/Ozawa-Seiji.htm http://www.bookrags.com/research/gakureki-shakai-e... http://www.britannica.com/eb/article-9043364?hook=... http://www.britannica.com/nations/Japan http://edition.cnn.com/2008/SHOWBIZ/11/03/ta.midor... http://edition.cnn.com/2009/WORLD/asiapcf/02/16/ja... http://www.country-data.com/cgi-bin/query/r-7176.h... http://www.economist.com/business/displaystory.cfm...