ภูมิศาสตร์ ของ ประเทศฟิลิปปินส์

แผนที่ภูมิประเทศของกลุ่มเกาะฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์เป็นกลุ่มเกาะที่ประกอบด้วยเกาะ 7,641 เกาะ[16] มีเนื้อที่ทั้งหมด (รวมพื้นผิวแหล่งน้ำภายในแผ่นดิน) ประมาณ 300,000 ตารางกิโลเมตร (115,831 ตารางไมล์)[17] ชายฝั่งทะเลยาว 36,289 กิโลเมตร (22,549 ไมล์) ทำให้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีชายฝั่งยาวที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ของโลก[18][19] ฟิลิปปินส์มีที่ตั้งซึ่งกำหนดโดยพิกัดภูมิศาสตร์คือ ระหว่างลองจิจูด 116° 40' ตะวันออก ถึง 126° 34' ตะวันออก กับละติจูด 4° 40' เหนือ ถึง 21° 10' เหนือ มีอาณาเขตจรดทะเลฟิลิปปินทางทิศตะวันออก[20] จรดทะเลจีนใต้ทางทิศตะวันตก[21] และจรดทะเลเซเลบีสทางทิศใต้[22] เกาะบอร์เนียว[23] ตั้งอยู่ห่างออกไปไม่กี่ร้อยกิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และไต้หวันตั้งอยู่ทางทิศเหนือโดยตรง หมู่เกาะโมลุกกะและเกาะซูลาเวซีตั้งอยู่ทางทิศใต้-ตะวันตกเฉียงใต้ และปาเลาตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะ[18]

เกาะต่าง ๆ ซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาส่วนใหญ่มีต้นกำเนิดจากภูเขาไฟและถูกปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น ภูเขาที่สูงที่สุดคือภูเขาอาโป มีความสูงถึง 2,954 เมตร (9,692 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลและตั้งอยู่ที่เกาะมินดาเนา[24][25] ร่องลึกแกละทีอาในร่องลึกฟิลิปปินเป็นจุดที่ลึกที่สุดของประเทศและลึกที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก ร่องลึกดังกล่าวตั้งอยู่ในทะเลฟิลิปปิน[26]

แม่น้ำที่ยาวที่สุดคือแม่น้ำคากายันในภาคเหนือของเกาะลูซอน[27] อ่าวมะนิลา (ชายฝั่งของอ่าวเป็นที่ตั้งของกรุงมะนิลาเมืองหลวง) เชื่อมต่อกับลากูนาเดบาอี (ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในฟิลิปปินส์) ผ่านแม่น้ำปาซิก อ่าวซูบิก อ่าวดาเบา และอ่าวโมโรเป็นอ่าวอื่น ๆ ที่สำคัญ ช่องแคบซันฮัวนีโคแยกเกาะซามาร์และเกาะเลเตออกจากกัน แต่ก็มีสะพานซันฮัวนีโคข้ามเหนือช่องแคบ[28]

เนื่องจากตั้งอยู่บนขอบตะวันตกของวงแหวนไฟแปซิฟิก ฟิลิปปินส์จึงต้องเผชิญกับกิจกรรมแผ่นดินไหวและภูเขาไฟบ่อยครั้ง เนินใต้สมุทรเบ็นนัมในทะเลฟิลิปปิน (ทางทิศตะวันออกของกลุ่มเกาะ) เป็นภูมิภาคใต้สมุทรที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในเขตมุดตัวของเปลือกโลก[29] มีการตรวจพบแผ่นดินไหวประมาณ 20 ครั้งต่อวัน แต่การสั่นสะเทือนส่วนใหญ่เบาเกินกว่าที่มนุษย์จะรู้สึกได้ แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นที่เกาะลูซอนเมื่อปี ค.ศ. 1990[30]

ในฟิลิปปินส์มีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่หลายลูก เช่น ภูเขาไฟมาโยน ภูเขาปีนาตูโบ ภูเขาไฟตาอัล เป็นต้น การปะทุของภูเขาปีนาตูโบในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 ถือเป็นการปะทุที่รุนแรงที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกในคริสต์ศตวรรษที่ 20[31] อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าภูมิลักษณ์ที่โดดเด่นทุกแห่งจะมีความรุนแรงหรือมีอำนาจทำลายล้างเสมอไป มรดกที่สงบเงียบแห่งหนึ่งจากความปั่นป่วนทางธรณีวิทยาคือแม่น้ำใต้ดินปูเวร์โตปรินเซซาซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่สำหรับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ แหล่งมรดกโลกแห่งนี้ยังมีระบบนิเวศจากภูเขาสู่ทะเลที่สมบูรณ์และมีป่าไม้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียอีกด้วย[32]

เนื่องจากธรรมชาติของเกาะต่าง ๆ เป็นภูเขาไฟ ฟิลิปปินส์จึงมีทรัพยากรแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ มีผู้ประมาณว่าประเทศนี้มีแหล่งแร่ทองคำใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 รองจากแอฟริกาใต้ และเป็นแหล่งแร่ทองแดงที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก[33] นอกจากนี้ยังอุดมไปด้วยนิกเกิล โครไมต์ และสังกะสี อย่างไรก็ตาม การจัดการที่ไม่ดี ความหนาแน่นสูงของประชากร และความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมทำให้ยังไม่มีการนำทรัพยากรส่วนใหญ่ขึ้นมาใช้[33] พลังงานความร้อนใต้พิภพเป็นผลผลิตจากกิจกรรมภูเขาไฟที่ฟิลิปปินส์สามารถควบคุมจัดการจนได้ผลสำเร็จมากกว่า โดยในปัจจุบัน ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตพลังงานความร้อนใต้พิภพที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และพลังงานความร้อนใต้พิภพสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 18 ของประเทศ[34]

ความหลากหลายทางชีวภาพ

ทาร์เซียร์ฟิลิปปิน หนึ่งในไพรเมตที่เล็กที่สุด

ป่าดิบชื้นและชายฝั่งทะเลที่กว้างขวางของฟิลิปปินส์ทำให้กลุ่มเกาะนี้เป็นแหล่งรวมนก พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตในทะเลหลากชนิด[35] ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในสิบเจ็ดประเทศของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยิ่ง (megadiverse country)[36][37][38] เราสามารถพบสัตว์บกที่มีกระดูกสันหลังได้ถึงประมาณ 1,100 ชนิด ซึ่งรวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 100 ชนิด และนกกว่า 170 ชนิดที่คาดกันว่าไม่อาศัยอยู่ที่อื่น[39] ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีอัตราการค้นพบสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยมีการค้นพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใหม่ 16 ชนิดในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ อัตราสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่นของฟิลิปปินส์จึงเพิ่มสูงขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มต่อไป[40] ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมพื้นถิ่นฟิลิปปินส์ได้แก่ อีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hermaphroditus) แมวดาววิซายัส (Prionailurus javanensis rabori) พะยูน (Dugong dugon) และทาร์เซียร์ฟิลิปปิน (Tarsius syrichta) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเกาะโบโฮล เป็นต้น

แม้ว่าบนหมู่เกาะฟิลิปปินส์จะไม่มีผู้ล่าเหยื่อเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ แต่ก็มีสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่อยู่บางชนิด เช่น งูเหลือม งูเห่า รวมทั้งจระเข้น้ำเค็มขนาดยักษ์ จระเข้น้ำเค็มในที่เลี้ยงตัวใหญ่ที่สุดในโลกมีชื่อว่า โลลอง ถูกจับได้ในเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศ[41][42]

นกประจำชาติที่รู้จักกันในชื่อนกอินทรีฟิลิปปิน (Pithecophaga jefferyi) มีลำตัวยาวที่สุดในบรรดานกอินทรีชนิดใด ๆ[43][44]

พืดหินปะการังนอกชายฝั่งเกาะเซบู

น่านน้ำอาณาเขตของฟิลิปปินส์ครอบคลุมเนื้อที่กว้างขวางถึง 2,200,000 ตารางกิโลเมตร (849,425 ตารางไมล์) เป็นแหล่งกำเนิดชีวิตในท้องทะเลที่มีลักษณะเฉพาะและมีความหลากหลายอันเป็นส่วนสำคัญของสามเหลี่ยมปะการัง[45] ประมาณกันว่ามีชนิดปะการังและปลาทะเลทั้งสิ้น 500 และ 2,400 ชนิดตามลำดับ[35][39] สถิติใหม่[46][47] และการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่[48][49][50] ได้เพิ่มตัวเลขเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นลักษณะเฉพาะของทรัพยากรทางทะเลในฟิลิปปินส์ได้อย่างชัดเจน พืดหินปะการังตุบบาตาฮาในทะเลซูลูได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 1993 นอกจากนี้ น่านน้ำฟิลิปปินส์ยังเอื้อต่อการเจริญเติบโตของปู หอยมุก และสาหร่ายทะเล[35][51]

ด้วยชนิดพืชประมาณ 13,500 ชนิด ซึ่ง 3,200 ชนิดในจำนวนนี้พบเฉพาะในกลุ่มเกาะนี้เท่านั้น[39] ป่าดิบชื้นของฟิลิปปินส์จึงมีพรรณพืชหลากหลายซึ่งรวมถึงกล้วยไม้และบัวผุดหายากหลายพันธุ์[52][53] การทำลายป่าซึ่งมักเป็นผลจากการทำไม้ผิดกฎหมายถือเป็นปัญหาร้ายแรงของฟิลิปปินส์ พื้นที่ป่าลดลงจากร้อยละ 70 ของพื้นที่บนบกทั้งหมดของประเทศในปี ค.ศ. 1900 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 18.3 ในปี ค.ศ. 1999[54] สิ่งมีชีวิตจำนวนมากตกอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ และมีนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งฟิลิปปินส์) ต้องเผชิญกับอัตราการสูญพันธุ์ที่รุนแรงถึงร้อยละ 20 เมื่อสิ้นสุดคริสต์ศตวรรษที่ 21[55]

ภูมิอากาศ

ไต้ฝุ่นไห่เยี่ยน (ในฟิลิปปินส์เรียกว่า โยลันดา) ขณะมีกำลังแรงสูงสุด

ฟิลิปปินส์อยู่ในเขตภูมิอากาศภาคพื้นสมุทรเขตร้อนซึ่งโดยปกติจะมีอากาศร้อนและชื้น มีฤดูกาล 3 ฤดูกาล ได้แก่ ตักอีนิต (tag-init) หรือ ตักอาเรา (tag-araw) ซึ่งเป็นฤดูร้อนหรือฤดูที่มีอากาศแห้งร้อนตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม ตักอูลัน (tag-ulan) หรือฤดูฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน และ ตักลามิก (taglamig) หรือฤดูที่มีอากาศแห้งเย็นตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นว่า ฮากาบัต (habagat) และลมแห้งของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน) มีชื่อเป็นภาษาท้องถิ่นว่า อามีฮัน (amihan)[56] อุณหภูมิโดยทั่วไปอยู่ในพิสัยตั้งแต่ 21 องศาเซลเซียส (70 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 32 องศาเซลเซียส (90 องศาฟาเรนไฮต์) แต่อาจเย็นหรือร้อนกว่านี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เดือนที่มีอากาศเย็นที่สุดคือเดือนมกราคม ส่วนเดือนที่มีอากาศอบอุ่นที่สุดคือเดือนพฤษภาคม[18][57]

อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ประมาณ 26.6 องศาเซลเซียส (79.9 องศาฟาเรนไฮต์)[56] ทั้งนี้ ทำเลที่ตั้งในแง่ละติจูดและลองจิจูดไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาอุณหภูมิ เพราะไม่ว่าจะอยู่เหนือสุด ใต้สุด ตะวันออกสุด หรือตะวันตกสุดของประเทศ อุณหภูมิที่ระดับน้ำทะเลก็มีแนวโน้มที่จะอยู่ในพิสัยเดียวกัน ระดับความสูงของพื้นที่มักจะส่งผลต่ออุณหภูมิมากกว่า อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีของเมืองบากีโยที่ระดับความสูง 1,500 เมตร (4,900 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลคือ 18.3 องศาเซลเซียส (64.9 องศาฟาเรนไฮต์) ทำให้เมืองนี้เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมในฤดูร้อน[56]

เนื่องจากตั้งอยู่ในแดนไต้ฝุ่น เกาะส่วนใหญ่ของฟิลิปปินส์จึงมีฝนตกกระหน่ำและพายุฟ้าคะนองตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี[58] ในแต่ละปีจะมีไต้ฝุ่นประมาณ 19 ลูกเข้าสู่เขตความรับผิดชอบของสำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ฟิลิปปินส์ โดยมี 8-9 ลูกในจำนวนนี้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง[59][60][61] ปริมาณน้ำฝนรายปีตรวจวัดได้สูงถึง 5,000 มิลลิเมตร (200 นิ้ว) ในเขตชายฝั่งตะวันออกซึ่งมีสภาพเป็นภูเขา แต่น้อยกว่า 1,000 มิลลิเมตร (39 นิ้ว) ในหุบเขาบางแห่งที่มีที่กำบัง[58] พายุหมุนเขตร้อนที่ทำให้ฝนตกมากที่สุดในฟิลิปปินส์เท่าที่ทราบกันคือพายุหมุนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งส่งอิทธิพลให้เกิดฝนตกหนักปริมาณถึง 1,168 มิลลิเมตร (46 นิ้ว) ภายในเวลา 24 ชั่วโมงที่เมืองบากีโย[62] อนึ่ง บักโย (bagyo) เป็นคำในภาษาฟิลิปปินส์ที่ใช้เรียกพายุหมุนเขตร้อน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศฟิลิปปินส์ http://crocodilian.blogspot.com.au/2011/11/accurat... http://www.environment.gov.au/soe/2001/publication... http://www.wiki.answers.com/Q/FAQ/2802 http://www.atimes.com/atimes/Southeast_Asia/HE10Ae... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/456399/P... http://www.businessinsider.com/goldmans-world-gdp-... http://www.businessinsider.com/these-economies-wil... http://www.cebucitytour.com/about-cebu/history/ http://www.cityofpines.com/ http://www.cityofpines.com/baguioquake/quake.html