นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ ของ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ก่อนปี ค.ศ. 1980 นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์ยึดหลักการ 4 ประการ คือ ความเป็นกลาง (neutrality) ความมีน้ำหนึ่งใจเดียว (solidarity) ความเป็นสากล (universality) และความเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (availability) ต่อมาเมื่อกิจการต่างประเทศเริ่มมีส่วนเกี่ยวพันกับกิจการสาขาอื่น ๆโดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเงิน สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย และการที่โลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์และหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ได้เริ่มมีบทบาทในกิจการต่างประเทศมากขึ้น ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการต่างประเทศ และได้จัดทำสมุดปกขาวว่าด้วยนโยบายต่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในศตวรรษที่ 90 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลในปี ค.ศ. 1993นโยบายต่างประเทศของสวิตเซอร์แลนด์สำหรับปี 2545 สรุปได้ดังนี้

การเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

สวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญลำดับแรกต่อการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญขององค์การสหประชาชาติ ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งสี่พรรค ได้ให้ความเห็นชอบต่อการเข้าเป็นสมาชิกดังกล่าว และได้จัดการลงประชามติทั่วประเทศในวันที่ 3 มีนาคม 2545 โดยก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1986 รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่ประชาชนสวิสส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเกรงจะเสียความเป็นกลางซึ่งเป็นนโยบายหลักของประเทศตลอดมา แต่ในการลงประชามติเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 2002เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนสวิสและเสียงส่วนใหญ่ของรัฐ (Canton) ได้ลงมติให้ความเห็นชอบการเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของสมาพันธรัฐสวิส โดยผู้ลงมติเห็นด้วยคิดเป็นร้อยละ 54.61 ผู้ลงมติไม่เห็นด้วยร้อยละ 45.39 และรัฐ (Canton) ที่เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยมีจำนวน 12 รัฐ จากจำนวนรัฐ ทั้งหมด 23 รัฐ การลงประชามติครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิร้อยละ 57.7 ทั้งนี้ สมาพันธรัฐสวิสได้ยื่นใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติอย่างเป็นทางการและได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติในช่วงการประชุมสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 57 ในเดือนกันยายน ค.ศ. 2002

การเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรป

รัฐบาลสวิสชุดปัจจุบันได้ประกาศเป็นนโยบายแน่ชัดที่จะเข้าไปมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้มากขึ้น อาทิ การจะเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และการพยายามจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เนื่องจากเห็นว่า สวิตเซอร์แลนด์จะไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้อีกต่อไป ในปีค.ศ. 1992 สวิตเซอร์แลนด์ได้จัดการลงประชามติเกี่ยวกับการเข้าเป็นสมาชิกเขตการค้าเสรียุโรป (European Economic Area) แต่ไม่ได้รับความเห็นชอบ รัฐบาลจึงหาทางออกโดยการเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1994 เพื่อทำความตกลงทวิภาคีใน 7 สาขา คือ การเคลื่อนย้ายบุคคลและแรงงานเสรี การวิจัย การขนส่งทางบก การบิน การเปิดเสรีทางการค้า การให้สิทธิภาคเอกชนของประเทศสหภาพยุโรปและ

สวิตเซอร์แลนด์เข้าไปประมูลหรือดำเนินกิจกรรมที่เป็นการจัดซื้อโดยรัฐในอีกประเทศหนึ่งได้เท่าเทียมคนชาติ การลดอุปสรรคการค้าระหว่างกัน และเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1999 สวิตเซอร์แลนด์และสหภาพยุโรปได้ลงนามความตกลงดังกล่าวซึ่งสภาแห่งชาติของสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้สัตยาบันความตกลงฯ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1999 และผ่านการลงประชามติจากประชาชนร้อยละ 62.7 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 2000 รวมทั้งได้ผ่านการให้สัตยาบันจากรัฐสภาเบลเยี่ยมเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประเทศสุดท้ายแล้วเมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2001 ซึ่งหลังจากนั้น รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มการเจรจาทวิภาคีกับสหภาพยุโรปอีก 10 สาขา คือ การบริการ การจ่ายเงินบำนาญ การแปรรูปสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อม สถิติ การศึกษา กิจการเยาวชน บัญชีเงินฝากธนาคาร ความร่วมมือเพื่อต่อต้านการฉ้อโกง และความร่วมมือด้านการศาสนา กิจการตำรวจและการอพยพย้ายถิ่นฐานอย่างไรก็ตาม มีกระแสเรียกร้องให้เปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปโดยทันทีเพื่อเร่งรัดการเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งรัฐบาลสวิสไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ เนื่องจากเห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์จะพร้อมเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปในช่วงระหว่างปี 2004-2007 และอาจพร้อมที่จะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหลังปี 2010 แต่เมื่อมีประชาชน 100,000 คน เข้าชื่อเรียกร้องให้จัดการลงประชามติรัฐบาลสวิสก็ได้จัดการลงประชามติขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2001 ผลปรากฏว่าประชาชนกว่าร้อยละ 76.7ลงคะแนนไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้สนับสนุนการเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรป จะเป็นชาวสวิสในเขตสวิสฝรั่งเศส ในขณะที่ชาวสวิสเยอรมันเกินร้อยละ 85 ลงคะแนนไม่เห็นด้วย

ความสัมพันธ์ทวิภาคีสวิตเซอร์แลนด์กับประเทศเอเชีย-แปซิฟิก

รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเอเชียแปซิฟิกทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และได้เริ่มมิติใหม่ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านเทคโนโลยี แต่ นาย Deissได้ยอมรับว่ารัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์มีบทบาทแข็งขันในการช่วยเหลือพัฒนาประเทศเอเชียใต้ เช่น ปากีสถานเนปาล ภูฐาน อินเดีย บังคลาเทศ และเอเชียกลาง เช่น คีร์กิซสถาน ซึ่งความช่วยเหลือส่วนใหญ่จะทำในกรอบความร่วมมือพหุภาคีภายใต้องค์การระหว่างประเทศ และมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ (pool of experts) กว่า 600 คน ซึ่งพร้อมจะเดินทางไปให้ความร่วมมือช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีสำหรับอัฟกานิสถานนั้น สวิตเซอร์แลนด์เข้าไปมีบทบาททั้งในการเจรจาด้านการเมืองและได้มอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์การกาชาดสากล (ICRC) เป็นมูลค่ากว่า 17 ล้านฟรังค์สวิสในปี ค.ศ. 2001 โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศและการยกระดับความเป็นอยู่ของสตรี แต่จะไม่เข้าร่วมในกองกำลังรักษาสันติภาพ และในครึ่งแรกของปี ค.ศ. 2002 สวิตเซอร์แลนด์กำหนดจะเปิดสำนักงานติดต่อ (coordination Office) ที่กรุงคาบูล แต่ในขณะนี้ยังใช้ช่องทางการติดต่อผ่านสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจำปากีสถาน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ http://www.bfs.admin.ch http://www.bfs.admin.ch/bfs/portal/de/index/news/0... http://www.bfs.admin.ch/bfs/portal/en/index/themen... http://www.admin.ch/index.html?lang=en http://www.hls-dhs-dss.ch/textes/d/DD48664.php http://www.hls-dhs-dss.ch/textes/f/FD48664.php http://www.hls-dhs-dss.ch/textes/i/ID48664.php http://www.nzz-libro.ch/handbuch-der-schweizer-pol... http://www.oefre.unibe.ch/law/icl/sz00000_.html http://flickr.com/photos/tags/switzerland/clusters...