เศรษฐกิจ ของ ประเทศอินโดนีเซีย

จาการ์ตาในปี พ.ศ. 2551 ในภาพเห็นอาคารวิซมา 46 ตึกระฟ้าที่สูงที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศ ตั้งอยู่ใจกลางย่านเศรษฐกิจของเมือง

เศรษฐกิจของอินโดนีเซียเป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมน้ำมันเป็นแหล่งสำคัญที่สุดในการทำรายได้ให้อินโดนีเซีย นับแต่ยุคหลังได้รับเอกราชตลอดมา ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้นำรายได้มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่งและการคมนาคมสร้างฐานอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนสูง มุ่งหวังสร้างความแข็งแกร่งให้กับการอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในตลาดโลกในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2523 – 2527 ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอินโดนีเซีย รัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตเพื่อลดการพึ่งพา รายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ แร่โลหะที่มีค่า สินค้าอุตสาหกรรม ต่าง ๆ รวมทั้งพัฒนาภาคเกษตรกรรมเพื่อเพิ่มผลผลิต ทำให้อินโดนีเซียมีข้าวเพียงพอสำหรับเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องนำเข้าอีกต่อไป ยกเว้นบางปีที่ผลผลิตข้าวไม่ดี ขณะเดียวกันรายได้จากการ ส่งออกสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่ใช่น้ำมันและก๊าซธรรมชาติก็เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะสินค้า อุตสาหกรรมได้กลายเป็นสินค้าออกที่สำคัญในปัจจุบัน โดยคิดเป็นร้อยละ 75 ของสินค้าออก ทั้งหมด

ในด้านอุตสาหกรรม อินโดนีเซียได้พัฒนาอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ อาทิ อุตสาหกรรมต่อเรือที่จาการ์ตา สุราบายา เซอมารัง และอัมบอยนา อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ชนิดต่าง ๆ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมกระจก

เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเรื่องเศรษฐกิจการค้า การเงิน การธนาคาร และการลงทุน เพื่อให้มีความเสรีและสะดวก ยิ่งขึ้น การผ่อนคลายรูปแบบของเศรษฐกิจที่มีรัฐควบคุมอยู่มาก เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกิจการหลาย ๆ ภาคที่เคยจำกัดไว้ รวมทั้งด้านสาธารณูปโภค อาทิ การพัฒนาแหล่งพลังงานไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม เป็นต้น

ดังนั้น เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจึงมีการขยายตัวและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความมั่นคงทางการเมือง ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และค่าจ้างแรงงานไม่สูงมาก ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนต่อการลงทุนของต่างชาติ อย่างไรก็ตาม การประกอบการที่ดำเนินแต่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ การกู้ยืมเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากภายนอกเพื่อลงทุนในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ การผลิตและประกอบการที่ไม่มีการแข่งขันเนื่องจากได้รับการคุ้มครองจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตประเทศอื่นได้

การไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการโยกย้ายเงินทุน การโจมตีค่าเงินในภูมิภาค หนี้สินต่างประเทศ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเอเชีย รวมทั้งในอินโดนีเซียในช่วงปี พ.ศ. 2540 – 2541 ก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งอินโดนีเซียต้องพึ่งพากู้เงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก

สินค้าออกที่สำคัญของอินโดนีเซีย นอกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้ว ได้แก่ ไม้อัดพลายวูด เสื้อผ้า ผ้าผืน ยางแปรรูป รองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ สินแร่โลหะและผลิตผลทางการเกษตร ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วน สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และเกาหลีใต้

การคมนาคม

รถโดยสารสาธารณะทรานส์จาการ์ตา เข้าเทียบท่าที่ป้ายรถประจำทางบนช่องทางเดินรถพิเศษ

การคมนาคมในอินโดนีเซียได้รับอิทธิพลจากทรัพยากรและประชากรของชาติหมู่เกาะนี้ โดยเฉพาะการขนส่งประชากรกว่า 250 ล้านคน แค่เฉพาะบนเกาะชวาอย่างเดียว[2] การขนส่งในประเทศมีแนวโน้มจะเป็นแบบเกื้อกูลช่วยเหลือกันมากกว่าเป็นการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจ ในปี 2016 เม็ดเงินจากการคมนาคมขนส่งอย่างเดียวคิดเป็น 5.2% ของจีดีพี[3]

ระบบถนนทั้งประเทศมีความยาวรวม 537,838 กิโลเมตร (334,197 ไมล์) (2016)[4] โดยจาการ์ตามีระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษที่ขึ้นชื่อว่ามีเส้นทางเดินรถยาวที่สุดในโลก "ทรานส์จาการ์ตา" (TransJakarta)ด้วยระยะทาง 230.9 กิโลเมตร (143.5 ไมล์) ใน 13 สายที่วิ่งจนถึงชานเมืองจาการ์ตา[5] รถสามล้อ เช่น bajaj, becak และแท็กซี่แบบแบ่งกัน (share taxi) เช่น Angkot และ Metromini เป็นรูปแบบการขนส่งท้องถิ่นที่พบได้ทั่วไปในประเทศ ระบบการขนส่งทางรางส่วนมากกระจุกตัวอยู่ในชวา ทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า สำหรับรถไฟฟ้าและโมโนเรลกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในจาการ์ตาและปาเล็มบัง ภายใต้ชื่อ MRT และ LRT[6][7] นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงซึ่งประกาศในปี 2015 ถือเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้[8]

เครื่องบินของการูดาอินโดนีเซียที่ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา

ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซียคือ ท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน-ฮัตตา ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารผ่านเข้าออกมากที่สุดในซีกโลกใต้ ราว 63 ล้านคน ในปี 2017[9] โดยมีท่าอากาศยานนานาชาติงูระฮ์ ไร และ ท่าอากาศยานนานาชาติจ็วนดา มีผู้โดยสารเข้าออกมากที่สุดรองลงมาตามลำดับ สายการบินประจำชาติ "การูดาอินโดนีเซีย" เปิดตัวในปี 1949 ในปัจจุบันสายการบินชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก และเป็นสมาชิกของสกายทีม ส่วนการคมนาคมทางน้ำมีท่าเรือตันจัง ปริอ็อก เป็นท่าสำคัญที่มีการใช้งานเยอะที่สุดและขึ้นชื่อว่าทันสมัยที่สุดในประเทศ[10] รองรับการขนส่งสินค้ามากกว่า 50% ของการขนส่งทางเรือทั้งหมดของประเทศ

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกการปล่อยดาวเทียมปาลาปา

งบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของชาติถือว่าต่ำ น้อยกว่า 0.1% ของจีดีพีในปี 2017[11] อินโดนีเซียจึงถือว่าไม่ใช่ประเทศที่เป็นผู้นำด้านนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามอินโดนีเซียมีภูมิปัญญาพื้นบ้านอันช่วยให้การดำรงชีวอตขแงชาวพื้นเมืองสะดวกสบสยขึ้นและเป็นที่น่าสนใจมากมาย โดยเฉพาะภูมิปัญญาพื้นบ้านในการสร้างนาขั้นบันไดที่เรียกว่า เตอราเซอร์ และเรือไม้ของชาวบูกิสและชาวมากัสซาร์ ที่เรียกว่าเรือ "ปีนีซี"[12]

อินโดนีเซียเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีการพัฒนาและคิดค้นอากาศยานในการทหารเป็นของตนเองมาเป็นเวลานาน ในปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียยังเป็นผู้นำในการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ส่งออกให้กับโบอิ้ง และ แอร์บัส[13][14] อินโดนีเซียยังเคยเข้าร่วมโครงการของเกาหลีใต้ในการคิดค้นและสร้างเครื่องบินเจ็ตไล่ล่า รุ่นที่ 5 KAI KF-X.[15]

อินโดนีเซียยังมีโครงการและหน่วยงานด้านอวกาศของตนเอง สถาบันด้านการบินและอวกาศแห่งชาติ (Lembaga Penerbangan dan Antariksa Nasional, LAPAN) ซึ่งในราวทศวรรศปี 1970 อินโดนีเซียเป็นชาติกำลังพัฒนาชาติแรกที่ได้ส่งระบบดาวเทียมขึ้นไปโคจร ชื่อว่าปาลาปา[16] อันเป็นกลุ่มดาวเทียมสื่อสารที่อินโดแซต อูเรอดู เป็นเจ้าของ ดาวเทียมดวงแรกของโครงการ ปาลาปา เอ 1 ได้ถูกส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 1976 จากศูนย์อวกาศเคนเนดีในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา[17] จนถึงปัจจุบันมีดาวเทียมกลุ่มปาลาปา รวม 16 ดวงที่ถูกส่งไปโคจร[18] และ LAPAN ยังยืนยันไม่หยุดพัฒนาเท่านี้ และแสดงเจตจำนงที่จะส่งดาวเทียมจากฐานในประเทศภายในปี 2040[19]

การท่องเที่ยว

บุโรพุทโธ แหล่งมรดกโลกและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในยกยาการ์ตา

รายได้จากภาคการท่องเที่ยวคิดเป็น 28.2 พันล้าน ดอลล่าร์สหรัฐ[20] ในปี 2017 อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวจำนวน 14.04 ล้านคน เพิมขึ้นราว 21.8% จากปี 2016[21] โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินราว 2,009 ดอลล่าร์สหรัฐต่อคน นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักได้แก่ชาวจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลย และญี่ปุ่น ตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2011 กระทรวงการท่องเที่ยว (อินโดนีเซีย) ได้ประกาศสโลแกนการท่องเที่ยวคือ อินโดนีเซียมหัศจรรย์ (Wonderful Indonesia) ซึ่งยังคงใช้มาจนปัจจุบัน[22] สถานที่ท่องเที่ยวในอินโดนีเซียมีทั้งเชิงสิ่งแวดล้อม เช่น ชายหาดและทะเลที่ขึ้นชื่อและป่าดงดิบจำนวนมากทั่วประเทศ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่นแหล่งมรดกโลกสำคัญ อย่าง บุโรพุทโธ และ ปรัมบานัน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศอินโดนีเซีย http://www.britannica.com/EBchecked/topic/286480/I... http://edition.cnn.com/travel/article/world-best-f... http://www.kastenmarine.com/phinisi_history.htm http://properti.kompas.com/read/2016/10/22/1623552... http://www.thejakartapost.com/news/2010/01/30/habi... http://www.thejakartapost.com/news/2011/01/06/tour... http://www.thejakartapost.com/news/2014/02/10/cele... http://www.thejakartapost.com/news/2018/02/01/bps-... http://www.thejakartapost.com/news/2018/04/11/soek... http://ucblibraries.colorado.edu/govpubs/for/indon...