การปกครอง ของ ประเทศไต้หวัน

การปกครองสาธารณรัฐจีนนั้นสถาปนาขึ้นตามรัฐธรรมนูญและลัทธิไตรราษฎร์ซึ่งระบุว่า สาธารณรัฐจีน "เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยของประชาชน ปกครองโดยประชาชน และเป็นไปเพื่อประชาชน"[22]

การปกครองนั้นแบ่งออกเป็น 5 ฝ่าย เรียกว่า "สภา" (yuan) คือ สภาบริหาร (Executive Yuan) ได้แก่ คณะรัฐมนตรีและฝ่ายบริหารทั้งสิ้น, สภานิติบัญญัติ (Legislative Yuan), สภาตุลาการ (Judicial Yuan), สภาควบคุม (Control Yuan) เป็นฝ่ายตรวจสอบ, และสภาสอบคัดเลือก (Examination Yuan) มีหน้าที่จัดสอบคัดเลือกข้าราชการ

บริหาร

ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน

ประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐและเป็นจอมทัพกองทัพสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อยู่ในตำแหน่งวาระ 4 ปี ไม่เกิน 2 วาระ มาและไปพร้อมกับรองประธานาธิบดี ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ ไช่ อิงเหวิน เธอเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨) คนปัจจุบัน และเป็นตัวแทนของพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ตำแหน่งซึ่งเธอพลาดไปในการเลือกตั้งปีเมื่อปี 2012 นอกจากนี้ เธอยังเคยเป็นหัวหน้าพรรคมาแล้วหนึ่งสมัยในช่วงปี 2008 ถึง 2012

ประธานาธิบดีมีอำนาจเหนือสภาบริหาร เพราะแต่งตั้งสมาชิกสภาบริหาร ซึ่งรวมถึง นายกรัฐมนตรี ผู้เป็นประธานสภาบริหารโดยตำแหน่ง ส่วนสมาชิกสภาบริหารนั้นรับผิดชอบนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน[22]

นิติบัญญัติ

สภานิติบัญญัตินั้นใช้ระบบสภาเดียว มีสมาชิก 113 คน 73 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยระบบแบ่งเขต 34 คนมาจากการเลือกตั้งของพรรคการเมืองตามระบบสัดส่วน ที่เหลือ 6 คนนั้นมาจากการเลือกตั้งตามเขตชนพื้นเมือง 23 เขต สมาชิกสภานิติบัญญัติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ก่อนยังมีสมัชชาแห่งชาติทำหน้าที่เป็นคณะผู้เลือกตั้งและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีอำนาจนิติบัญญัติบางประการด้วย แต่ภายหลังสมัชชานี้ยุบเลิกไปในปี 2005 อำนาจหน้าที่ของสมัชชาก็โอนต่อไปยังสภานิติบัญญัติและผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งแสดงออกด้วยประชามติแทน[22]

นายกรัฐมนตรีมาจากการสรรหาของประธานาธิบดี โดยไม่จำต้องได้รับความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ ขณะเดียวกัน สภานิติบัญญัติสามารถออกกฎหมายโดยไม่ต้องคำนึงประธานาธิบดี ส่วนประธานาธิบดีก็ดี นายกรัฐมนตรีก็ดี ไม่มีอำนาจยับยั้งร่างกฎหมายทั้งสิ้น[22] ฉะนั้น จึงมีน้อยครั้งที่ประธานาธิบดีและสภานิติบัญญัติจะเจรจากันเกี่ยวกับร่างกฎหมายในยามที่เห็นแย้งกัน[23]

ตามประวัติศาสตร์แล้ว สาธารณรัฐจีนมีผู้ปกครองจากพรรคการเมืองที่เข้มแข็งอยู่พรรคเดียวมาตลอด ทั้งรัฐธรรมนูญก็มิได้จำกัดอำนาจของประธานาธิบดีได้โดยแจ้งชัด เป็นเหตุให้อำนาจบริหารตกอยู่ในเงื้อมมือของประธานาธิบดียิ่งกว่านายกรัฐมนตรี[24]

ตุลาการ

สำหรับฝ่ายตุลาการนั้น สภาตุลาการเป็นองค์กรสูงสุด มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และกฎ กับทั้งพิจารณาคดีทุกประเภท ไม่ว่าคดีปกครอง คดีรัฐธรรมนูญ หรือคดีอื่น ๆ ประธานสภาตุลาการ รองประธานสภาตุลาการ และตุลาการอื่นอีก 13 คน ประกอบกันเป็น "ที่ประชุมใหญ่ตุลาการ" (Council of Grand Justices)[25] ตุลาการ ณ ที่ประชุมใหญ่เหล่านี้มาจากการเสนอชื่อและแต่งตั้งของประธานาธิบดีเมื่อได้รับความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ[22]

ศาลชั้นสูงสุดของประเทศ คือ ศาลสูงสุด (Supreme Court) ประกอบด้วย แผนกคดีแพ่งและคดีอาญาจำนวนหนึ่ง แต่ละแผนกมีตุลาการหัวหน้าแผนก 1 คน กับตุลาการสมทบอีก 4 คน ทั้ง 5 คนนี้อยู่ในตำแหน่งโดยไม่มีวาระกำกับ อนึ่ง เคยมีการตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นเอกเทศในปี 1993 เพื่อจัดการข้อพิพาทบางประการในทางรัฐธรรมนูญ รวมถึงจัดระเบียบพรรคการเมือง และเร่งรัดกระบวนการประชาธิปไตย[22]

สาธารณรัฐจีนไม่ใช้ลูกขุน แต่สิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอันเป็นธรรมนั้นได้รับความคุ้มครองอย่างเคร่งครัดทั้งในทางกฎหมายและทางปฏิบัติ คดีบางประเภทให้ตุลาการมากคนพิจารณาก็มี[22]

โทษประหารยังคงใช้อยู่ในสาธารณรัฐจีน แต่ฝ่ายปกครองพยายามลดการประหารลงให้ได้ กระนั้น ในปี 2006 มีการสำรวจและพบว่า ชาวสาธารณรัฐจีนกว่าร้อยละ 80 ประสงค์ให้รักษาโทษประหารไว้[26]

อื่น ๆ

สำหรับสภาที่เหลือ คือ สภาควบคุม และสภาสอบคัดเลือกนั้น สภาควบคุมมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบสภาอื่น ๆ บางทีทำหน้าที่เป็นองค์คณะไต่สวนคดีปกครองด้วย อาจเทียบได้กับศาลตรวจสอบ (Court of Auditors) ของสหภาพยุโรป หรือสำนักงานเพื่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาล (Government Accountability Office) ในสหรัฐอเมริกา[22]

ส่วนสภาสอบคัดเลือกรับผิดชอบการตรวจสอบคุณสมบัติของข้าราชการ วิธีสอบคัดเลือกยังคงเน้นตามการสอบขุนนางของจีนโบราณ สภานี้อาจเทียบได้กับสำนักงานสรรหาบุคลาการยุโรป (European Personnel Selection Office) ของสหภาพยุโรป หรือสำนักงานบริหารจัดการบุคลากร (Office of Personnel Management) ของสหรัฐอเมริกา[22]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศไต้หวัน http://palaeoworks.anu.edu.au/pubs/Birdetal04.pdf http://www.britannica.com/EBchecked/topic/580902/T... http://forums.chinatimes.com/report/goldfile/serie... http://www.govivigo.com/trips/18-%E0%B9%80%E0%B8%9... http://afs.sagepub.com/content/29/1/57 http://www.taipeitimes.com/News/editorials/archive... http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/20... http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/20... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1876738 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17160892