ประวัติ ของ ปารีส

ดูบทความหลักได้ที่ : ประวัติศาสตร์ปารีส

ยุคเริ่มต้น

หลักฐานทางโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานบริเวณปารีสตั้งแต่ 4,200 ปีก่อนคริสต์ศักราชคือพวกปาริซี่ ซึ่งเป็นเผ่าย่อยของพวกเซลติกซีนอนส์ โดยเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ชำนาญทางเรือและการค้าขาย ได้อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำแซนตั้งแต่ 250 ปีก่อนคริสต์ศักราชเป็นต้นมา ต่อมาพวกโรมันได้ชัยชนะยึดครองที่ราบลุ่มปารีสใน 52 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรในตอนปลายของศตวรรษเดียวกันบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน, เนินเขาแซนต์-เชอเนอวีแอฟและเกาะอีล เดอ ลา ซิเต้ เมืองดังกล่าวนี้เดิมเรียกว่า "ลูเทเชีย" (Lutetia) แต่ต่อมาได้ทำให้เป็นชื่อในภาษาโกลเป็น "ลูแตส" (Lutèce) ตัวเมืองได้ขยายอย่างรวดเร็วในศตวรรษต่อ ๆ มาและกลายเป็นเมืองที่ร่ำรวย เต็มไปด้วยตลาด ราชวัง อ่างอาบน้ำ วัดวาอาราม โรงละครและโรงมหรสพใหญ่ เมื่อจักรวรรดิโรมันล่มสลายและการบุกของเยอรมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3 ทำให้ "ลูแตส" อยู่ในช่วงตกต่ำและทรุดโทรม ในปี พ.ศ. 943 พลเมืองจำนวนมากได้อพยพออกจากเมืองลูแตส และหลังการยึดครองอีกครั้งหนึ่งของพวกโรมัน เมือง "ลูแตส" ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ปารีส"

ยุคกลาง

ปราสาทลูฟร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 15

ประมาณปี พ.ศ. 1043 ปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงของกษัตริย์โกลวิสที่ 1 แห่งแฟรงค์ เมื่อโกลวิสที่ 1 ได้สวรรคตลง อาณาจักรแฟรงค์ได้ถูกแบ่งออก และปารีสได้กลายเป็นเมืองหลวงของรัฐอิสระขนาดเล็ก ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9 สมัยราชวงศ์กาโรแล็งเชียง เมืองปารีสได้กลายเป็นเขตฐานกำลังของพวกศักดินา เค้านต์แห่งปารีสมีอำนาจมากขึ้น จนกระทั่งมีอำนาจมากกว่ากษัตริย์แห่งแฟรงค์ตะวันตก (Francie occidentale) เสียด้วยซ้ำไป เค้านต์แห่งปารีสนามว่า "โอโด" (Odo) ได้ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์แทนชาร์ลส์ที่ 3 (ชาร์ลส์ อ้วน - Charles III le Gros) เนื่องจากชื่อเสียงอันโด่งดังของเขาที่ได้ป้องกันเมืองปารีสจากการโจมตีของพวกไวกิง (ศึกปารีส (พ.ศ. 1428 - พ.ศ. 1429)) แม้ว่าอีล เดอ ลา ซิเต้จะรอดจากการโจมตีของพวกไวกิง แต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนที่ไม่มีการป้องกันก็ถูกทำลายอย่างย่อยยับ และแทนที่จะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน ชาวปารีสได้เริ่มที่จะขยายตัวเมืองไปทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำแซนแทน ในปี พ.ศ. 1530 อูช กาเปต์ (Hugh Capet) เค้านท์แห่งปารีสได้ถูกเลือกให้กลายเป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส เป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์กาเปเตียงและทำให้เมืองปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศส

ตั้งแต่ พ.ศ. 1733 พระเจ้าฟิลิปที่ 2 (Philippe Auguste) ได้สร้างกำแพงเมืองล้อมรอบปารีสโดยมีลูฟร์เป็นป้อมปราการฝั่งตะวันตกและต่อมาในปี พ.ศ. 1743 ได้ตั้งมหาวิทยาลัยปารีสขึ้นมาซึ่งทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามายังปารีสเป็นจำนวนมาก ในช่วงนี้เองที่เมืองปารีสได้พัฒนาในหลาย ๆ ด้านซึ่งในปัจจุบันยังมีให้เห็นเช่น เกาะ (อีล เดอ ลา ซิเต้) เป็นที่ตั้งรัฐบาลและสถาบันสอนศาสนา ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซนเป็นที่ตั้งสถาบันทางการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน ฯลฯ ส่วนทางฝั่งขวาของแม่น้ำแซนเป็นที่ตั้งของการค้าขายและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของปารีส เช่น ตลาดเลส์ อาลส์ (Les Halles)

ปารีสไม่ได้เป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสหลังจากถูกโจมตีโดยพันธมิตรของประเทศอังกฤษคือพวกบูร์กงด์ (Burgondes) ในสงครามร้อยปี แต่ก็กลับมาเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 1980 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7 (Charles VII, le Victorieux) สามารถยึดกรุงปารีสกลับคืนมา แม้ว่ากรุงปารีสเป็นเมืองหลวงของประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 7ก็ตัดสินใจที่จะประทับ ณ ปราสาทหุบเขาลัวร์ ต่อมาในช่วงสงครามศาสนาของฝรั่งเศส (Guerres de religion) กรุงปารีสเป็นฐานกำลังหลักของพวกคริสต์นิกายคาทอลิก โดยรุนแรงสุดในเหตุการณ์โศกนาฏกรรมวันแซงต์-บาร์เตเลมี (Massacre de la Saint-Barthélemy) ในปี พ.ศ. 2115 ต่อในปี พ.ศ. 2137 พระเจ้าอองรีที่ 4 ได้ก่อตั้งราชสำนักในกรุงปารีสอีกครั้งหนึ่งหลังจากยึดเมืองมาจากพวกคาทอลิก ระหว่างสงครามกลางเมืองฟรงด์ (Fronde) ชาวปารีสได้ลุกฮือขึ้นประท้วงและก่อการจลาจล ซึ่งเป็นสาเหตุให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งหลาย หลบหนีออกจากกรุงปารีสในปี พ.ศ. 2191 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ย้ายราชสำนักอย่างถาวรไปยังแวร์ซายส์ในปี พ.ศ. 2225 ศตวรรษต่อมากรุงปารีสเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการทลายคุกบัสตีย์ในปี พ.ศ. 2332 และล้มระบอบกษัตริย์ในปี พ.ศ. 2335

คริสต์ศตวรรษที่ 19

การปฏิวัติอุตสาหกรรม จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 และยุคสวยงาม (Belle Époque) ช่วยนำพากรุงปารีสไปสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1840 เป็นต้นมา การเดินทางโดยรถไฟทำให้มีประชากรจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามายังกรุงปารีสเพื่อมาทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กรุงปารีสได้ผ่านการบูรณะครั้งยิ่งใหญ่ภายใต้การปกครองของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3และบารงโอสส์มันน์ ซึ่งได้เปลี่ยนถนนเล็ก ๆ ในยุคกลางจนกลายเป็นถนนขนาดกว้างและมีตึกรามบ้านช่องร่วมสมัยจำนวนมากมาย การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้กรุงปารีสมีความสวยงามและความสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ถึงกระนั้นก็มีประโยชน์ถ้าเกิดมีเหตุการณ์ปฏิวัติหรือเหตุการณ์รุนแรง เพราะกองทหารม้าและปืนไรเฟิลสามารถต่อกลอนกับกลุ่มพวกจลาจล ในขณะที่กลยุทธ์ในการซุ่มโจมตีหรือสกัดกั้นที่ใช้มากในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสจะเป็นการล้าสมัย

ในปี พ.ศ. 2375 และ พ.ศ. 2392 อหิวาตกโรคระบาดพลเมืองชาวปารีส แค่การระบาดในปี พ.ศ. 2375 เท่านั้นก็มีผู้ป่วยกว่า 20,000 คนจากประชากร 650,000 ในขณะนั้น กรุงปารีสยังได้เสียหายครั้งยิ่งใหญ่หลังจากสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2414), การโค่นล้มจักรพรรดินโปเลียนที่ 3, เทศบาลปารีส (La Commune de Paris - พ.ศ. 2414) ได้ทำให้กรุงปารีสลุกเป็นไฟหลังจากการต่อสู้กันระหว่างเทศบาลกับรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "สัปดาห์แห่งเลือด" (Semaine sanglante)

กรุงปารีสได้กลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะจัดงานนิทรรศการนานาชาติ 1889 (พ.ศ. 2432) ทั้งนี้ได้มีการสร้างหอไอเฟลเพื่อเฉลิมฉลองการปฏิวัติฝรั่งเศสครบรอบ 100 ปี เพื่อแสดงถึงศักยภาพของประเทศฝรั่งเศสในด้านวิศวกรรมศาสตร์แค่ "ชั่วคราว" เท่านั้น ซึ่งสิ่งก่อสร้างชิ้นนี้ได้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกจนถึงปี พ.ศ. 2473 และกลายเป็นสัญลักษณ์ของกรุงปารีสไปโดยปริยาย ส่วนงานนิทรรศการนานาชาติ 1900 (พ.ศ. 2443) ได้มีการเปิดตัวรถไฟฟ้าปารีสเป็นครั้งแรก หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดนิทรรศการและงานแสดงสินค้าต่าง ๆ มากมายซึ่งทำให้กรุงปารีสเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและดึงดูดชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากทั้งในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี

คริสต์ศตวรรษที่ 20

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 กรุงปารีสได้อยู่ในแนวหน้าของการรบ โดยรอดจากการโจมตีของเยอรมนีไปได้ที่สงครามแห่งมาร์นในปี พ.ศ. 2457 ในช่วงปี พ.ศ. 2461 - พ.ศ. 2462 กรุงปารีสได้กลายเป็นที่สวนสนามแห่งชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรและเป็นที่เจรจาสันติภาพอีกด้วย ในช่วงระหว่างสงคราม กรุงปารีสได้มีชื่อเสียงจากศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ และชีวิตยามค่ำคืน เมืองนี้ได้กลายเป็นศูนย์รวมของจิตรกรชื่อดังทั่วโลก ตั้งแต่นักประพันธ์ชาวรัสเซีย สตราวินสกี จิตรกรชาวสเปน ปีกัสโซและดาลีจนถึงนักประพันธ์ชื่อดังชาวอเมริกันอย่างเฮมิงเวย์ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2483 5 สัปดาห์หลังจากการเริ่มต้นของสงครามแห่งฝรั่งเศส กรุงปารีสได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพนาซีเยอรมันจนกระทั่งการปลดปล่อยปารีสในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 2 เดือนหลังจากการบุกนอร์มองดีของฝ่ายสัมพันธมิตร

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในกรุงปารีส โดยข้างหลังเป็นหอไอเฟล ปี พ.ศ. 2483

กรุงปารีสได้ยืดหยัดท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่ 2โดยไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ เนื่องจากภายในกรุงปารีสไม่มีเป้าทางยุทธศาสตร์สำหรับฝ่ายสัมพันธมิตรในการวางระเบิด (สถานีรถไฟในกรุงปารีสเป็นเพียงแค่สถานีปลายทาง โรงงานที่สำคัญ ๆ ตั้งอยู่บริเวณชนบททั้งสิ้น) และด้วยความสวยงามทางวัฒนธรรม ทำให้พลเอกดีทริช ฟอน โชลทิทซ์ (General der Infanterie Dietrich von Choltitz) นายทหารเยอรมันขัดคำสั่งของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในการทำลายกรุงปารีสและอนุสาวรีย์ที่สำคัญก่อนการถอนทหารเยอรมันออกจากปารีส ทำให้ชาวฝรั่งเศสบางคนมองว่าพลเอกดีทริช ฟอน โชลทิทซ์เป็นผู้ช่วยเหลือกรุงปารีส

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปารีส http://money.cnn.com/magazines/fortune/global500/2... http://www.logistics-in-europe.com/pidf-gb/index.h... http://climat.meteofrance.com/chgt_climat2/climat_... http://en.parisinfo.com/museums-monuments-paris/sp... http://www.recensement.insee.fr/RP99/rp99/wr_page.... http://www.statistiques-locales.insee.fr/Fiches%5C... http://www.insee.fr/fr/ffc/chifcle_fiche.asp?ref_i... http://www.insee.fr/fr/ffc/docs_ffc/ElpDep_5trages... http://www.insee.fr/fr/ffc/docs_ffc/PIB_reg.xls http://www.insee.fr/fr/insee_regions/idf/rfc/docs/...