พระยาเพชรบุรี_(เรือง)

พระยาสุรินทฦๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหะ (พระยาเพชรบุรี) นามเดิมว่า เรือง ตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ตำบล บ้านสวนตาล หลังวัดพนัญเชิง ท่านเป็นพระญาติในสมเด็จกรมพระเทพามาตย์ราชชนนีในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเป็นพระญาติกับเจ้าขรัวเงิน พระชนกในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 2 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ อนึ่ง ตัวท่าน พระยาเพชรบุรี (เรือง) นั้นสืบเชื้อสายมาแต่ตระกูลขุนนางที่รับราชการต่อเนื่องกันมาในราชสำนักหลายชั่วอายุคนแล้ว ทั้งยังเป็นตระกูลขุนนางซึ่งรู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่ราษฎรกรุงศรีอยุธยาเวลานั้น จึงมีบันทึกไว้ใน พงศาวดารฉบับคำให้การชาวกรุงเก่า อย่างชัดเจน ถึงสถานที่ตั้งบ้านเรือนของท่านอันอยู่บริเวณ บ้านสวนตาล หลังวัดพนัญเชิง ท่านเรือง เริ่มเข้ารับราชการโดยถวายตัวเป็นมหาดเล็กใน กรมขุนพรพินิต (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4) ต่อมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เห็นฝีมือจึงขอตัวไปทำราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งให้เป็นขุนนางฝ่ายทหาร ว่าราชการเมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2275 (น่าจะได้ครองเมืองสืบแทน ปู่ หรือ พ่อ ของท่าน ตามพระราชกำหนดที่ตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่าด้วยเรื่องวุฒิขุนนาง ซึ่งกำหนดให้สืบเชื้อสายต่อเนื่องกันมา ทั้งยังเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติในการแต่งตั้งขุนนางออกไปครองเมืองในสมัยนั้น) และเป็นขุนนางจากราชสำนักอยุธยาคนสุดท้ายที่ได้ออกไปครองเมืองเพชรบุรีพระยาเพชรบุรี (พระยาสุรินทฦๅไชย ตามมีในพระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ระบุตำแหน่ง เจ้าเมืองเพชรบุรี ความตอนหนึ่งว่า ออกญาศรีสุรินทฦๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหะ ออกญาเพชรบุรี เมืองตรี นา 10000 ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย ว่าราชการต่างพระเนตรพระกัณฑ์เมืองเพชรบุรี) เป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ เลื่องลือว่าอยู่ยงคงกระพัน มาปรากฏชื่อในพระราชพงศาวดารฯ เมื่อรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระเจ้าเอกทัศ) หน้า 247- 248 ความว่า เจ้าพระยาอภัยราชา จึงปรึกษาด้วย พระยายมราช พระยาเพชรบุรี และหมื่นทิพเสนาว่า สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ก็ตรัสมอบราชสมบัติแก่ พระเจ้าอยู่หัวซึ่งผนวช (พระเจ้าอุทุมพร) ทั้งยังตรัสทำนายไว้ว่า ถ้าจะให้พระองค์นี้ (พระเจ้าเอกทัศ) ครองราชย์สมบัติ บ้านเมืองก็จะพิบัติฉิบหาย ควรจะคิดกำจัดพระองค์นี้ (พระเจ้าเอกทัศ) เสียจากเศวตฉัตร แล้วไปเชิญเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวซึ่งผนวชนั้น ให้ลาผนวชออกมาเสวยราชสมบัติดังเก่า บ้านเมืองจึงจะเป็นสุข ครั้นเพลาค่ำ จึงพากันไป ณ วัดกระโจม เข้าเฝ้า กรมหมื่นเทพพิพิธ อันเป็นเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ แล้วกราบทูลปรึกษาตามคดีซึ่งคิดกันนั้น กรมหมื่นเทพพิพิธ ก็เห็นชอบด้วย ครั้นค่ำอีกวันหนึ่ง กรมหมื่นเทพพิพิธกับขุนนางทั้งสี่ก็พากันไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าอุทุมพร) ซึ่งผนวช ณ วัดประดู่ แล้วกราบทูลความซึ่งคิดกันนั้น ครั้นทรงทราบจึงตรัสว่า “รูป เป็นสมณะ จะคิดอ่านการแผ่นดินด้วยนั้นไม่ควร ท่านทั้งปวงเห็นควรประการใดก็ตามจะคิดกันเถิด” กรมหมื่นเทพพิพิธ กับขุนนางทั้งสี่ก็เข้าใจว่าทรงยอมแล้วก็ทูลลากลับออกมา ครั้นรุ่งขึ้นเช้า พระเจ้าอุทุมพร จึงเสด็จเข้ามาในพระราชวัง เข้าเฝ้าพระเชษฐาธิราช (พระเจ้าเอกทัศ) ถวายพระพรแถลงรหัสเหตุนั้นให้ทราบสิ้นทุกประการ พระเจ้าเอกทัศ จึงมีพระราชโองการฯให้เจ้ากรม ปลัดกรม พระตำรวจทั้งแปดกรมไปกุมตัวเหล่ากบฏ พระยาเพชรบุรีรู้ข่าวจึงพาทหารร่วมใจ 500 ไปเชิญเสด็จกรมหมื่นเทพพิพิธ หนีออกจากพระนคร แต่ก็มาถูกจับ พระยาเพชรบุรีจึงต้องพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก พระเจ้าเอกทัศ เกรงจะเกิดจลาจลขึ้น ด้วยไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเห็นว่าพระองค์ไร้ฝีมือในการบัญชาการศึก และข้าราชการทั้งนั้นก็ไม่เป็นใจจะทำการรบพุ่ง จึงมีรับสั่งให้ไปเชิญสมเด็จพระอนุชา (พระเจ้าอุทุมพร สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4) ลาผนวช แล้วมอบราชสมบัติให้ เมื่อพระเจ้าอุทุมพรได้ราชสมบัติแล้ว จึงมีรับสั่งให้ปล่อยตัว เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช และ พระยาเพชรบุรี ออกมารับราชการดังเก่า เมื่อพม่าถอยทัพกลับไป พระเจ้าอุทุมพร กลับถวายราชสมบัติคืนแก่ พระเจ้าเอกทัศ ต่อมาพงศาวดารระบุว่า มอญเมืองเมาะตะมะ จำนวน 3,000 คน ที่อพยพเข้ามาเมื่อในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก่อการกบฏขึ้น มี พระยาเกียรติ พระยาราม เป็นตัวหัวหน้า นำสมัครพรรคพวกไปชุมนุมกันอยู่ที่เขานางบวช แล้วรวมกำลังกันยกเข้าปล้นเมืองนครนายก ในกรุงฯได้รับใบบอกเข้ามาจึงให้ พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นแม่ทัพ คุมพล 2,000 ยกไปปราบ พวกมอญตั้งต่อสู้อยู่ที่ เหล่าตะกดแร่ ตีทัพ พระยาสีหราชเดโชชัย แตกพ่าย ในกรุงฯจึงแต่งทัพไปใหม่ให้ พระยายมราช เป็นทัพหลวงคุมพล 2,000 พระยาเพชรบุรี เป็นทัพหน้าคุมพล 1,000 ไปปราบจนพวกมอญราบคาบจับตัว พระยาเกียรติ พระยาราม กับพวกได้แล้วให้ประหาร ต่อมาเมื่อพม่ายกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง พงศาวดารมีรายการปรากฏว่า ครั้นจุลศักราช 1126 พระเจ้าอังวะมีราชสาสน์มาจะให้ส่งเจ้าเมืองทวาย ถ้าไม่ส่งจะยกทัพมารบ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาไม่ยอมส่งให้ แล้วจึงให้ตระเตรียมเครื่องศัสตราวุธไว้ป้องกันพระนครโดยแข็งแรง ให้เกณฑ์ข้าทหารออกไปรักษาด่านโดยกวดขัน แล้วให้ พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทัพ 11 กอง ในกอง 1 มีทหารพร้อมเครื่องศัสตราวุธ 1000 คน มีช้างคลุมเกราะเหล็ก 10 ช้าง ช้างตัว 1 มีปืนใหญ่ชนิดเล็ก 2 บอก มีควานหัว 1 กลาง 3 ท้าย 1 มีทหารถือทวนตามหลังช้างอีกช้างละ 100 คน ให้พระหมื่นศรีคุมกอง 1 พระหมื่นเสมอใจกอง 1 พระหมื่นไวยกอง 1 พระอินทรอภัยกอง 1 พระสิวภัฎรกอง 1 พระมหาเสนากอง 1 พระพิไชยกอง 1 หลวงหรไทยกอง 1 หลวงศรีวรข่านกอง 1 ยกออกไปตั้งรับทัพพม่าทางเมืองสวรรคโลก ตั้งอยู่มิช้าทัพพม่าก็ยกลงมาแต่เมืองเชียงใหม่ ได้รบขับเคี่ยวกันอยู่ 13 วันจึงมีทองตราให้หากองทัพกลับมาช่วยรักษากรุงฯ พระยาเพชรบุรี จำต้องสั่งให้ล่าทัพ ถอยกลับเข้ากรุงฯตามรับสั่ง ต่อมาเมื่อกองทัพพม่ายกเข้ามาบรรจบกันบริเวณชานกรุงศรีอยุธยา ในกรุงฯได้ข่าวเข้ามาว่าพม่ายกทัพเรือหนีทางปืนขึ้นมาจากบางไทร ค่ายวัดโปรดสัตว์ และจากค่ายขนอนหลวง ทำนองจะมาตรวจเตรียมการล้อมกรุงฯข้างด้านตะวันออก พระเจ้าเอกทัศ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดฯให้ พระยาเพชรบุรี เป็นแม่ทัพ คุมเรือรบ 10 กอง ในกอง 1 มีเรือรบ 20 ลำ เรือลำ 1 มีปืนใหญ่ตั้งหัวเรือ 1 ปืนขานกยาง 2 และปืนรายแคมพร้อมทหาร 50 คน ให้ ขุนสุรินทรสงคราม คุมกอง 1 ขุนอนุรักษ์มนตรีกอง 1 หลวงหรไทยกอง 1 หลวงศรีวรข่านกอง 1 พระพิไชยกอง 1 พระยาจุฬากอง 1 พระยากาญจนบุรีกอง 1 ยกออกไปตั้งรับทัพเรือพม่าที่ขึ้นมาจากบางไทร ค่ายวัดโปรดสัตว์ โดยไปตั้งทัพรับอยู่ที่ วัดพิชัย แล้วให้ พระยาวชิรปราการ (พระเจ้ากรุงธนบุรี) คุมอีกทัพหนึ่งไปตั้งหนุนอยู่ที่ วัดป่าแก้ว (เรียกเป็นสามัญว่า วัดใหญ่) อันไม่ห่างจากวัดพิชัยมากนัก คอยช่วยตีสกัดกองทัพพม่าที่จะยกเข้ามาจากขนอนหลวงมิให้ขึ้นลงหากันได้ ครั้นทัพพม่าทั้งสองยกมา พระยาเพชรบุรีจึงมีบัญชาให้ไพร่พลออกระดมตีทัพเรือพม่าตามรับสั่ง ได้รบกับทัพพม่าที่ริมวัดสังฆาวาศ พม่ามีไพร่พลมากกว่าก็ล้อมเอาทัพพระยาเพชรบุรีไว้ ทัพเรือไทยแลพม่าเข้ารบกันเป็นสามารถ ได้ต่อสู่กันถึงระยะประชิดติดพันโกลาหนอลหม่านไปทั่ว ไพร่พลฝ่ายไทยแม้จะน้อยตัวกว่าแต่ก็รบอย่างกล้าหาญ รวมใจกันเข้าไล่รุกคลุกคลี ยิงปืนหัวเรือแลปืนรายแคม ต้องเรือรบแลไพร่พลพม่าแตกจมล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายไทยเห็นเป็นทีจึงโหมทัพเข้าระดมตีตัดกลางทัพพม่าจนเสียกระบวนจวนจะแตกพ่าย แต่ด้วยพระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพผู้กล้าหาญ เอาตนเองออกหน้านำทหารเข้าต่อตีกับเหล่าพม่าข้าศึก จึงต้องระเบิดเพลิงไพร่พลบาดเจ็บโดดหนีลงน้ำ ตัวพระยาเพชรบุรีหาเป็นอย่างใดไม่ เป็นแต่ถูกพม่าจับกุมคุมตัวไว้ พม่าคิดการกำจัดพระยาเพชรบุรี แต่พระยาเพชรบุรีมีวิชาอยู่ยงคงกระพันฟันแทงไม่เข้า พม่าจึงให้เอาไม้หลาวเสียบแทงทางทวารหนักจนสิ้นชีวิตในที่สุด เมื่อ เดือน 12 ปีจอ พุทธศักราช 2309 ส่วนพระยาวชิรปราการ (พระเจ้ากรุงธนบุรี) หาให้ทหารเข้าหนุนช่วยไม่ ด้วยเห็นว่าเหลือกำลังนัก เป็นแต่สั่งให้ถอยทัพ แล้วมาตั้งรอรับศึกอยู่ในค่ายของพระยาเพชรบุรีที่วัดพิชัย จึงเป็นเหตุให้ต้องพระไอยการกบฏศึก แล้วเลยถึงขัดพระบรมราชโองการฯให้หาตัวไปชำระคดี ครั้นถึงเดือนยี่จึงนำทหารร่วมใจในบังคับกองหนึ่ง (ประมาณ 1,000 เศษ ทั้งมีบุตรของพระยาเพชรบุรีคือ หลวงพิไชยราชา ตามไปในกองทัพด้วย และ หลวงพิไชยราชา ต่อมาได้กลายเป็นแม่ทัพสำคัญของพระเจ้าตาก ได้รับการพระราชทานยศขึ้นเป็น เจ้าพระยาพิไชยราชา รามราชแสนญาธิบดีศรีสัชนาไลย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองสวรรคโลก) ตีฝ่ากองทัพพม่าหนีพระราชอาญาออกไปทางทิศตะวันออกพระยาเพชรบุรี เป็นต้นของสกุล บุญ-หลง

ใกล้เคียง

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) พระยาพิชัยดาบหัก พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)