หลังสิ้นพระชนม์ ของ ฟาโรห์ตุตันคาเมน

อังค์เอสเอ็นอามุนถวายบุปผาแก่ทุตอังค์อามุนเพื่อแสดงความรัก ภาพสลักบนหีบพระศพทุตอังค์อามุน

เมื่อทุตอังค์อามุนสิ้นพระชนม์แล้ว อังค์เอสเอ็นอามุน ซึ่งเป็นทั้งพระเชษฐภคินีและพระมเหสี กำลังมีพระชนม์ราว 21 ปี

ภายหลัง ปรากฏหลักฐานเป็นเอกสารที่ได้จากเมืองฮัตตูซา (Hattusa) เมืองหลวงแคว้นฮิตไทต์ (Hittite) ว่า พระราชินีอียิปต์พระองค์หนึ่งมีอักษรลักษณ์ไปถึงพระเจ้าซุปพิลูลิอูมาที่ 1 (Suppiluliuma I) แห่งฮิตไทต์ ความว่า[46]

"สามีหม่อมฉันสิ้นแล้ว และหม่อมฉันหาโอรสมิได้ ได้ฟังว่า พระองค์มีโอรสมากนัก จะประทานมาเป็นสามีหม่อมฉันสักองค์ได้หรือไม่ หม่อมฉันไม่ปรารถนาจะได้บริวารคนใดของหม่อมฉันมาเป็นสามีเลย หม่อมฉันกลัวเหลือเกิน"

อักษรลักษณ์ดังกล่าวนับว่า ผิดธรรมดา เพราะชาวอียิปต์มักถือตนสูงกว่าชนต่างชาติ ฉะนั้น พระเจ้าซุปพิลูลิอูมาที่ 1 จึงตกพระทัยนัก ถึงกับทรงอุทานท่ามกลางพระราชสำนักว่า "เกิดมาทั้งชีวิตยังไม่เคยพบเจอเรื่องเช่นนี้เลย"[47] พระเจ้าซุปพิลูลิอูมาที่ 1 ทรงส่งราชทูตไปสืบความเมือง และตัดสินพระทัยส่งแซนแนนซา (Zannanza) พระโอรส ไปเสกสมรสกับพระราชินีพระองค์นั้น แม้จะทำให้พระองค์หมดโอกาสที่จะได้อียิปต์มาเป็นเมืองขึ้นอีกก็ตาม อย่างไรก็ดี แซนแนนซาถูกปลงพระชนม์กลางทาง[48]

อักษรลักษณ์นั้นไม่แจ้งว่า พระราชินีอิยิปต์พระองค์ดังกล่าวเป็นใคร แต่จดหมายเหตุฮิตไทต์ออกพระนามว่า "ดักฮามุนซู" (Dakhamunzu) ซึ่งน่าเชื่อว่า เป็นการทับศัพท์คำในภาษาอียิปต์ว่า "ทาเฮเมตเนซู" (Tahemetnesu) อันมีความหมายเพียงว่า ชายาพระเจ้าแผ่นดิน[49] ในการนี้ นักวิชาการลงความเห็นว่า พระราชินีพระองค์นั้นน่าจะเป็นเนเฟอร์ทีที (Nefertiti), เมรีทาเท็น (Meritaten) หรืออังค์เอสเอ็นอามุน[50] โดยเห็นกันว่า อังค์เอสเอ็นอามุนเป็นไปได้ที่สุด เพราะเวลานั้นไม่มีผู้ใดจะสืบพระราชบัลลังก์ต่อจากทุตอังค์อามุน ส่วนพระมหากษัตริย์ผู้สวามีของพระราชินีอีกสองพระองค์นั้นล้วนมีรัชทายาทอยู่[46] อีกประการหนึ่ง คำว่า "บริวารคนใดของหม่อมฉัน" ในอักษรลักษณ์ข้างต้นนั้น เชื่อกันว่า หมายถึง ไอย์ ซึ่งเป็นอุปราชและปรากฏว่า พยายามกดดันให้อังค์เอสเอ็นอามุนสมรสกับตน เพื่อที่ตนจะได้มีความชอบธรรมในการเข้าสู่พระราชบัลลังก์แห่งอียิปต์[51] นอกจากนี้ การกดดันของอุปราชไอย์ยังน่าจะเป็นที่มาของถ้อยคำที่ว่า "หม่อมฉันกลัวเหลือเกิน" ด้วย[52]

ไม่ว่าพระราชินีผู้มีอักษรลักษณ์นั้นจะเป็นผู้ใด อังค์เอสเอ็นอามุนก็ได้เสกสมรสกับอุปราชไอย์ซึ่งสันนิษฐานว่า มีศักดิ์เป็นพระอัยกา (ตา) ของนางเอง[50] และอุปราชไอย์ผู้ชราก็ได้ขึ้นเป็นฟาโรห์ต่อจากทุตอังค์อามุน นามรัชกาลว่า "เคเพอร์เคเพรูเร" (Kheperkheperure) แปลว่า "เทพราปรากฏอยู่ชั่วกาล"[53] อย่างไรก็ดี หลังเสกสมรสกับไอย์แล้วไม่นาน อังค์เอสเอ็นอามุนก็เลือนหายไปจากประวัติศาสตร์ และไม่ปรากฏว่า มีโบราณสถานหรือโบราณวัตถุใด ๆ แสดงพระสถานะของนางซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของฟาโรห์ไอย์เลย ทั้งผนังสุสานของไอย์ก็กลับบันทึกว่า เตย์ ภริยาผู้สูงวัยของไอย์ ได้รับตั้งเป็นพระอัครมเหสีของไอย์ มิใช่อังค์เอสเอ็นอามุน[54]

ใกล้เคียง

ฟาโรห์ตุตันคาเมน ฟาโรห์อูนัส ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 2 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 1 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 3 ฟาโรห์เซนุสเรตที่ 3 ฟาโรห์อเมเนมเฮตที่ 4 ฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 ฟาโรห์โจเซอร์ ฟาโรห์เมเนส

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฟาโรห์ตุตันคาเมน http://archaeologynewsnetwork.blogspot.com/2011/01... http://www.egiptomania.com/EEF/ACAE1.pdf http://abcnews.go.com/blogs/health/2012/09/14/myst... http://jama.jamanetwork.com/article.aspx?articleid... http://news.nationalgeographic.com/news/2005/03/03... http://ngm.nationalgeographic.com/2010/09/tut-dna/... http://ngm.nationalgeographic.com/2010/09/tut-dna/... http://ngm.nationalgeographic.com/2010/09/tut-dna/... http://ngm.nationalgeographic.com/2010/09/tut-dna/... http://www.phouka.com/pharaoh/egypt/history/KLMane...