ภาพเหมือนตนเองโดยจิตรกรยุโรป ของ ภาพเหมือนตนเอง

เอกสารตัวเขียนสีวิจิตรมักจะมีภาพเหมือนตนเองโดยเฉพาะในงานเขียนของนักบุญดันสตัน และแม็ทธิว แพริส ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นภาพจิตรกรขณะที่กำลังเขียนภาพหรือไม่ก็เสนองานที่เขียนเสร็จแก่ผู้อุทิศหรือต่อผู้ศักดิ์สิทธิ์[11]

เชื่อกันว่าอันเดรอา ออร์ชานยาเขียนภาพเหมือนตนเองแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนในปี ค.ศ. 1359 ซึ่งเป็นการบันทึกอย่างน้อยก็ตามที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์จอร์โจ วาซารีกล่าวว่าเป็นสิ่งที่จิตรกรมักจะนิยมทำกัน ในอิตาลีจอตโต ดี บอนโดเน (ค.ศ. 1267-ค.ศ. 1337) วาดภาพตนเองในภาพชุด "eminent men" ในปราสาทที่เนเปิลส์, มาซาชิโอ (ค.ศ. 1401-ค.ศ. 1428) วาดภาพตนเองเป็นหนึ่งในอัครสาวกในจิตรกรรมฝาผนังภายในชาเปลบรันคาชชิ และ เบนนอซโซ กอซโซลิวาดภาพตนเองกับภาพเหมือนของผู้อื่นในภาพ "ขบวนแมไจ" (Procession of the Magi) (ค.ศ. 1459) ในวังเมดิชิ โดยเขียนชื่อไว้บนหมวก สองสามปีต่อมาซันโดร บอตตีเชลลีก็เลียนแบบเขียนตนเองเป็นผู้ชื่นชมคนหนึ่งในภาพ "การชื่นชมของแมไจ" ผู้หันมามองตรงมายังผู้ชมภาพ (ค.ศ. 1475)

ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ก็มีรูปเหมือนแกะท่อนบนของและโดยปีเตอร์ พาร์เลอร์ ในมหาวิหารปรากรวมภาพเหมือนตนเองและเป็นหนึ่งในบรรดารูปท่อนบนรูปแรก ๆ ที่ไม่ใช่รูปท่อนบนของพระราชวงศ์ ลอเร็นโซ กิเบอร์ติรวมรูปปั้นศีรษะของตนเองบนบานประตู หอล้างบาปซันโจวันนีในฟลอเรนซ์

ภาพเหมือนตนเองแรกสุดที่เขียนในอังกฤษ นอกไปจากเอกสารตัวเขียนวิจิตร และก็เป็นภาพเหมือนขนาดเล็กที่เขียนโดยจิตรกรเยอรมันเยอร์ลาค ฟลิคเคอในปี ค.ศ. 1554

อัลเบรชท์ ดือเรอร์, ค.ศ. 1471–ค.ศ. 1528

อัลเบรชท์ ดือเรอร์เป็นศิลปินผู้มีความความพะวงเกี่ยวกับภาพพจน์และชื่อเสียงของตนเองอยู่เสมอ รายได้ส่วนใหญ่มาจากการสร้างภาพพิมพ์ของจิตรกรชั้นปรมาจารย์ที่ขายไปทั่วยุโรป ดือเรอร์อาจจะวาดภาพตัวเองบ่อยกว่าจิตรกรอื่น ๆ ในสมัยเดียวกัน เท่าที่ทราบอย่างน้อยก็ประมาณสิบสองภาพที่รวมทั้งจิตรกรรมสีน้ำมัน และวาดเป็นบุคคลหนึ่งในงานชิ้นใหญ่ที่เป็นแท่นบูชา ภาพเขียนภาพแรกเป็นภาพวาดลายเส้นที่เขียนเมื่ออายุได้เพียงสิบสามปี เมื่ออายุได้ยี่สิบสองปีดือเรอร์ก็เขียน "ภาพเหมือนตนเองกับดอกคาร์เนชัน" (ค.ศ. 1493, พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์) ที่อาจจะเขียนเพื่อส่งไปให้คู่หมั้นใหม่ ภาพเหมือนตนเองมาดริด (ค.ศ. 1498, พิพิธภัณฑ์ปราโด) เป็นภาพดือเรอร์ในเครื่องแต่งกายหรูหราแบบอิตาลีที่สะท้อนให้เห็นความมีชื่อเสียงไปทั่วยุโรป ในภาพเหมือนตนเองภาพสุดท้ายที่ขายหรือมอบให้เมืองเนิร์นแบร์กที่ตั้งแสดงให้สาธารณชนชมเป็นภาพที่วาดเชิงเป็นพระเยซู (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเดิม, มิวนิก) ต่อมาดือเรอร์ก็ใช้ใบหน้าเดียวกันนี้ในการสร้างภาพพิมพ์ของพระพักตร์ของพระเยซูที่ปรากฏบน "ผ้าซับพระพักตร์เวอโรนิคา" (Veil of Veronica) [12] แต่ภาพเหมือนตนเองที่ส่งไปให้ราฟาเอลหายสาบสูญไป ภาพพิมพ์แกะไม้ในโรงอาบน้ำและภาพวาดลายเส้นเป็นภาพเหมือนตนเองที่แทบจะเป็นภาพเปลือย[13]

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาและยุคบาโรก

จิตรกรชั้นปรมาจารย์ของอิตาลีของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยามีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เขียนภาพเหมือนตนเองไว้อย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่แล้วก็จะเขียนภาพของตนรวมไว้ในภาพเขียนใหญ่ ภาพเหมือนตนเองที่เขียนก็เป็นภาพเขียนที่ตรงไปตรงมาไม่มีการจัดท่าตั้งท่าเช่นที่ทำกันในสมัยต่อมา การเขียนแบบที่นอกแนวออกไปเช่นที่ดือเรอร์ทำก็แทบจะไม่มีผู้ใดทำตาม นอกไปจาก "ภาพเหมือนตนเองในบทเดวิด" ของจอร์โจเน (ถ้าเป็นภาพเหมือนตนเองจริง) ภาพเหมือนที่มีอยู่ก็ได้แก่ภาพเหมือนของเปียโตร เปรูจิโนที่เขียนราว ค.ศ. 1500 และภาพของพาร์มิจานิโนที่เป็นภาพเขียนเป็นเหมือนกระจากนูน และภาพเหมือนตนเองที่เป็นภาพวาดลายเส้นโดยเลโอนาร์โด ดา วินชี (ค.ศ. 1512) [14] และภาพเหมือนตนเองที่เป็นส่วนหนึ่งของภาพเขียนใหญ่ของมีเกลันเจโล ผู้เขียนใบหน้าของตนเองบนหนังที่ถูกถลกออกมาจากร่างของนักบุญบาร์โทโลมิวในภาพ "การตัดสินครั้งสุดท้าย" ภายในชาเปลซิสติน (ค.ศ. 1536-ค.ศ. 1541) และ ราฟาเอล ที่ปรากฏในภาพ "โรงเรียนแห่งเอเธนส์" (ค.ศ. 1510) หรือภาพที่เกาะไหล่เพื่อน (ค.ศ. 1518) นอกจากนั้นภาพอื่นที่เด่นก็ได้แก่ภาพเหมือนของทิเชียนที่เขียนเป็นชายสูงอายุที่เขียนเมื่อคริสต์ทศวรรษ 1560, เพาโล เวโรเนเซปรากฏเป็นนักเล่นไวโอลินใส่เสื้อสีขาวในภาพ "การแต่งงานที่คานา" โดยมีทิเชียนเล่น bass viol (ค.ศ. 1562) จิตรกรทางตอนเหนือของยุโรปจะนิยมเขียนภาพเหมือนมากกว่าจิตรกรในอิตาลี ที่มักจะวางท่าเดียวกับภาพชาวเมืองผู้มีอันจะกินอื่น ๆ ที่เป็นลูกค้าผู้มาว่าจ้างให้วาด

ภาพ "อุปมานิทัศน์ของความรอบคอบ" (ราว ค.ศ. 1565-1570) โดยทิเชียนเชื่อว่าเป็นภาพของทิเชียน, โอราซิโอลูกชาย และหลานมาร์โค เวเชลลิโอ[15] นอกจากภาพนี้แล้วทิเชียนก็เขียนภาพเหมือนตนเองอีกในปี ค.ศ. 1567 ที่เป็นภาพแรก คาราวัจโจเขียนภาพเหมือนตนเองเมื่อเริ่มเป็นจิตรกรใหม่ ๆ ในภาพ "บาคคัส" ต่อมาก็เขียนเป็นตัวประกอบในภาพเขียนที่ใหญ่กว่า และในที่สุดก็เขียนตนเองเป็นหัวของโกไลแอธที่เดวิดถือในภาพ "เดวิดกับหัวโกไลแอธ" (ค.ศ. 1605-ค.ศ. 1610, หอศิลป์บอร์เกเซ, โรม)

แร็มบรันต์ และคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปเหนือ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จิตรกรเฟลมิชและดัตช์เขียนภาพของตนเองมากกว่าจิตรกรในประเทศอื่นในยุโรป ในช่วงเวลานี้จิตรกรผู้มีชื่อเสียงก็จะมีฐานะทางสังคมดีพอที่จะต้องการที่จะมีภาพเขียนของตนเองเอาไว้เช่นเดียวกับผู้อยู่ฐานะเท่าเทียมกันในสังคม นอกจากเขียนภาพตนเองแล้วจิตรกรก็ยังอาจจะเขียนภาพของภรรยาและบุตรธิดา หรือญาติพี่น้องเช่นเดียวกับพฤติกรรมของชนชั้นกลางโดยทั่วไปในขณะนั้น อันโตนี ฟัน ไดก์ และ เปเตอร์ เปาล์ รือเบินส์ต่างก็เขียนภาพของตนเองเป็นจำนวนหลายภาพ โดยเฉพาะรือเบินส์ผู้นอกจากจะเขียนภาพของตนเองแล้วก็ยังเขียนภาพของครอบครัวด้วย

แร็มบรันต์เป็นจิตรกรผู้เขียนภาพเหมือนตนเองมากที่สุดคนหนึ่ง และบางครั้งก็จะเขียนภาพของภรรยา, ลูกชาย และภรรยาน้อย เดิมเชื่อกันว่าแร็มบรันต์เขียนภาพเหมือนตนเองราวเก้าสิบภาพ แต่ต่อมาก็เป็นที่ทราบกันว่าภาพบางภาพเป็นภาพก็อปปีโดยลูกศิษย์ที่แร็มบรันต์ให้ทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกหัด เมื่อแยกภาพเหล่านี้ออกไปแล้วนักวิชาการสมัยใหม่เชื่อกันว่าแร็มบรันต์เขียนภาพเหมือนตนเองราวสี่สิบภาพ และภาพวาดเส้นอีกสองสามภาพ รวมทั้งภาพพิมพ์อีกสามสิบเอ็ดภาพ ภาพเขียนหลายภาพเป็นภาพที่แร็มบรันต์แต่งตัวแบบกึ่งโบราณอย่างหรูหรา ภาพเขียนเหล่านี้แสดงความก้าวหน้าในชีวิตที่เริ่มตั้งแต่ภาพของจิตรกรหนุ่มไปจนถึงศิลปินผู้ประสบความสำเร็จกับการเขียนภาพเหมือนในคริสต์ทศวรรษ 1630 และต่อไปยังชายสูงอายุผู้ดูจะมีเรื่องครุ่นคิด แต่ก็เป็นผู้มีความสามารถที่ไม่มีผู้ใดเทียมได้[16]

  • ราว ค.ศ. 1628
    เมื่ออายุ 22 ปี
    แสดงการใช้ค่าต่างแสง
    พิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม
  • ภาพพิมพ์ราว ค.ศ. 1630
    อาจจะเขียนเพื่อพยายามจับการแสดงออกทางสีหน้าสำหรับภาพเขียนที่ใหญ่กว่า
  • ค.ศ. 1632
    เมื่อประสบความสำเร็จกับการเขียนภาพเหมือนในลักษณะที่เห็น
  • ภาพพิมพ์ ค.ศ. 1634
    ภาพเหมือนเล่นบท
    ภาพเหมือนตนเองแต่งตัวเป็นเจ้าตะวันออกถือกริช
  • ค.ศ. 1640
    แต่งตัวดัวยเสื้อผ้าของสมัยร้อยปีก่อนหน้านั้น
  • ราว ค.ศ. 1655
  • ค.ศ. 1658
    แต่งตัวแบบโบราณ
    หอแสดงภาพฟริค
    ภาพเหมือนตนเองขนาดใหญ่ที่สุดที่อาจจะใช้กระจกช่วย
  • ค.ศ. 1669
    ปีที่เสียชีวิต ที่ดูเหมือนว่าจะอายุมากกว่าภาพอื่น ๆ มาก
    หอศิลป์แห่งชาติ, ลอนดอน

หลังสมัยแร็มบรันต์

ภาพเหมือนตนเองของฟินเซนต์ ฟัน โคคพันหัวด้วยผ้าพันแผลหลังจากที่สันนิษฐานกันว่าตัดหูตนเอง

ในสเปนก็มีภาพเหมือนตนเองของบาร์โตโลเม เอสเตบัน มูรีโย และ เดียโก เบลัซเกซ ส่วนฟรันซิสโก ซูร์บารานเขียนตนเองเป็นนักบุญลูค ที่เท้าของพระเยซูบนกางเขน (ราว ค.ศ. 1635) ในคริสต์ทศวรรษ 1800 ฟรันซิสโก โกยาเขียนภาพตนเองหลายภาพ ภาพเหมือนตนเองหลังจากสมัยนีกอลา ปูแซ็งมักจะแสดงฐานะทางสังคมของศิลปิน แต่ก็มีบางคนที่เขียนภาพในเครื่องแต่งกายที่ใช้เมื่อเขียนภาพเช่นภาพเหมือนตนเองของฌอง-บัพทิสต์-ซิเมออง ชาร์แดง จิตรกรที่เขียนภาพเหมือนตนเองในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มักจะเขียนทั้งภาพในเครื่องแต่งกายอย่างเป็นทางการและเครื่องแต่งกายอย่างลำลอง ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าจิตรกรเกือบทุกคนที่สำคัญจะทิ้งภาพเหมือนตนเองเอาไว้อย่างน้อยก็ภาพหนึ่ง แม้ว่าจะหลังจากสมัยที่ความนิยมในการวาดภาพเหมือนตนเองจะลดถอยลงไปเมื่อมีวิวัฒนาการทางการถ่ายภาพเข้ามา กุสตาฟว์ กูร์แบอาจจะเป็นศิลปินผู้เขียนภาพเหมือนตนเองที่มีความคิดอันสร้างสรรค์ที่สุดของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และภาพ "ห้องเขียนภาพของศิลปิน" และ "สวัสดี มงซิเออร์คูร์เบต์" ก็อาจจะเป็นภาพเหมือนตนเองที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่ที่เคยเขียนกันมา ทั้งสองภาพมีตัวแบบหลายคนแต่บุคคลที่เป็นศูนย์กลางของภาพคือตัวศิลปินเอง

จิตรกรสมัยใหม่ผู้เขียนภาพเหมือนตนเองเป็นจำนวนมาก

"ภาพเหมือนตนเอง อุทิศให้โกแกง" โดย ฟินเซนต์ ฟัน โคค ค.ศ. 1888

จิตรกรคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งและคนที่เขียนภาพเหมือนตนเองมากที่สุดคนหนึ่งคือฟินเซนต์ ฟัน โคคผู้เขียนภาพเหมือนตนเองด้วยกันทั้งหมด 37 ภาพระหว่าง ค.ศ. 1886 จนถึง ค.ศ. 1889 สิ่งที่น่าสังเกตของภาพเหมือนของฟัน โคคคือจะไม่มีภาพใดเลยที่จิตรกรจะมองตรงมายังผู้ชมภาพ แม้ว่าจะเป็นภาพที่จ้องตรงไปข้างหน้าแต่ก็ดูเหมือนว่าฟัน โคคจะมีจุดสนใจอื่น ภาพเขียนเหล่านี้ใช้สีที่เข้มข้น บางรูปก็เป็นภาพที่มีผ้าพันแผลรอบหู ซึ่งมาจากความเชื่อที่ว่าฟัน โคคตัดหูตนเอง

ภาพเหมือนตนเองของอีกอน ชีเลอวางมาตรฐานใหม่ให้แก่การเขียนภาพเหมือนตนเองทางด้านความเปิดเผย หรืออาจจะเรียกว่าออกไปทางลัทธิการแสดงอนาจาร (Exhibitionism) ที่เป็นภาพเปลือยหลายภาพในท่าต่าง ๆ และบางภาพก็เป็นภาพชีเลอกำลังสำเร็จความใคร่ หรือเมื่ออวัยวะเพศแข็งตัวในภาพ "อีรอส" ที่เขียนเมื่อปี ค.ศ. 1911 สแตนลีย์ สเป็นเซอร์ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เขียนในแนวนี้ เอ็ดเวิร์ด มันช์ก็เป็นศิลปินอีกผู้หนึ่งที่เขียนภาพเขียนของตนเองเป็นจำนวนมาก ที่รวมทั้งจิตรกรรม 70 ภาพ, ภาพพิมพ์ 20 ภาพ และภาพวาดลายเส้นหรือสีน้ำอีกกว่า 100 ภาพ ภาพหลายภาพที่เขียนเป็นภาพที่แสดงถึงการที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเฉพาะจากสตรี[17] ฟรีดา คาห์โลผู้ในชีวิตประสบอุบัติเหตุอันร้ายแรงที่ทำให้ต้องนอนเป็นคนไข้อยู่หลายปี เขียนภาพตนเองเป็นหลัก และมักจะเป็นภาพที่เกี่ยวกับความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจ คาห์โลเขียนภาพเหมือนตนเองราว 55 ภาพที่รวมทั้งภาพตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไปและบางภาพก็เป็นภาพการฝันร้ายที่เป็นสัญลักษณ์ของความทุกข์ทรมานทางกาย

ตลอดอาชีพการเป็นจิตรกรปาโบล ปีกัสโซมักจะใช้ภาพเหมือนตนเองในการบรรยายตนเองหลายแบบ จากช่วงที่เป็นจิตรกรหนุ่มผู้ยังไม่เป็นที่รู้จักใน "Yo Picasso" ไปจนถึงช่วง "Minotaur in the Labyrinth", ตามด้วย "old Cavalier" และ "lecherous old artist and model" ภาพเหมือนตนเองของปีกัสโซมักจะเผยความเข้าใจอันลึกซึ้งทางจิตวิทยาของตัวปีกัสโซเอง ทั้งทางส่วนตัวและทางการเป็นศิลปิน ศิลปินอีกผู้หนึ่งที่เขียนภาพเหมือนตนเองที่เผยลักษณะของตนเองตลอดชีวิตการเป็นจิตรกรคือปีแยร์ บอนาร์ นอกจากนั้นบงนาร์ดก็ยังเขียนภาพเหมือนของภรรยาอีกหลายสิบภาพตลอดชีวิตการเขียนด้วย ศิลปินโดยเฉพาะฟินเซนต์ ฟัน โคค, ปอล โกแก็ง และ อีกอน ชีเลอ ต่างก็เขียนภาพเหมือนตนเองที่เผยตนเองทางจิตวิทยาโดยตลอดอาชีพการเป็นจิตรกร

ใกล้เคียง

ภาพเหมือนตนเอง ภาพเหมือน ภาพเหมือนอาร์นอลฟีนี ภาพเหมือนผู้อุทิศ ภาพเหมือนของมาดามเอ็กซ์ ภาพเหมือนของนายแพทย์กาแช ภาพเหมือนของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ภาพเหมือนของชายคนหนึ่ง (ภาพเหมือนตนเอง?) ภาพเหมือนของมาฟเฟโอ บาร์เบอรินิ (คาราวัจโจ) ภาพเหมือนของหญิงสาว (ลา ฟอร์นารินา)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาพเหมือนตนเอง http://www.artcyclopedia.com/artists/kahlo_frida.h... http://www.artcyclopedia.com/artists/schiele_egon.... http://www.batguano.com/Vigeeselfp.html http://www.sehepunkte.de/2006/10/9307.html http://www.npg.si.edu/ http://www.research.umbc.edu/~ivy/selfportrait/ http://www.research.umbc.edu/~ivy/selfportrait/bac... http://www.research.umbc.edu/~ivy/selfportrait/int... http://www.culture.gouv.fr:80/documentation/jocond... http://www.munch.museum.no/exhibitions.aspx?id=35