การควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ของ ภาวะเงินเฟ้อ

นโยบายการเงิน

รัฐบาลและธนาคารกลางส่วนใหญ่ใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางสหรัฐสามารถเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ชะลอหรือหยุดการผลิตเงิน เพื่อให้เกิดการลดปริมาณของเงินในระบบ ธนาคารกลางบางแห่งมีเป้าหมายควบคุมเงินเฟ้อแบบสมมาตร (symmetrical inflation target) กล่าวคือควบคุมไม่ให้อัตราเงินเฟ้อต่ำหรือสูงเกินไป ในขณะที่ธนาคารกลางบางแห่งจะเพียงควบคุมอัตราเงินเฟ้อเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้

ธนาคารกลางส่วนใหญ่จะได้รับมอบหมายให้รักษาอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระหว่างธนาคารภายในประเทศในระดับที่ต่ำ ซึ่งโดยปกติจะมีเป้าหมายคงอัตราดอกเบี้ยนี้ไว้ที่ประมาณ 2% ถึง 3% ซึ่งจะอยู่ในช่วงเป้าหมายประจำปีของอัตราเงินเฟ้อซึ่งมีค่าประมาณ 2% ถึง 6% ธนาคารกลางมักกำหนดเป้าหมายอัตราเงินให้เฟ้อต่ำ แต่ไม่เป็นลบเพราะผู้บริหารธนาคารกลางส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเงินฝืดนั้นเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ

การปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นสามารถทำให้ปริมาณของเงินในระบบลดลงได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้คนขอสินเชื่อน้อยลง โดยปกติเงินใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นจะถูกนำไปใช้ในรูปแบบของสินเชื่อหรือการปล่อยเงินกู้จากธนาคาร หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือหากธนาคารต้องการจะปล่อยเงินกู้ ธนาคารจำต้องสร้างเงินใหม่เพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อ ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการปล่อยกู้เงิน เงินในระบบจึงมีปริมาณมากขึ้น และหากลูกหนี้จ่ายคืนเงินกู้ ธนาคารก็สามารถที่จะทำลายเงินนั้นทำให้ปริมาณเงินในระบบลดลง ยกตัวอย่างเช่นในต้นปี 1980 เมื่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 15 ปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐมีค่าลดลงถึงร้อยละ 8.1 จาก 8.6 ล้านล้าน เหลือเพียง 7.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นักเศรษฐศาสตร์ทฤษฎีสำนักการเงินนิยมจะเน้นอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเงินและการใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อโดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและชะลอการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงิน ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์จะเน้นการลดอุปสงค์รวมในช่วงที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการสร้างอุปสงค์ขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อมีเสถียรภาพ การควบคุมของอุปสงค์รวมในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์สามารถทำได้โดยใช้นโยบายการเงินและนโยบายการคลัง (เช่นการเก็บภาษีเพิ่มหรือลดการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อลดอุปสงค์รวม)

การตรึงอัตราแลกเปลี่ยน

ระบบการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงิน หมายถึงการผูกมูลค่าของสกุลเงินนั่นๆให้เท่ากับมูลค่าของสกุลเงินของประเทศใดประเทศหนึ่ง (ที่มีความแข็งแกร่งเช่น เงินดอลล่าร์สหรัฐ) หรือสกุลเงินของหลายๆประเทศ การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนสามารถนำมาใช้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ แต่เนื่องจากมูลค่าของสกุลเงินที่นำมาอ้างอิงมีการเพิ่มและลดลงตลอดเวลา ดังนั้นมูลค่าของเงินในประเทศที่อยู่ภายใต้ระบบการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนจึงเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามมูลค่าของสกุลเงินที่นำมาอ้างอิง ซึ่งหมายความว่าอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นๆจะถูกกำหนดโดยอัตราเงินเฟ้อของประเทศที่เป็นเจ้าของสกุลเงินที่นำมาอ้างอิง ดังนั้นการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนจึงทำให้รัฐบาลไม่สามารถใช้นโยบายการเงินของตัวเองในการที่จะบรรลุเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคได้

ภายใต้ข้อตกลงเบรตตันวูดส์ ประเทศหลายๆประเทศทั่วโลกได้ทำการตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้กับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีประโยชน์ในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ แต่ข้อเสียคือทำให้ประเทศเหล่านั้นตกเป็นเป้าของการโจมตีค่าเงิน ดังนั้นภายหลังจากที่ข้อตกลงเบรตตันวูดส์มีอันเป็นที่สิ้นสุดลงในช่วงต้นปีค.ศ. 1970 ประเทศต่างๆจึงได้ทยอยหันไปใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว อย่างไรก็ดีในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 มีหลายประเทศ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้เช่น อาร์เจนตินา (ค.ศ.1991-2002), โบลิเวีย, บราซิลและชิลี) ได้หวนกลับไปใช้การตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

ระบบมาตรฐานทองคำ

ระบบมาตรฐานทองคำเป็นระบบการเงินที่ประเทศต่างๆใช้เพื่อแลกเปลี่ยนสกุลเงิน โดยแต่ละประเทศจะต้องกำหนดความสัมพันธ์เชิงปริมาณระหว่างหน่วยเงินของประเทศของตัวเองกับทองคำ ในระบบนี้สกุลเงินของประเทศต่างๆไม่ถือว่ามีมูลค่าด้วยตัวของมันเอง แต่ผู้ค้ายอมรับตัวเงินเนื่องจากสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นทองคำได้ ตัวอย่างเช่น ธนบัตรดอลล่าร์สหรัฐในอดีตจะมีการประทับตรารับรองบนธนบัตรว่าสามารถนำไปแลกเป็นแร่เงินได้จากรัฐบาล

มาตรฐานทองคำได้ถูกเลิกใช้ไปบางส่วนภายหลังการนำข้อตกลงเบรตตันวูดส์มาใช้ ภายใต้ระบบนี้เงินสกุลใหญ่ทุกสกุลจะถูกตรึงให้มีอัตราคงที่กับเงินดอลลาร์ ในขณะที่เงินดอลลาร์จะถูกผูกติดอยู่กับทองคำในอัตรา 35 ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์ ระบบเบรตตันวูดส์มีอันเป็นที่สิ้นสุดลงในปี 1971 ทำให้ประเทศส่วนใหญ่เปลี่ยนไปใช้ระบบเงินกระดาษที่รัฐบาลไม่ต้องถือเงินทุนสำรอง ซึ่งหมายถึงการที่เงินตรามีค่าตามที่กฎหมายของแต่ละประเทศเป็นผู้กำหนด

ศาสตราจารย์ไวท์ (Lawrence H. White) และฮาเยค (F. A. Hayek) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ของระบบเศรษฐกิจได้กล่าวไว้ว่า หากระบบเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับมาตรฐานทองคำโอกาสที่ประเทศจะพบอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าร้อยละ 2 ต่อปีนั้นมีอยู่น้อยมาก [39] อย่างไรก็ตามในอดีตที่ผ่านมา สหรัฐต้องพบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่า 2% หลายครั้งและจุดที่สูงที่สุดของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นภายใต้มาตรฐานทองคำ เมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อภายหลังจากที่มาตรฐานทองคำได้ถูกยกเลิกไปแล้ว [40] ภายใต้ระบบมาตรฐานทองคำ อัตราเงินเฟ้อ (หรือภาวะเงินฝืด) ในระยะยาวจะถูกกำหนดโดยอัตราการเติบโตของปริมาณของทองคำที่ถูกผลิตขึ้น [41] จึงมีผู้วิจารณ์ว่าระบบทองคำทำให้เกิดความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อ และนโยบายการเงินจะถูกกำหนดจากผลผลิตการทำเหมืองแร่ทองคำเป็นหลัก [42][43]

การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้า

การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้านั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีการนำมาใช้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในอดีต การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้ามักจะทำให้เกิดผลดีในช่วงภาวะสงครามเมื่อนำมาใช้ร่วมกับการปันส่วนอาหารและเครื่องบริโภค อย่างไรก็ตามในบริบทอื่นๆ ผลลัพธ์ของการควบคุมราคาสินค้ามีทั้งดีและร้าย ตัวอย่างความล้มเหลวของการควบคุมเงินเฟ้อด้วยวิธีนี้สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีการกำหนดค่าจ้างและการควบคุมราคาโดยประธานาธิบดีบดี ริชาร์ด นิกสัน ในปีค.ศ. 1972 ในขณะที่ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจะเห็นได้จากข้อตกลงราคาสินค้าและค่าจ้างของออสเตรเลีย และข้อตกลงวาสเสนน่าของประเทศเนเธอร์แลนด์

โดยทั่วไปการควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้าจะถูกมองว่าเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวซึ่งสามารถนำมาใช้เฉพาะในกรณีพิเศษ และจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อใช้ร่วมกับนโยบายที่ออกแบบมาเพื่อแก้ต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้อ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเข้าสู่ภาวะสงครามก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ จึงใช้การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้าชั่วคราว ในขณะที่รัฐบาลควรออกนโยบายแก้ปัญหาต้นเหตุของภาวะเงินเฟ้อซึ่งก็คือการยุติหรือการมีชัยชนะจากสงคราม การควบคุมค่าจ้างและราคาสินค้าก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณที่บิดเบี้ยวไปยังตลาด การบังคับให้ขายสินค้าในราคาต่ำมักจะเป็นต้นเหตุของการจำกัดการกระจายและการขาดแคลนสินค้า และการทำให้นักลงทุนไม่อยากนำสินค้ามาขายในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าให้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม หากจะใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์อาจกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการใด ๆ ที่มีราคาต่ำจะมีการบริโภคสูง และเมื่อเป็นเช่นนั้น ปริมาณของผลิตภัณฑ์นั้นๆในตลาดจะลดต่ำลง หากไม่มีการปรับตัวของราคาสินค้าให้กลับมา ณ จุดเดิมก็จะไม่เกิดการลงทุนเพื่อที่จะผลิตผลิตภัณฑ์นั้นๆเพิ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในอนาคต และจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสินค้าอย่างรุนแรงในระยะยาว

ใกล้เคียง

ภาวะเลือดจางเหตุขาดธาตุเหล็ก ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเสียการระลึกรู้ ภาวะเหล็กเกิน ภาวะเลือดจาง ภาวะเงินฝืด ภาวะเสียการระลึกรู้ทางตา ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากเบาหวาน ภาวะเพศกำกวม ภาวะเชิงการนับ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาวะเงินเฟ้อ http://67.208.89.102/files/2010/11/01/11-Nov-2010-... http://www.mint.ca/royalcanadianmintpublic/RcmImag... http://www.chass.utoronto.ca/ecipa/archive/UT-ECIP... http://www.vcharkarn.com/varticle/34764 http://www.vox.com/cards/inflation-definition-and-... http://www.youtube.com/watch?v=Ml9IMkxH8CY http://www.federalreserve.gov/boarddocs/hh/2004/ju... http://www.sedlabanki.is/?PageID=195 http://www.j-bradford-delong.net/Politics/whynotth... http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2005q2/article20...