ภาษามลายูบ้าบ๋า

ภาษามลายูบ้าบ๋า (มลายู: Bahasa Melayu Baba) หรืออาจเรียกว่า ภาษาจีนช่องแคบ (อังกฤษ: Straits Chinese) ถือเป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษามลายู โดยมีการยืมคำในภาษาฮกเกี้ยนค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันเป็นภาษาที่ใกล้ตาย และใช้กันในกลุ่มชาวเปอรานากันรุ่นเก่า ในขณะที่คนรุ่นใหม่หันไปพูดภาษาอังกฤษกัน โดยชาวเปอรานากันในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่จะอาศัยในรัฐมะละกาและรัฐปีนัง ส่วนในสิงคโปร์มีผู้พูดภาษานี้ในเขตกาตง เขตกีย์แลนด์ และเขตเจาเฉียต และในอินโดนีเซีย มีผู้พูดภาษานี้แถบชวาตะวันออกโดยเฉพาะเมืองซูราบายาปัจจุบันมีผู้ใช้ภาษามลายูบ้าบ๋าน้อยลงจนเป็นภาษาใกล้สูญ ในประเทศอินโดนีเซีย ชาวเปอรานากันในแถบชวากลางหันมาพูดภาษาชวามากขึ้น ส่วนในแถบชวาตะวันตกก็หันมาพูดภาษาซุนดา และแถบซูราบายาเอง เด็กเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ก็หันมาพูดภาษาชวาถิ่นซูราบายาแทน และหลายคนเลือกที่จะเรียนรู้ภาษาจีนกลางมากกว่าภาษามลายูบ้าบ๋า จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษามลายูบ้าบ๋าลดความสำคัญลงไป ส่วนคนรุ่นใหม่ยังสามารถใช้ภาษาผสมนี้ได้ แต่ใช้ได้อย่างจำกัด จึงได้นำคำใหม่เข้ามาใช้ (และเสียคำเก่าไป) จนกลายเป็นศัพท์สแลง จึงกลายเป็นช่องว่างของภาษาระหว่างคนเปอรานากันรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่

ภาษามลายูบ้าบ๋า

ตระกูลภาษา
ภาษาครีโอลมลายู
  • ภาษามลายูบ้าบ๋า
ระบบการเขียน อักษรละติน
จำนวนผู้พูด 20,000 คน ในอินโดนีเซีย 10,000 คน ในสิงคโปร์ (ปี ค.ศ. 1986) 5,000 คน ในมาเลเซีย  (ไม่พบวันที่)
ISO 639-3 mbf
ประเทศที่มีการพูด ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศอินโดนีเซีย