ระบบการเขียน ของ ภาษาสเปน

ตัวอักษร

ตัวอักษรเอเญบนแป้นพิมพ์ภาษาสเปน

ภาษาสเปนใช้อักษรละตินในการเขียนเช่นเดียวกับภาษาส่วนใหญ่ในยุโรป แต่จะมีอักขระเพิ่มขึ้นมาหนึ่งตัวคือ ñ หรือเรียกว่า "เอเญ" นอกจากนี้ยังมีทวิอักษร ch "เช" และ ll "เอเย" โดยถือว่าทั้งสองเป็นตัวอักษรในชุดตัวอักษรสเปนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1803[62][63] เนื่องจากใช้แทนเสียงที่ไม่ใช่เสียงเดียวกับเสียงตัวอักษรที่ประกอบขึ้นเป็นตัวมันเอง กล่าวคือ ‹ñ› แทนหน่วยเสียง /ɲ/, ‹ch› แทนหน่วยเสียง /t͡ʃ/ และ ‹ll› แทนหน่วยเสียง /ʎ/ หรือ /ɟ͡ʝ/ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ทวิอักษร rr "เอเรโดเบล" หรือเรียกอย่างง่ายว่า "เอร์เร" (คนละตัวกับ ‹r› "เอเร") จะแทนหน่วยเสียงต่างหากเช่นกันคือ /r/ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นตัวอักษรต่างหากเหมือน ‹ch› และ ‹ll›

ในการประชุมครั้งที่ 10 ของสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนซึ่งจัดขึ้นที่กรุงมาดริดเมื่อปี ค.ศ. 1994 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการใช้ชุดตัวอักษรละตินแบบสากลตามที่องค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรร้องขอ ส่งผลให้ทวิอักษร ‹ch› และ ‹ll› ไม่ถือเป็นตัวอักษรโดด ๆ แต่ถือเป็นพยัญชนะซ้อน เพื่อให้ง่ายต่อการสืบค้นและการเรียงลำดับคำในพจนานุกรม คำต่าง ๆ ที่ขึ้นต้นด้วย ‹ch› จึงถูกนำไปจัดเรียงอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹ce› และ ‹ci› แทน ต่างจากเดิมที่ถูกจัดไว้ต่อจากคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹cz› ส่วนคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹ll› ก็ถูกจัดอยู่ระหว่างคำที่ขึ้นต้นด้วย ‹li› และ ‹lo› เช่นกัน อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปครั้งนั้นมีผลเฉพาะต่อการเรียงลำดับคำตามตัวอักษรเท่านั้น ไม่มีผลต่อชุดตัวอักษรสเปนซึ่งทวิอักษร ‹ch› และ ‹ll› ยังคงเป็นส่วนหนึ่งในนั้นอยู่[64] จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 หนังสือคู่มืออักขรวิธีภาษาสเปน (Ortografía de la lengua española) ซึ่งจัดทำโดยราชบัณฑิตยสถานสเปนร่วมกับสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนได้ตัด ‹ch› และ ‹ll› ออกจากชุดตัวอักษรอย่างสมบูรณ์[65]

ดังนั้น ชุดตัวอักษรสเปนในปัจจุบันจึงประกอบด้วยตัวอักษร 27 ตัว[66] ได้แก่

a, b, c, d, e, f, g, h, i, j, k, l, m, n, ñ, o, p, q, r, s, t, u, v, w, x, y, z

เครื่องหมายอื่น ๆ

คำสเปนแท้จะมีการลงน้ำหนักที่พยางค์ก่อนพยางค์สุดท้ายของคำ หากคำนั้นลงท้ายด้วยสระ (ไม่รวม ‹y›) หรือลงท้ายด้วยพยัญชนะ ‹n› หรือ ‹s› นอกนั้นจะลงน้ำหนักที่พยางค์สุดท้าย แต่ถ้าตำแหน่งที่ลงน้ำหนักในคำไม่เป็นไปตามกฎดังกล่าว สระในพยางค์ที่ถูกเน้นก็จะมีเครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัด (acute accent) กำกับไว้ข้างบน เช่น gina, cimo, jamón, tailandés และ árbol แต่เครื่องหมายลงน้ำหนักมักจะถูกละบ่อยครั้งเมื่อสระที่มันกำกับเสียงหนักอยู่เป็นตัวพิมพ์ใหญ่ (ในยุคแรก ๆ คอมพิวเตอร์บางเครื่องสามารถพิมพ์ได้เฉพาะตัวพิมพ์เล็กที่มีเครื่องหมายนี้กำกับเท่านั้น) ซึ่งราชบัณฑิตยสถานสเปนก็แนะนำไม่ให้ทำเช่นนั้น[67][68]

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เครื่องหมายลงน้ำหนักเด่นชัดเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างคำพ้องเสียง เช่น ระหว่าง el (คำกำกับนามเพศชาย ชี้เฉพาะ) กับ él (‘เขา’ สรรพนามบุรุษที่ 3 เอกพจน์ รูปประธาน) หรือระหว่าง te (‘เธอ’ สรรพนามบุรุษที่ 2 เอกพจน์ รูปกรรม) de (‘แห่ง’ หรือ ‘จาก’) และ se (สรรพนามสะท้อน) กับ té (‘น้ำชา’) dé (‘ให้’) และ sé (‘ฉันรู้’ หรือ ‘จงเป็น...’)

ในภาษาสเปน จะมีการลงน้ำหนักสรรพนามคำถามต่าง ๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น qué (‘อะไร’), cuál (‘อันไหน’), dónde (‘ที่ไหน’), quién (‘ใคร’) ทั้งที่อยู่ในประโยคคำถามตรง (direct questions) และประโยคคำถามอ้อม (indirect questions) ส่วนคำระบุเฉพาะ (demonstratives) เช่น ése, éste, aquél และอื่น ๆ จะลงน้ำหนักเมื่อใช้เป็นสรรพนาม

คำสันธาน o (‘หรือ’) แต่เดิมจะเขียนโดยใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักเมื่ออยู่ระหว่างจำนวนที่เป็นตัวเลข เพื่อไม่ให้สับสนกับเลขศูนย์ เช่น 10 ó 20 จะอ่านว่า diez o veinte (‘10 หรือ 20’) ไม่ใช่ diez mil veinte (‘10,020’) จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2010 ราชบัณฑิตยสถานสเปนและสมาคมบัณฑิตยสถานภาษาสเปนได้กำหนดว่าไม่ต้องใส่เครื่องหมายลงน้ำหนักบนคำสันธานนี้แล้ว เนื่องจากเห็นว่าไม่ใช่พยางค์ที่ลงน้ำหนักในประโยค และในทางปฏิบัติก็ไม่พบว่าเกิดความเข้าใจสับสนระหว่างตัว o กับเลขศูนย์ในบริบทนี้แต่อย่างใด[69]

ในบางกรณี เมื่อตัวอักษร ‹u› อยู่ระหว่างพยัญชนะ ‹g› กับสระหน้า (‹e, i›) จะต้องใส่เครื่องหมายเสริมสัทอักษรกำกับเป็น ‹ü› เพื่อบอกว่าเราต้องออกเสียง u ตัวนี้ด้วย (ปกติตัว ‹u› จะทำหน้าที่กันไม่ให้ ‹g› ที่จะประกอบขึ้นเป็นพยางค์กับสระ ‹e› หรือ ‹i› ออกเสียงเป็น /x/ เราจึงไม่ออกเสียงสระ ‹u› ในตำแหน่งนี้) เช่น cigüeña (‘นกกระสา’) จะออกเสียงว่า /θiˈɡweɲa/ [ซี.กฺเว.ญา] แต่ถ้าสะกดว่า *cigueña จะต้องออกเสียงเป็น /θiˈɡeɲa/ [ซี.เก.ญา] นอกจากนี้ เรายังอาจพบเครื่องหมายเสริมสัทอักษรดังกล่าวบนสระ ‹i› และ ‹u› ได้ในกวีนิพนธ์ต่าง ๆ เนื่องจากผู้แต่งต้องการแยกสระประสม (ซึ่งปกตินับเป็นหนึ่งพยางค์) ออกเป็นสองพยางค์ เพื่อให้มีจำนวนพยางค์ในวรรคตรงตามที่ฉันทลักษณ์ของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ บังคับไว้พอดี เช่น ruido มีสองพยางค์คือ rui-do [รุยโด] แต่ ruïdo มีสามพยางค์คือ ru-ï-do [รูอีโด]

อีกประการหนึ่ง การเขียนประโยคคำถามจะขึ้นต้นด้วยปรัศนีหัวกลับ ‹¿› ส่วนประโยคอุทานก็จะขึ้นต้นด้วยอัศเจรีย์หัวกลับ ‹¡› เครื่องหมายพิเศษสองตัวนี้ช่วยให้เราอ่านประโยคคำถามและประโยคอุทาน (ซึ่งจะแสดงออกให้ทราบได้ด้วยการใช้ทำนองเสียงแบบต่าง ๆ เมื่อสนทนาเท่านั้น) ได้ง่ายขึ้น โดยเราจะทราบได้ตั้งแต่แรกว่าประโยคยาว ๆ ที่อ่านอยู่เป็นประโยคแบบใด (บอกเล่า คำถาม หรืออุทาน) ในภาษาอื่นไม่จำเป็นต้องใช้ ‹¿› และ ‹¡› เนื่องจากมีระบบวากยสัมพันธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดความกำกวมในการอ่าน เพราะโดยทั่วไปแล้ว การสร้างประโยคบอกเล่ามักจะนำประธานมาไว้ต้นประโยคแล้วจึงตามด้วยกริยา เราจะย้ายกริยามาไว้ต้นประโยคแล้วตามด้วยประธานก็ต่อเมื่อทำเป็นประโยคคำถาม แต่ในภาษาสเปน เราสามารถเรียงลำดับโดยให้กริยามาก่อนประธานได้เป็นปกติ ไม่ว่าในประโยคบอกเล่าหรือประโยคคำถาม และมักจะละประธานออกไปด้วย (เช่น Is he coming tomorrow?, Vient-il demain?, Kommt er morgen? และ ¿Viene mañana?)

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาสเปน http://www.argentina.gov.ar/argentina/portal/pagin... http://www.indec.mecon.ar/nuevaweb/cuadros/2/proye... http://www.turismobolivia.bo/loader_es.php?n1=1&n2... http://www.mre.gov.br/portugues/imprensa/nota_deta... http://www.governmentofbelize.gov.bz/ab_people.htm... http://www12.statcan.ca/francais/census06/data/top... http://www.mainframe.cl/diccionario/diccionario.ph... http://www.sernatur.cl/internacional/?lang=1 http://www.cna.gov.co/cont/documentos/legislacion/... http://www.dane.gov.co/reloj/reloj_animado.php