คำศัพท์ ของ ภาษาอังกฤษ

คำเจอร์แมนิก (Germanic, คำจากภาษาอังกฤษเก่าหรือ ในวงแคบกว่า คำที่มีกำเนิดจากภาษานอร์สโบราณโดยทั่วไป) มีแนวโน้มสั้นกว่า คำลาติเนต (Latinate, คำที่มีรากศัพท์หรือเลียนภาษาละติน) และใช้พูดในชีวิตประจำวันมากกว่า ซึ่งรวมสรรพนาม บุพบท สันธาน กริยาช่วย ฯลฯ พื้นฐานแทบทั้งหมด ซึ่งเป็นฐานของวากยสัมพันธ์และไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ โดยทั่วไป ความสั้นของคำนั้นมาจากการตัดกลางคำในภาษาอังกฤษกลาง (เช่น อังกฤษเก่า hēafod → อังกฤษใหม่ head, อังกฤษเก่า sāwol → อังกฤษใหม่ soul) และจากการตัดพยางค์สุดท้ายเนื่องจากการเน้นพยางค์ (เช่น อังกฤษเก่า gamen → อังกฤษใหม่ game, อังกฤษเก่า ǣrende → อังกฤษใหม่ errand) มิใช่เพราะคำเจอร์แมนิกสั้นกว่าคำลาติเนตเป็นปกติอยู่แล้ว คำซึ่งมักพิจารณาว่าสละสลวยหรือมีการศึกษาในภาษาอังกฤษใหม่จึงมักเป็นคำลาติเนต

ในหลายกรณี ผู้ใช้ภาษาอังกฤษสามารถเลือกระหว่างไวพจน์เจอร์แมนิกและลาติเนต เช่น come หรือ arrive, sight หรือ vision, freedom หรือ liberty ในบางกรณี มีทางเลือกระหว่างคำที่มีรากศัพท์จากกลุ่มภาษาเจอร์แมนิก (oversee) คำที่มีรากศัพท์จากภาษาละติน (supervise) และคำภาษาฝรั่งเศสที่มีรากศัพท์มาจากคำเดียวกันในภาษาละติน (survey) หรือกระทั่งคำเจอร์แมนิกที่มีรากศัพท์จากภาษานอร์มัน (เช่น warranty) กับภาษาฝรั่งเศสสำเนียงปารีส (guarantee) หรือแม้แต่ทางเลือกระหว่างแหล่งเจอร์แมนิกและลาติเนตหลายแหล่งก็มี เช่น sickness (อังกฤษเก่า), ill (นอร์สโบราณ), infirmity (ฝรั่งเศส), affliction (ละติน) อย่างไรก็ดี ไวพจน์จำนวนมากนี้มิใช่ผลของอิทธิพลภาษาฝรั่งเศสและละติน เพราะภาษาอังกฤษมีคำหลากหลายอยู่แล้วก่อนยืมคำภาษาฝรั่งเศสและละตินอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ในชื่อสัตว์และเนื้อสัตว์จะใช้ศัพท์แยกจากกัน ชื่อสัตว์มักมีชื่อเจอร์แมนิก และเนื้อมีชื่อที่มีรากศัพท์จากภาษาฝรั่งเศส ตัวอย่างเช่น deer และ venison, cow และ beef; swine/pig และ pork, และ sheep/lamb และ mutton ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นผลจากการพิชิตอังกฤษของนอร์มัน ซึ่งชนชั้นสูงที่พูดภาษาแองโกล-นอร์มันเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ผลิตโดยชนชั้นล่าง ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวแองโกล-แซ็กซอน

ภาษาอังกฤษรับศัพท์เทคนิคมาใช้กันทั่วไปโดยง่ายและมักรับคำและวลีใหม่ ๆ เข้ามา ตัวอย่างปรากฏการณ์นี้ เช่น cookie, Internet และ URL (ศัพท์เทคนิค) เช่นเดียวกับ genre, über, lingua franca และ amigo ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลีและสเปนตามลำดับ นอกเหนือจากนี้ สแลงมักให้ความหมายใหม่แก่คำและวลีเก่าด้วย

จำนวนคำในภาษาอังกฤษ

คำศัพท์ในภาษาอังกฤษนั้นมีมหาศาลอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การระบุตัวเลขขนาดแน่ชัดนั้นเป็นประเด็นการนิยามมากกว่าการคำนวณ และไม่มีแหล่งข้อมูลอย่างเป็นทางการที่จะนิยามคำและการสะกดภาษาอังกฤษที่ยอมรับกัน

บรรณาธิการของพจนานุกรมสากลใหม่ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สามของเว็บสเตอร์ ไม่ย่อ (Webster's Third New International Dictionary, Unabridged) รวมคำหลักสำคัญไว้ 475,000 คำ แต่ในคำนำ พวกเขาประมาณว่าตัวเลขที่แท้จริงจะสูงกว่านี้มาก นักภาษาศาสตร์และนักพจนานุกรมโดยทั่วไปไม่ถือการเปรียบเทียบขนาดคำศัพท์ภาษาอังกฤษกับขนาดคำศัพท์ภาษาอื่นจริงจังนัก และนอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ว่าพจนานุกรมจะมีนโยบายการรวมและนับหน่วยข้อมูลแตกต่างกัน[54]

ในเดือนธันวาคม 2553 การศึกษาร่วมของฮาร์วาร์ด/กูเกิลพบว่า ภาษาอังกฤษมีคำ 1,022,000 คำ และขยายตัวที่อัตรา 8,500 คำต่อปี[55] การค้นพบนี้มีขึ้นหลังการคำนวณโดยคอมพิวเตอร์จากหนังสือที่ถูกแปลงเป็นดิจิทัล 5,195,769 เล่ม ส่วนการค้นพบอื่นประมาณอัตราการเติบโตของคำไว้ 25,000 คำต่อปี[56]

ที่มาของคำ

ในบรรดาหนึ่งพันคำที่ใช้มากที่สุดในภาษาอังกฤษ ส่วนใหญ่ (พิสัยการประมาณตั้งแต่ราว 50%[57] ไปจนถึงกว่า 80%[58]) เป็นคำเจอร์แมนิก อย่างไรก็ดี คำขั้นสูงกว่าในหัวข้ออย่างวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและคณิตศาสตร์มาจากภาษาละตินหรือกรีก และยังมีภาษาอารบิกหลายคำในวิชาดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์และเคมี[59]

ที่มาของคำภาษาอังกฤษที่ใช้บ่อยที่สุด 7,476 คำ
100 คำแรก1,000 คำแรก1,000 คำที่สองที่เหลือ
เจอร์แมนิก97%57%39%36%
อิตาลิก3%36%51%51%
เฮลเลนิก04%4%7%
อื่น ๆ03%6%6%
ที่มา: Nation 2001, p. 265

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ภาษาอังกฤษ http://www.shlrc.mq.edu.au/~felicity/Papers/Prospe... http://www.censusdata.abs.gov.au/ABSNavigation/pre... http://www12.statcan.ca/english/census06/data/high... http://www.idsia.ch/~juergen/nobelshare.html http://www.idsia.ch/~juergen/scilang.html http://www.economist.com/world/europe/displayStory... http://www.eilj.com/index.php?option=com_phocadown... http://books.google.com/?id=0J2VOzNYtKQC http://books.google.com/?id=6lQTPxdYx8kC http://books.google.com/?id=LMZm0w0k1c4C