ลักษณะโดยทั่วไปของภาษาฮีบรู ของ ภาษาฮีบรู

ฮีบรูมีลักษณะคล้ายกับภาษาตะวันตกทั่วไป คือ มีเพศ พจน์ กาล การเน้นคำ และส่วนมากเป็นคำหลายพยางค์ (ไม่ใช่ภาษาคำโดด พยางค์เดียวอย่างภาษาไทย ภาษาจีน)ภาษาฮีบรูมีการสร้างคำ โดยเอารากศัพท์ (คืออักษรตัวหลัก) มาจากคำหลักๆ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ยินคำใหม่ ถ้าเรารู้รากศัพท์ และมีปฏิภาณ จะทำให้เดาความหมายของคำนั้นได้ ว่าน่าจะหมายถึงอะไร อีกประการหนึ่ง แม้ว่าไวยากรณ์ หรือหลักในภาษาฮีบรูจะมีมากมาย แต่ถ้าจำได้ ก็สามารถใช้ได้อย่างแม่นยำ ไม่สับสน เพราะเป็นหลักที่มั่นคง ไม่ค่อยมีข้อยกเว้นต่างๆ มากเหมือนในภาษาอังกฤษ

ลักษณะโดยทั่วๆ ไปของภาษาฮีบรู คล้ายกับภาษาตะวันตกอื่นๆ (เช่นภาษาฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน ฯลฯ) ซึ่งมีลักษณะหลักๆ ดังนี้

  1. คำส่วนมาก เป็นคำหลายพยางค์ ซึ่งต่างจากภาษาไทยที่อยู่ในตระกูลภาษาคำโดด
  2. คน สัตว์ สิ่งของ และทุกอย่าง มีเพศ (ซึ่งภาษาตะวันตกส่วนมากเป็นอย่างนี้ ยกเว้นภาษาอังกฤษ) เช่น ดอกไม้ หนังสือ เวลา แตงโม กลางคืน บ้าน รูปถ่าย เป็นเพศชาย ฯลฯ จาน สมุดจด กล้วย ความรัก รูปภาพ เป็นเพศหญิง ฯลฯ มีหลักง่ายๆ อย่างหนึ่งว่า ถ้าคำนามที่ลงท้ายด้วยเสียงสระ อะ ส่วนมากมักจะเป็นเพศหญิง
  3. มีการเปลี่ยนคำกิริยา (คือคำที่แสดงอาการ เช่น กิน นอน นั่ง ทำงาน เดิน เล่น ฯลฯ) และ คำวิเศษณ์ (คือคำขยาย เช่น เล็ก ใหญ่ แดง ดำ สูง ใกล้ ไกล สวย ดี เก่ง ฯลฯ) ไปตามประธานและสรรพนาม (คือคำ แทนตัว เช่น ฉัน คุณ เธอ เขา เรา) ที่ใช้ว่าเป็นผู้หญิง หรือ ผู้ชาย หนึ่ง หรือหลายคน อย่างที่เรียกว่าในภาษาอังกฤษว่า conjugation
  4. มีคำเอกพจน์ (คือ จำนวนเพียง ๑) และพหูพจน์ (คือ จำนวนที่มากกว่าหนึ่ง) ถ้าเป็นพหูพจน์เพศชาย ส่วนมากจะลงท้ายด้วยเสียงอิม เช่น ทะพุซิม (ส้มหลายลูก), บ่ะทิม (บ้านหลายหลัง), โค่ะว่ะอิม (หมวกหลายใบ) ฯลฯ ถ้าเป็นพหูพจน์เพศหญิง ส่วนมากจะลงท้ายด้วยเสียงโอ้ท เช่น บ่ะน่ะโน้ท (กล้วยหลายลูก) มะเดรียโก้ท (บันไดหลายขั้น) คุลทโซ้ท (เสื้อหลายตัว) ฯลฯ
  5. ถ้าคำกิริยาซ้อนกิริยา เช่น ชอบ + กิน คำกิริยาตัวหลัง (คือคำว่า กิน) จะเปลี่ยนรูป (เป็นเหมือน infinitive ในภาษาอังกฤษ เช่น I like to eat)
  6. ภาษาฮีบรู (ซึ่งเป็นภาษาหลายพยางค์) มีการเน้นว่า ต้องออกเสียงหนักที่พยางค์ไหน (stress) ซึ่งส่วนมากจะลงเสียงหนักที่พยางค์สุดท้าย หรือพยางค์ก่อนสุดท้าย ซึ่งการเน้นเสียงนี้ ไม่มีในภาษาไทย แต่ของเราจะมีการออกเสียงสูงต่ำ (tonation) คือ เสียงวรรณยุกต์, เสียงสามัญ - เสียงจัตวา แต่เสียงสูงต่ำ ไม่ได้ทำให้ความหมายของคำฮีบรูเปลี่ยนแปลงไป เช่น คำว่า ปา ป่า ป้า ทุกคำมีความหมายเดียวกันในภาษาฮีบรู (และภาษาตะวันตกทั่วๆ ไป)
  7. มีการเน้นเสียงที่บางพยางค์ของคำ คือ ภาษาฮีบรูมีการเน้นลงเสียงหนัก 2 แบบ คือ เน้นหนักที่พยางค์ท้ายและพยางค์ก่อนสุดท้าย โดยแบบแรกพบมากกว่า และพยางค์สุดท้ายมักเป็นสระเสียงยาว กฎนี้จึงไม่ปรากฏในภาษาพูด โดยมากความยาวของเสียงสระจะต่างระหว่างกริยาและคำนาม ซึ่งมีอิทธิพลมาจากการเน้นเสียง เช่น ókhel (อาหาร) กับ okhél (การกิน) ต่างกันที่ความยาวของเสียงสระซึ่งจะเขียนเหมือนกันถ้าไม่แสดงรูปสระ
  8. คำในภาษาไทย เป็นเสียงสั้น หรือเสียงยาว ตามเสียงสระชัดเจน เช่น อะ – อา, อิ – อี, โอะ – โอ อำ ไอ ฯลฯ แต่เสียงสั้นยาว ไม่ได้ทำให้คำในภาษาฮีบรูเปลี่ยนความหมาย และคำในภาษาฮีบรูส่วนมาก จะเป็นสระเสียงสั้นมากกว่าเสียงยาว แต่เป็นเสียงสั้น ที่ไม่สั้นชัดๆ แบบในภาษาไทย เช่น คำว่ากิน หรือ โอเค็ล การออกเสียงพยางค์แรก โอะ ไม่ยาวแบบสระโอ แต่ไม่ใช่เสียงสั้นชัดๆ แบบสระโอะ คือจะเป็นเสียงคล้ายๆ สระโอะ แต่ยาวกว่านั้น และไม่ยาวเท่าเสียงโอ

นอกจากจะมีการผันคำกิริยาไปตามเพศ (gender), จำนวนของประธาน (number) และ ตามกาลเวลาที่ทำกิริยานั้นๆ (tense) ด้วย คือเปลี่ยนไปตาม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ยกตัวอย่าง เช่น คำว่า “กิน” จะเปลี่ยนไปดังนี้ (ในรูป infinitive ของคำว่า “กิน” ในภาษาฮีบรู คือ เล่ะเอโค็ล)

ประธาน +  (กิน) ในกาลปัจจุบัน 
  • ผู้ชาย 1 คน (เช่น จอห์น) ใช้คำว่า โอเค็ล
  • ผู้หญิง 1 คน (เช่น ซาราห์) ใช้คำว่า โอเค่ะเล็ท
  • พหูพจน์ ชาย/ชาย ชาย/หญิง ใช้คำว่า โอคลิม
  • พหูพจน์ ที่เป็น หญิง/หญิง ใช้คำว่า โอคโล็ท