ไวยากรณ์ ของ ภาษาเยอรมัน

ภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่มีการผันคำในระดับปานกลาง

การผันคำนาม

การผันคำนำหน้านามชี้เฉพาะ (definite article) ซึ่งเทียบเท่ากับ "the" ในภาษาอังกฤษ

คำนามและคำนำหน้านามในภาษาเยอรมัน มีการผันตามเพศ พจน์ และการก

  • มี 4 พจน์ ได้แก่ ประธาน(Nominativ) กรรมตรง(Akkusativ) กรรมรอง(Dativ) และเจ้าของ (Genitiv)
  • มี 3 เพศ ได้แก่ เพศชาย เพศหญิง และเพศกลาง คำบางคำสามารถระบุเพศได้จากคำลงท้าย เช่น คำนามที่ลงท้ายด้วย -ung, -schaft, -keit หรือ -heit เป็นเพศหญิง คำนามที่ลงท้ายด้วย -chen หรือ -lein เป็นเพศกลาง และคำนามที่ลงท้ายด้วย -ismus เป็นเพศชาย คำอื่น ๆ จะบ่งบอกได้ยากกว่า บางคำมีเพศต่างกัน ขึ้นกับสำเนียงท้องถิ่น คำลงท้ายบางแบบมีได้ทั้งสามเพศ เช่น -er เช่น Feier ("งานฉลอง")เป็นหญิง Arbeiter ("ผู้ทำงาน")เป็นชาย และ Gewitter ("พายุฝนฟ้าคะนอง") เป็นกลาง
  • มี 2 พจน์ คือ เอกพจน์และพหูพจน์

ภาษาเยอรมันปัจจุบัน ถือว่ามีการผันน้อยลงมาก เมื่อเทียบกับในอดีต โดยในพหูพจน์ ทั้งสามเพศได้ลดรูปลงมาผันแบบเดียวกัน ดังนั้นจึงอาจมองว่ามี 4 พจน์ คูณกับเอกพจน์ 3 เพศและพหูพจน์ ได้เป็น 16 แบบ อย่างไรก็ตาม คำนำหน้านามชี้เฉพาะมีรูปแตกต่างกันแค่ 6 รูป และสำหรับตัวคำนามเอง สำหรับคำนามเพศชายและเพศกลางส่วนใหญ่ ในเอกพจน์จำเป็นต้องเมื่อเป็นเจ้าของหรือเป็นกรรมรองเท่านั้น ซึ่งการผันเหล่านี้ปัจจุบันก็พบได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ในภาษาปาก ซึ่งมักเลี่ยงไปใช้รูปประโยคแบบอื่น[4] และการลงท้ายคำนามที่เป็นกรรมรอง ก็ถือว่าเป็นภาษาเก่า ซึ่งปัจจุบันแทบไม่มีการใช้ แม้แต่ในภาษาเขียน เว้นแต่สำนวนที่ใช้กันจนเคยชินบางสำนวน มีคำนามเพศชายและเพศกลางเพียงบางคำเท่านั้นที่จะมีการผันคำลงท้ายทั้งรูปกรรมตรง รูปกรรมรอง และรูปเจ้าของ (เรียกว่า N-declension) สำหรับคำนามเพศหญิงในเอกพจน์จะไม่มีการผันเลย คำนามพหูพจน์(ซึ่งทุกเพศเหมือนกัน)มีการผันคำลงท้ายในรูปกรรมรองรูปเดียว โดยรวมแล้ว คำลงท้ายคำนามที่เป็นไปได้ในทั้งหมดภาษาเยอรมัน (ไม่นับการสร้างพหูพจน์) มี 7 แบบ ได้แก่ -s, -es, -n, -ns, -en, -ens, -e

ในระบบเขียนเยอรมัน คำนามและคำที่ทำหน้าที่เป็นคำนามทุกคำ จะขึ้นด้วยอักษรตัวใหญ่เสมอ เพื่อสะดวกต่อการดูหน้าที่คำในประโยค (Am Freitag ging ich einkaufen. – "ผมไปช็อปปิงมาเมื่อวันศุกร์"; Eines Tages kreuzte er endlich auf. – "วันหนึ่งเขาก็มาโผล่หน้าในที่สุด") ลักษณะการใช้ตัวอักษรตัวใหญ่แบบนี้ เคยแพร่หลายในภาษาอื่น ๆ เช่นภาษาเดนมาร์ก (ซึ่งยกเลิกการทำเช่นนี้ใน ค.ศ. 1948) และอังกฤษ แต่ปัจจุบันแทบจะพบในภาษาเยอรมันภาษาเดียว โดยพบได้อีกแค่ในภาษาลักเซมเบิร์ก และภาษาฟรีเชียเหนือบางสำเนียง

ภาษาเยอรมันประสมคำนามโดยคำแรกขยายคำที่สอง เหมือนกับในภาษาตระกูลเจอร์แมนิกอื่น ๆ อย่างภาษาอังกฤษ (Hundehütte "บ้านสุนัข" มาจาก Hund "สุนัข" ประสมกับ Hütte "บ้าน") แต่ภาษาเยอรมันต่างจากอังกฤษ เพราะไม่มีการเว้นวรรคคั่นระหว่างองค์ประกอบที่มีประสมกัน ทำให้คำเยอรมันมีคำยาวเท่าใดก็ได้ในทางทฤษฎี ตัวอย่างเช่น คำเยอรมันที่ยาวที่สุดที่มีการใช้งานในราชการจริง คือคำว่า Rindfleischetikettierungsüberwachungsaufgabenübertragungsgesetz แปลว่า "กฎหมายว่าด้วยการมอบหมายหน้าที่ในการควบคุมดูแลการติดฉลากเนื้อวัว" [มาจาก Rind (วัว), Fleisch (เนื้อ), Etikettierung(s) (การติดฉลาก), Überwachung(s) (การควบคุมดูแล), Aufgaben (หน้าที่), Übertragung(s) (การมอบหมาย), Gesetz (กฎหมาย)]

การผันกริยา

กริยาเยอรมันมีการผันตามปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่

  • ประเภทของคำกริยา ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ เรียกว่า กริยาอ่อนและกริยาแข็ง (เหมือนกริยาปกติและไม่ปกติในอังกฤษ) ประกอบกับกริยาผสมซึ่งมีคุณสมบัติอ่อนและแข็งปนกัน
  • 3 บุรุษ คือ บุรุษที่ 1 2 และ 3
  • 2 พจน์ คือ เอกพจน์ และ พหูพจน์
  • 3 มาลา คือ มาลาบอกเล่า (Indikativ) สมมุติมาลา (Konjunktiv) และมาลาคำสั่ง (Imperativ)
  • 2 วาจก คือ กรรตุวาจก (Aktiv) และ กรรมวาจก (Passiv) กรรมวาจกใช้กริยา werden ("กลายเป็น") ในกรณีแสดงการถูกกระทำ หรือ sein ("เป็น") ในกรณีแสดงสถานะ
  • 6 กาล มี 2 กาลที่ไม่ต้องใช้กริยาช่วยคือ ปัจจุบันกาล (Präsens) และอดีตกาล (Präteritum) กับอีก 4 กาลที่ใช้กริยาช่วยคือ ปัจจุบันกาลสมบูรณ์ (Perfekt) อดีตกาลสมบูรณ์ (Plusquamperfekt) อนาคตกาล (Futur I) และอนาคตกาลสมบูรณ์ (Futur II)
  • การแสดงการณ์ลักษณะ ใช้สมมุติมาลาและอดีตกาลประกอบกัน ดังนั้นการบอกเล่าจะไม่ใช้การผันทั้งสองแบบดังกล่าว การใช้สมมุติมาลาอย่างเดียวแสดงถึงข้อมูลที่ได้มาโดยอ้อม การใช้สมมุติมาลาในอดีตกาลแสดงถึงเงื่อนไข และอดีตกาลอย่างเดียวใช้แสดงอดีตตามปกติ หรือใช้แทนรูปแบบทั้งสองอย่างข้างต้น

คำอุปสรรคกริยา

คำกริยาเยอรมันมีการใช้คำอุปสรรคเพื่อเปลี่ยนเป็นกริยาตัวใหม่ เช่น blicken ["มอง"], erblicken ["เห็น"] คำอุปสรรคอาจเปลี่ยนความหมายเพียงเล็กน้อยหรือมากก็ได้ คำอุปสรรคบางคำมีความหมายเฉพาะ เช่น zer- สื่อถึงการทำลาย เช่น zerreißen ("ฉีกเป็นชิ้น"), zerbrechen ("ทำให้แตกเป็นเสี่ยง"), zerschneiden ("ตัดให้ขาดออกจากกัน") คำอุปสรรคคำอื่น ๆ แทบไม่มีความหมายในตัวเอง เช่น ver- พบในกริยาจำนวนมากและมีความหมายหลายอย่าง เช่น versuchen ("พยายาม") มาจาก suchen ("ค้นหา"), vernehmen ("สอบสวน') มาจาก nehmen ("เอา/รับ"), verteilen ("แจกจ่าย") มาจาก teilen ("แบ่ง"), verstehen ("เข้าใจ") มาจาก stehen ("ยืน")

ตัวอย่างอื่น ๆ เช่น verhaften ("จับกุม") มาจาก haften ("ติด"), verkaufen ("ขาย") มาจาก kaufen ("ซื้อ"), aufhören ("เลิก") มาจาก hören ("ได้ยิน"), erfahren ("ประสบ") มาจาก fahren ("ขับรถ")

กริยาบางตัวมีคำอุปสรรคที่แยกได้ ซึ่งมักมีความหมายเป็นคำขยายกริยา ในรูปกริยาแท้ คำอุปสรรคจะแยกออกมาจากกริยาและไปอยู่ท้ายประโยค เช่น mitgehen แปลว่า "ไปด้วย" แต่กลายเป็นคำถามว่า Gehen Sie mit? (แปลตรงตัว: "ไปคุณด้วยกัน?"; แปลตามความหมาย: "คุณจะไปด้วยกันไหม?")

บางครั้ง อาจมีอนุประโยคจำนวนมากแทรกอยู่ระหว่างคำอุปสรรคของกริยาแท้กับส่วนที่เหลือ เช่น สำหรับกริยา ankommen = "มาถึง" er kam an = "เขาได้มาถึง" er ist angekommen = "เขามาถึงแล้ว" อาจสร้างประโยคได้ว่า:

Er kam am Freitagabend nach einem harten Arbeitstag und dem üblichen Ärger, der ihn schon seit Jahren immer wieder an seinem Arbeitsplatz plagt, mit fraglicher Freude auf ein Mahl, das seine Frau ihm, wie er hoffte, bereits aufgetischt hatte, endlich zu Hause an.

ซึ่งแปลว่า

เขามาถึงบ้านในที่สุดตอนเย็นวันศุกร์ หลังจากผ่านพ้นวันทำงานที่หนักและสิ่งน่ารำคาญเช่นเคยที่ได้รบกวนเขาในที่ทำงานอย่างเป็นประจำมาหลายปีแล้ว พร้อมรู้สึกมีความสุขอย่างน่าสงสัยกับอาหารที่ภรรยาของเขาได้เตรียมไว้บนโต๊ะเรียบร้อยแล้วตามที่เขาหวังไว้

วากยสัมพันธ์

ลักษณะทางวากยสัมพันธ์ของภาษาเยอรมัน โดยทั่วไปในประโยคหลัก คำกริยาแท้จะอยู่ตำแหน่งที่สอง (V2 word order) และมีการเรียงแบบ ประธาน-กรรม-กริยา (SOV) ในคำถาม คำอุทาน และคำสั่ง กริยาแท้จะถูกสลับขึ้นมาอยู่ตำแหน่งแรก ในอนุประโยคกริยาทุกตัวจะอยู่ท้ายสุด

ภาษาเยอรมันบังคับให้มีกริยา(ไม่ว่าจะเป็นกริยาหลักหรือกริยาช่วย)อยู่ในตำแหน่งที่สองของประโยค และให้นำหัวข้อของประโยคมานำในตำแหน่งแรก และคำที่เน้นจะเอาไว้สุดท้าย เช่น ประโยคที่ไม่มีกริยาช่วยต่อไปนี้ แปลว่า "ชายแก่ให้หนังสือกับผมเมื่อวาน" เรียงลำดับได้หลายแบบ:

Der alte Mann gab mir gestern das Buch. (ชายแก่ ให้ กับผม เมื่อวาน หนังสือ; ลำดับปกติ)Das Buch gab mir gestern der alte Mann. (หนังสือ ให้ กับผม เมื่อวาน ชายแก่)Das Buch gab der alte Mann mir gestern. (หนังสือ ให้ ชายแก่ กับผม เมื่อวาน)Das Buch gab mir der alte Mann gestern. (หนังสือ ให้ กับผม ชายแก่ เมื่อวาน)Gestern gab mir der alte Mann das Buch. (เมื่อวาน ให้ กับผม ชายแก่ หนังสือ; ลำดับปกติ)Mir gab der alte Mann das Buch gestern. (กับผม ให้ ชายแก่ หนังสือ เมื่อวาน (การเอา"กับผม"ขึ้นก่อน และ "เมื่อวาน" ลงท้าย เป็นการเน้น เหมือนพูดว่า "กับคุณ เขาให้หนังสือวันอื่น ไม่ใช่วันนี้"))

สังเกตว่าตำแหน่งของคำนามในภาษาเยอรมัน ไม่ส่งผลถึงความเป็นประธานหรือกรรม เนื่องจากมีการผันแสดงการกอยู่แล้ว ภาษาเยอรมันจึงสามารถย้ายลำดับได้ค่อนข้างเสรี ทำให้สามารถเน้นคำที่ต้องการได้

กริยาช่วย

เมื่อมีกริยาช่วยในประโยค จะอยู่ตำแหน่งที่สอง ส่วนกริยาหลักจะเป็นรูปไม่ผัน (Infinitiv) และถูกย้ายไปท้ายประโยค เช่น ประโยคว่า Er soll nach Hause gehen. ("เขาควรกลับบ้าน" แปลตรงตัวคือ "เขา ควร บ้าน กลับ")

กริยาไม่ผันหลายตัว

ในอนุประโยค กริยาทุกตัวจะอยู่ท้ายประโยค และเนื่องจากกริยาสามารถใช้แสดงทั้งอนาคตกาล กรรมวาจก ทัศนภาวะ และกาลสมบูรณ์ จึงสามารถสร้างประโยคซ้อนที่มีกริยาหลายตัวอัดกันอยู่ข้างท้ายได้ เช่นMan nimmt an, dass der Deserteur wohl erschossenV wordenpsv seinperf sollmod("เป็นที่สงสัยว่า ผู้หนีทัพน่าจะถูกยิงไปแล้ว")