พายุหมุนเขตร้อน ของ ภูมิอากาศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างบริเวณแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน ด้านตะวันออกคือมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ ส่วนด้านตะวันตกคืออ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน โดยพายุมีโอกาสเคลื่อนจากมหาสมุทรแปซิฟิก และทะเลจีนใต้เข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออกมากกว่าทางตะวันตก ปกติประเทศไทยจะมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 ลูกต่อปี บริเวณที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุดคือภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะทางตอนบนของภาค ในระยะต้นปีระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมเป็นช่วงที่ประเทศไทยปลอดจากอิทธิพลของพายุ ต่อมาเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีที่พายุเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคใต้ แต่มีโอกาสน้อยและเคยเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในรอบ 55 ปี (พ.ศ. 2494 - 2555) พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นพายุที่เคลื่อนมาจากด้านตะวันตกเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน และตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไปพายุส่วนใหญ่จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออก โดยช่วงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมพายุยังคงเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบน ซึ่งบริเวณตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่พายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านเข้ามามากที่สุด และเดือนกันยายนถึงตุลาคมพายุมีโอกาสเคลื่อนเข้ามาได้ในทุกพื้นที่ โดยเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตั้งแต่เดือนกันยายน ในสองเดือนนี้เป็นระยะที่พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยได้มากโดยเฉพาะเดือนตุลาคม มีสถิตเคลื่อนเข้ามามากที่สุดในรอบปีสำหรับช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนเดือนพฤศจิกายน พายุจะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนได้น้อยลง และมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้มากขึ้น เมื่อถึงเดือนธันวาคมพายุมีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้เท่านั้น โดยไม่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนอีกพายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อลมฟ้าอากาศของประเทศไทย ส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตกและทะเลจีนใต้ ซึ่งมีการแบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามข้อตกลง ระหว่างประเทศโดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุดังนี้

  • พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่งโมง)
  • พายุโซนร้อน (Tropical strom) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง34 นอต (63 กิโลเมตรต่อชั่งโมง) ขึ้นไปแต่ไม่ถึง 64 นอต (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
  • ไต้ฝุ่นหรือเฮอร์ริเคน (Typhoon, Hurricane) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 64 นอตขึ้นไป (118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ความเสียหายจากพายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่จังหวัดชุมพร เมื่อ พ.ศ. 2532

พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยตอนบนส่วนใหญ่เป็นพายุดีเปรสชัน เพราะพื้นดินและเทือกเขาของประเทศพม่า เวียดนาม ลาว และกัมพูชาที่ล้อมรอบประเทศไทยตอนบน เป็นปัจจัยที่ช่วยลดความรุนแรงของพายุก่อนที่จะเคลื่อนมาถึงประเทศไทย ดังนั้นความเสียหายที่เกิดจากลมแรง จึงน้อยกว่าภาคใต้ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นพื้นที่เปิดสู่ทะเล พายุที่เคลื่อนเข้าสู่อ่าวไทยและขึ้นฝั่งภาคใต้ขณะมีกำลังแรงขนาดพายุโซนร้อน หรือไต้ฝุ่นจะมีผลกระทบเป็นอย่างมากจากคลื่นพายุซัดฝั่ง ลมที่พัดแรงจัด และฝนที่ตกหนักถึงหนักมากจนเกิดอุทกภัย รวมทั้งคลื่นลมแรงในอ่าวไทย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้น 3 ครั้งในอดีต ได้แก่พายุโซนร้อนแฮเรียต ที่เคลื่อนเข้าสู่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2505 พายุไต้ฝุ่นเกย์ ที่เคลื่อนเข้าสู่จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และพายุไต้ฝุ่นลินดา ที่เคลื่อนเข้าสู่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะมีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อนเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540[2]

สถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนผ่านประเทศไทย
ภาคม.ค.ก.พ.มี.ค.เม.ย.พ.ค.มิ.ย.ก.ค.ส.ค.ก.ย.ต.ค.พ.ย.ธ.ค.รวม
เหนือ----5291723151-72
ตะวันออกเฉียงเหนือ----1641728224-82
กลาง----211-792-22
ตะวันออก----111-3132-21
ใต้---1----31524850
หมายเหตุ: เป็นสถิติในคาบ 62 ปี (พ.ศ. 2494 - 2555)
อ้างอิง: [5]

ความถี่ของพายุหมุนที่เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย

จากสถิติพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในรอบ 48 ปี มีจำนวนทั้งหมด 164 ลูก[6] เมื่อนำมาหาความถี่ที่พายุแต่ละลูกเคลื่อนผ่านในแต่ละพื้นที่ พบว่าบริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดนครพนม มีพายุเคลื่อนผ่าน 20 - 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดจำนวน 164 ลูก รองลงมาคือพื้นที่บริเวณจังหวัดมุกดาหาร สกลนคร หนองคาย อุดรธานี กาฬสินธุ์ หนองบัวลำภูและเลย มีพายุเคลื่อนผ่าน 15 - 20 เปอร์เซนต์ของจำนวนพายุทั้งหมด

  • การวัดสถิติพายุแบ่งตามเดือน
    • พฤษภาคม พายุส่วนใหญ่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันตกของประเทศ บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือพื้นที่ของภาคเหนือตอนบนในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน และพื้นที่ของภาคกลางในเขตจังหวัดกาญจนบุรี ต่อเนื่องกับจังหวัดตากและอุทัยธานี โดยคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมซึ่งมีทั้งหมด 6 ลูก
    • มิถุนายน ตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งในเดือนนี้บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณจังหวัดนครพนม หนองคายและตอนบนของสกลนคร โดยคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยในเดือนมิถุนายนซึ่งมีทั้งหมด 6 ลูก
    • สิงหาคม บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือ พื้นที่ทางด้านตะวันออกของภาคเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดน่าน พะเยา แพร่ ลำปาง เชียงรายและเชียงใหม่ รวมถึงพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนบริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภูและเลย โดยคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมดที่เข้าประเทศไทยในเดือนสิงหาคมซึ่งมี 18 ลูก
    • กันยายน เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้ามาในภาคใต้ตอนบน แต่ยังมีโอกาสน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านยังคงเป็นประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนต่อกับภาคเหนือตอนล่าง บริเวณจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ และพิษณุโลกมีพายุเคลื่อนผ่านเข้ามาคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนเข้ามาในเดือนนี้ ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 39 ลูก
    • ตุลาคม เป็นเดือนที่ศูนย์กลางพายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านประเทศไทยได้ทั้งในประเทศไทยตอนบน และภาคใต้ โดยในเดือนนี้พายุเริ่มมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างได้บ้างแต่มีโอกาสน้อย ส่วนบริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านมากที่สุดคือพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งหมด ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคกลางตอนล่างต่อเนื่องถึงภาคใต้ตอนบน ซึ่งมีพายุเคลื่อนผ่านมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในเดือนนี้ซึ่งมีจำนวน 48 ลูก
    • พฤศจิกายน พายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ภาคใต้ได้มากกว่าประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพายุเคลื่อนผ่านมากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในเดือนนี้ซึ่งมีจำนวน 28 ลูก บริเวณที่พายุเคลื่อนผ่านได้มากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ พื้นที่ในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสงขลา ซึ่งมีศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่าน 10 - 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมด อย่างไรก็ตามบริเวณประเทศไทยตอนบน ยังมีบางพื้นที่ที่ศูนย์กลางพายุมีโอกาสเคลื่อนผ่านได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ต่อกับภาคตะวันออกบริเวณจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว มีพายุเคลื่อนผ่าน 10 - 15 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพายุทั้งหมด
    • ธันวาคม เดือนนี้เป็นเดือนที่ไม่มีพายุเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบนพายุทั้งหมด จะเคลื่อนผ่านอ่าวไทยเข้าสู่ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยศูนย์กลางพายุเคลื่อนผ่านบริเวณจังหวัดสงขลาและพัทลุงมากที่สุด คือ 75 เปอร์เซ็นต์ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนผ่านเข้ามาในเดือนนี้จำนวน 7 ลูกด้วยกัน

ใกล้เคียง

ภูมิอากาศไทย ภูมิอากาศ ภูมิอากาศจุลภาค ภูมิอากาศวิทยา ภูมิอากาศแบบเมดิเตอร์เรเนียน ภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น ภูมิอากาศแบบมรสุมเขตร้อน ภูมิอากาศแบบทุ่งหญ้าสะวันนา ภูมิอากาศแบบอบอุ่น