จิตวิทยา ของ มนุษย์

ดูเพิ่มเติมที่: จิต

สมองของมนุษย์ อันเป็นจุดรวมระบบประสาทส่วนกลางในมนุษย์ ควบคุมระบบประสาทส่วนนอก นอกเหนือไปจากควบคุมกิจกรรมนอกอำนาจจิตใจที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเป็นหลัก เช่น การหายใจและการย่อยอาหารแล้ว ยังเป็นที่คั้งของคำสั่งที่ "สูงกว่า" เช่น ความคิด การให้เหตุผลและภาวะนามธรรม[103] ขบวนการที่เกี่ยวกับการคิดนี้ซึ่งประกอบด้วยจิตและพฤติกรรม มีการศึกษาในสาขาจิตวิทยา

เชื่อกันว่า สมองมนุษย์มี "ความฉลาด" โดยรวมกว่าสมองของสปีชีส์อื่นใดเท่าที่ทราบ แม้ว่าสปีชีส์อื่นที่มิใช่มนุษย์บางสปีชีส์จะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้างและใช้อุปกรณ์อย่างง่ายได้ ส่วนมากผ่านสัญชาตญาณและการล้อเลียน แต่เทคโนโลยีของมนุษย์มีความซับซ้อนกว่ามาก และมีวิวัฒนาการและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามเวลา

การนอนหลับ

ดูบทความหลักที่: การนอนหลับ และ ฝัน

มนุษย์โดยทั่วไปออกหากินกลางวัน ความต้องการการนอนหลับโดยเฉลี่ยอยู่ระหว่างเจ็ดถึงเก้าชั่วโมงต่อวันสำหรับผู้ใหญ่และเก้าถึงสิบชั่วโมงสำหรับเด็ก คนสูงวัยโดยทั่วไปนอนหลับหกถึงเจ็ดชั่วโมง แต่ในสังคมสมัยใหม่ การนอนหลับน้อยกว่าเท่านี้เป็นธรรมดา ภาวะขาดการนอนหลับนี้อาจมีผลกระทบด้านลบได้ การจำกัดการนอนหลับในผู้ใหญ่เหลือสี่ชั่วโมงต่อวันอย่างต่อเนื่องได้แสดงว่า สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงในสภาพทางสรีระและจิตใจ รวมทั้งความล้า ความก้าวร้าวและความไม่สบายกาย[104] มนุษย์ฝันระหว่างที่หลับ ในฝัน มนุษย์รู้สึกสัมผัสทางการมองเห็นและเสียง ในลำดับที่ผู้ฝันตามปกติรับรู้ในฐานะผู้มีส่วนร่วมชัดเจนมากกว่าผู้สังเกต ฝันถูกกระตุ้นโดยพอนส์และส่วนมากเกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับระยะ REM

ความรู้สึกตัวและความคิด

ดูบทความหลักที่: ความรู้สึกตัว และ ความคิด

มนุษย์เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่สปีชีส์ที่มีความตระหนักรู้ในตัวเองพอที่จะจำตัวเองในกระจกได้[105] ตั้งแต่อายุ 18 เดือน เด็กมนุษย์ส่วนมากรู้แล้วว่า ภาพในกระจกหาใช่คนอื่นไม่[106]

สมองมนุษย์รับรู้โลกภายนอกผ่านประสาทสัมผัส และแต่ละบุคคลก็ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากประสบการณ์ของตนเอง นำไปสู่มุมมองอัตวิสัยต่อการดำรงอยู่และการผ่านของเวลา กล่าวกันว่า มนุษย์มีความรู้สึกตัว ความตระหนักรู้ในตัวเอง และจิต ซึ่งสัมพันธ์อย่างคร่าว ๆ กับขบวนการทางจิตของความคิด ทั้งความรู้สึกตัว ความตระหนักรู้ในตัวเอง และจิตนี้ กล่าวกันว่า มีคุณภาพ เช่น ความสามารถในการรู้สึก เชาวน์ปัญญา และความสามารถในการรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับสิ่งแวดล้อม ขอบเขตที่จิตสามารถก่อความคิดขึ้นหรือสัมผัสโลกภายนอกยังเป็นหัวข้อถกเถียงกันอยู่ เช่นเดียวกับนิยามและความสมเหตุสมผลของหลายคำที่ใช้ข้างต้น

แรงจูงใจและอารมณ์

ดูบทความหลักที่: แรงจูงใจ และ อารมณ์

แรงจูงใจเป็นแรงขับความปรารถนาเบื้องหลังการกระทำโดยเจตนาทั้งหมดของมนุษย์ แรงจูงใจขึ้นอยู่กับอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสวงความพึงพอใจ (ประสบการณ์อารมณ์ทางบวก) และการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง อารมณ์ทางบวกและทางลบนิยามโดยภาวะสมองแต่ละคน ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐานทางสังคม บุคคลอาจถูกขับให้ทำร้ายตัวเองหรือก่อเหตุรุนแรงเพราะสมองของผู้นั้นถูกวางเงื่อนไขให้สร้างการตอบสนองทางบวกต่อการกระทำเหล่านี้ แรงจูงใจนั้นสำคัญเพราะมันเกี่ยวข้องกับสมรรถนะของการตอบสนองที่เกิดจากการเรียนรู้ทั้งหมด ในวิชาจิตวิทยา การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและแรงขับทางเพศ (libido) ถูกมองว่าเป็นแรงจูงใจหลัก ในวิชาเศรษฐศาสตร์ แรงจูงใจมักถูกมองว่าเกิดจากสิ่งจูงใจ ซึ่งอาจเป็นเงิน ศีลธรรมหรือการบีบบังคับก็ได้ ขณะที่ศาสนามักมองถึงอิทธิพลของพระเจ้าหรือปีศาจ

เพศสภาพและความรัก

ดูบทความหลักที่: เพศสภาพของมนุษย์ และ ความรัก

สำหรับมนุษย์ เพศสภาพมีหน้าที่ทางสังคมที่สำคัญในการสร้างความใกล้ชิดทางกาย พันธะและลำดับชั้นระหว่างปัจเจกบุคคล นอกเหนือไปจากการประกันการสืบพันธุ์ทางชีววิทยา มนุษย์และลิงโบโนโบเป็นไพรเมตเพียงสองสปีชีส์ที่มีเพศสัมพันธ์นอกภาวะเจริญพันธุ์ตามช่วงเวลาของหญิงหรือตัวเมียบ่อยครั้ง และยังมักมีกิจกรรมทางเพศเพื่อความพึงพอใจและความสนุกสนานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งพบได้น้อยมากในสัตว์ชนิดอื่น ความสำคัญของเพศสภาพในมนุษย์สะท้อนออกมาในลักษณะทางกายภาพจำนวนหนึ่ง เช่น การซ่อนการตกไข่ วิวัฒนาการของถุงอัณฑะและองคชาตภายนอก ซึ่งมีการเสนอว่าเพื่อการแข่งขันของสเปิร์ม การขาดท่อนกระดูกในอวัยวะเพศ (baculum) ลักษณะทุติยภูมิทางเพศที่ถาวร และการก่อพันธะคู่ (pair bond) โดยยึดความดึงดูดทางเพศเป็นโครงสร้างสังคมพื้นฐาน มนุษย์หญิงไม่มีสัญญาณการตกไข่ที่ชัดเจนหรือสังเกตได้ ต่างจากไพรเมตอื่นที่แสดงการตกมัน (estrus) ผ่านสัญญาณที่สังเกตได้ บวกกับการมีความต้องการทางเพศนอกภาวะเจริญพันธุ์ตามช่วงเวลา การปรับตัวนี้บ่งชี้ว่า ความหมายของเพศสภาพในมนุษย์นั้นคล้ายคลึงกับที่พบในลิงโบโนโบ และพฤติกรรมทางเพศของมนุษย์อันซับซ้อนมีประวัติศาสตร์วิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน[107]

ตัวเลือกของมนุษย์ในการปฏิบัติตามเพศสภาพโดยทั่วไปได้รับอิทธิพลจากบรรทัดฐานวัฒนธรรมซึ่งแตกต่างกันมาก การจำกัดมักกำหนดโดยความเชื่อทางศาสนาและจารีตประเพณีสังคม นักวิจัยบุกเบิก ซีคมุนท์ ฟร็อยท์ เชื่อว่า มนุษย์เกิดมาวิตถารหลายรูปแบบ ซึ่งหมายความว่า วัตถุใด ๆ ก็สามารถเป็นแหล่งของความพึงพอใจได้ ฟร็อยท์ระบุว่า มนุษย์ผ่านขั้นพัฒนาการความต้องการทางเพศห้าขั้น และสามารถติดข้องได้ในทุกขั้น เพราะความชอกช้ำทางจิตหลายอย่างระหว่างขบวนการนี้ สำหรับอัลเฟรด คินซีย์ นักวิจัยทางเพศที่มีอิทธิพลอีกคนหนึ่ง บุคคลสามารถตกอยู่ที่ใดก็ตามบนมาตรารสนิยมทางเพศที่ต่อเนื่อง โดยมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รักต่างเพศหรือรักเพศเดียวกันอย่างเต็มที่ การศึกษาทางประสาทวิทยาและพันธุศาสตร์ล่าสุดเสนอว่า บุคคลอาจมีแนวโน้มทางเพศที่หลากหลาย[108][109]

ใกล้เคียง

มนุษย์ มนุษย์ที่มีกายวิภาคปัจจุบัน มนุษย์เลื่อยยนต์ มนุษย์หมาป่า มนุษย์พรุพีต มนุษย์หินฟลิ้นท์สโตนส์ มนุษย์โบราณ มนุษย์ตัวเขียวจอมพลัง มนุษย์มดมหากาฬ มนุษย์ฟลอริดา

แหล่งที่มา

WikiPedia: มนุษย์ http://www.answers.com/topic/pygmy http://www.archaeologyinfo.com/homosapiens.htm http://www.bbc.com/thai/international-40202638?STh... http://www.breitbart.com/article.php?id=0708241216... http://books.google.com/books?id=9WemAAAAIAAJ&pg=P... http://books.google.com/books?id=ITp_RnsPfzQC&pg=P... http://books.google.com/books?id=Rbq0j5ZjhGgC&pg=P... http://books.google.com/books?id=vafgWfgxUK8C&pg=P... http://books.google.com/books?id=yP6TrXRpPdMC&pg=P... http://books.google.com/books?id=zvbV4M0-YdEC&pg=P...