สถาบันวิจัยและพัฒนา ของ มหาวิทยาลัยทักษิณ

องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือที่สำคัญ มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องกำหนดให้งานวิจัยเป็นภารกิจหลัก ภารกิจหนึ่งที่ทุกคนในองค์กรต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ ทั้งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่สำหรับพัฒนาการเรียน การสอน และนำไปพัฒนาแก้ไขปัญหาท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและสังคมของชาติโดยรวม มหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นแหล่งผลิตนักวิจัยและสร้างผลงานวิจัยที่สำคัญยิ่งให้แก่ประเทศเพื่อ สร้างวิทยาการหรือภูมิปัญญาในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศในอนาคตได้

ภาพรวมของภารกิจวิจัยของมหาวิทยาลัยทักษิณในอดีตจนถึงปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยได้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง อาจอ่อนล้าและเข้มแข็งบ้างในบางช่วงเวลา ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการขาดแคลนบุคลากร งบประมาณ และครุภัณฑ์ ที่เสริมสร้างแรงจูงใจให้กับบุคลากรซึ่งต้องทำงานหนักอยู่แล้วมีกำลังมากพอที่จะต้องทำงานหนักขึ้นไปอีกมหาวิทยาลัยเองมีส่วนเป็นอย่างมากที่จะสร้างแรงจูงใจขั้นพื้นฐานให้กับบุคลากรแต่ก็ไม่ได้ทำอย่าง ต่อเนื่องซึ่งดูได้จากการให้ความสำคัญกับภารกิจนี้ค่อนข้างน้อยในอดีตที่ผ่านมา กล่าวคือบางสมัยกำหนดภารกิจวิจัยให้อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานส่งเสริมและประกันคุณภาพการศึกษา ในบางสมัยก็ให้อยู่ภายใต้การดูแลของกลุ่มงานบริการการศึกษา บุคลากรที่จะรองรับก็ไม่มีเนื่องจากเป็นงานฝาก เริ่มจะมีอัตรากำลัง เพื่อรับผิดชอบงานจริง ๆ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2546 จำนวน 1 คน และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 อีก 1 คน จึงไม่เป็นที่น่าสงสัยเลยว่าทำไมงบประมาณวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับเพียง 700,000-800,000 บาท ต่อปีเท่านั้น และเริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,000,000 บาท

การขับเคลื่อนการวิจัยของมหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างเชื่องช้ามาตลอดเวลานั้นเพราะในระยะที่ผ่านมายังขาดการส่งเสริมและสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย จึงเป็นผลทำให้เกิดจุดอ่อนของงานวิจัย เช่น ขาดนักวิจัยที่มีคุณภาพ งานวิจัยส่วนมากเป็นการวิจัยเฉพาะเรื่องขาดการบูรณาการร่วมกัน และสิ่งที่สำคัญคือ ความอ่อนแอของหน่วยประสานงานที่จะไปช่วยส่งเสริมและสนับสนุนนักวิจัย ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากขาดแคลนบุคลากรในด้านการดำเนินงาน และไม่มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยอย่างชัดเจน ดังนั้นในปี 2548 ภารกิจส่งเสริมการวิจัย ภายใต้กลุ่มงานบริการการศึกษา ซึ่งมีบุคลากรในการดำเนินงานเพียง 2 คน ได้เริ่มต้นกำหนดเป้าหมายการวิจัยของมหาวิทยาลัยชัดเจนขึ้น ภายหลังการกำหนดกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และภารกิจส่งเสริมการวิจัย และดำเนินการในหลายกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้นักวิจัยเริ่มพัฒนาชุดโครงการวิจัย ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างสูงจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ โดยมี ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว เป็นประธานกรรมการพัฒนาชุดโครงการวิจัย จากผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้สามารถพัฒนาชุดโครงการวิจัยที่มีคุณภาพและผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงบประมาณ จำนวน 8 ชุดโครงการ และโครงการเดี่ยว 4 โครงการ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในปี 2549 เป็นเงิน 13,687,800 บาท เป็นโครงการต่อเนื่องผูกพันงบประมาณ เป็นเวลา 3 ปี (2549-2551) รวมงบประมาณทั้งสิ้นเป็นวงเงินประมาณ 26 ล้านบาท การพัฒนาที่ทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างสูงนี้เป็นผลมาจากทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งของนักวิจัย หน่วยประสานงานและหน่วยสนับสนุนงบประมาณ

การพัฒนางานวิจัยให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนการการวิจัยทั้งหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย การพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ การแสวงหาแหล่งทุนการสนับสนุนทรัพยากรด้านการวิจัย การสร้างบรรยากาศการวิจัยเพื่อจูงใจให้บุคลากรทำวิจัยมากขึ้นและการส่งเสริมการเผยแพร่ผลงานวิจัยในรูปแบบการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยี และเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2548 สภามหาวิทยาลัยทักษิณได้ประกาศจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนา ขึ้น

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม