การพักอาศัยของนักศึกษา ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การพักอาศัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิตมีลักษณะคล้ายกับนิสิตนักศึกษาอื่นในกรุงเทพฯ โดยคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีญาติพี่น้องอยู่ในกรุงเทพหรือเขตปริมณฑล ก็จะพักอาศัยกับครอบครัวหรือบ้านคนรู้จัก สำหรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัย หรือหอพักเอกชนบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัย

ท่าพระจันทร์

มหาวิทยาลัยมีบริการหอพักสำหรับนักศึกษา คือ หอพักรัชดาภิเษก เขตตลิ่งชัน เดิมตั้งอยู่ ณ บริเวณพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งเป็นบริเวณเขตพระราชฐาน เพื่อให้เป็นสวัสดิการแก่นักศึกษาที่ยากจนและขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงไม่มีที่พักในกรุงเทพฯ ให้อยู่อาศัยในราคาย่อมเยาเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักศึกษา[89] ต่อมาจึงได้ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน ทั้งนี้ พ.ศ. 2552 สำนักงานจัดการทรัพย์สิน ซึ่งดูแลหอพักได้ปรับปรุงหอพักขึ้นใหม่ และจัดเก็บอัตราค่าใช้บริการค่อนข้างสูง ในปัจจุบันจึงมักจะเป็นที่พักอาศัยของบุคลากร และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นที่ต้องการที่พักในการเดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[90]

ศูนย์รังสิต

สำหรับศูนย์รังสิต สำนักงานจัดการทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจดูแลระบบการจัดสรรที่พักอาศัยของทั้งบุคลากรและนักศึกษา ได้ออกระเบียบให้นักศึกษาต้องแจ้งย้ายเข้าทะเบียนราษฎร์ของตนเองเข้ามาในทะเบียนบ้านกลางของมหาวิทยาลัย[91] โดยนักศึกษาแต่ละคณะจะมีบ้านเลขที่ประจำคณะตนเองภายใต้ท้องถิ่นตำบลคลองหนึ่ง เทศบาลเมืองท่าโขลง จังหวัดปทุมธานี เช่น เลขที่ 99/3 หมู่ 18 สำหรับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และ 99/8 หมู่ 18 สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ เป็นต้นโดยมหาวิทยาลัยได้มีสวัสดิการที่พักสำหรับนักศึกษา หลายกลุ่ม และราคา ดังนี้

กลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกม โซนบี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
  • กลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ ประกอบไปด้วย อาคารหอพักแบบห้องเดี่ยว คือ พัก 2 คน ได้แก่ โซนซี 11 อาคาร โซนอี 2 อาคาร และอาคารหอพักแบบชุด คือ พัก 4 คน ได้แก่ โซนบี 8 อาคาร โดยทั้งสอบแบบมีอุปกรณ์ครุภัณฑ์ภายในห้องพัก ได้แก่ เตียงนอน โต๊ะหัวเตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ โทรศัพท์สายตรง ADSL โทรทัศน์สัญญาณจานดาวเทียม เครื่องปรับอากาศ ราวพาดผ้า เครื่องตรวจจับควันไฟ ลานซักล้าง ห้องน้ำในตัวพร้อมเครื่องทำน้ำอุ่น ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ลิฟท์โดยสาร ตู้เย็น ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้กดบริการเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ และบริการซักรีด สำหรับอาคารหอพักแบบชุด คือ โซนบี มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ แยกห้องน้ำห้องส้วม โต๊ะรับประทานอาหาร และชุดรับแขก

อนึ่ง อาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ มักมีปัญหาเรื่องการร้องเรียนค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง หรือการบริหารงานแบบธุรกิจเอกชนโดยไม่ให้นักศึกษามีส่วนร่วม[92] แต่กระนั้นนักศึกษาก็แจ้งความประสงค์เข้าพักอาศัยเป็นจำนวนมาก

  • กลุ่มอาคารหอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หรือ หอพักใน แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ อาคารหอพักคู่โดม สำหรับนักศึกษาหญิง และอาคารหอพักเคียงโดม สำหรับนักศึกษาชาย ประกอบไปด้วยเตียงนอน โต๊ะหัวเตียง ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือ เก้าอี้ เครื่องตรวจจับควันไฟ ห้องน้ำรวม ระบบโทรทัศน์วงจรปิด เครื่องทำน้ำร้อน เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้กดบริการเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ ห้องอ่านหนังสือรวม และบริการซักรีด
  • อาคารหอพักโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เป็นหอพักสำหรับนักศึกษาในคณะกลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ ตั้งแต่ฐานะชั้นปีที่ 2 ขึ้นไป แบ่งเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งเอ สำหรับนักศึกษาหญิง และฝั่งบี สำหรับนักศึกษาชาย ประกอบไปด้วย ตู้เย็น ไมโครเวฟ โทรทัศน์สัญญาณจานดาวเทียม เครื่องทำน้ำร้อน–น้ำเย็น เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ตู้กดบริการเครื่องดื่ม โทรศัพท์สายตรงภายในหอ ฟรีอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ห้องฟิตเนส อุปกรณ์กีฬา และห้องน้ำในตัว
  • กลุ่มอาคารทียูโดม-โดมเพลส เป็นกลุ่มอาคารหอพักกลุ่มใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยตัวกลุ่มอาคารอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัย ฝั่งตรงข้ามประตูเชียงราก เครื่องใช้มาตรฐานในห้องพักเหมือนกับกลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ แต่เพิ่มเติม โต๊ะเอนกประสงค์ โคมไฟ และมีสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ บริการหนังสือพิมพ์

โครงการก่อสร้างกลุ่มอาคารทียูโดมยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะเริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2550 แต่ก็ได้เปิดให้นักศึกษาเข้าพักอาศัยแล้ว และเป็นอาคารหอพักที่ประสบปัญหาและข้อร้องเรียนเป็นอย่างมาก[93][94] ล่าสุดบริษัทผู้รับสัมปทานมีโครงการเร่งการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554[95]

อนึ่ง กลุ่มหอพักทั้งสี่กลุ่ม เป็นอาคารหอพักแบบแยกอาคารที่พักหญิง และอาคารที่พักชาย นักศึกษาไม่สามารถเข้าออกในอาคารที่พักของนักศึกษาต่างเพศได้ มีบริการรับทำความสะอาดภายในห้องพัก บริการให้เช่าเครื่องใช้ไฟฟ้า โทรทัศน์ และตู้เย็น ทั้งนี้ กลุ่มอาคารหอพักเอเชี่ยนเกมส์ และกลุ่มอาคารหอพักใน มีเวลาเปิดปิดอาคารไม่ให้เข้าออกอาคาร คือ 05:00–24:00 นาฬิกา แต่สำหรับหอพักโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และกลุ่มอาคารหอพักทียูโดมเปิดให้เข้าออกได้ตลอดเวลา

การจัดสรรที่พักสำหรับนักศึกษา ณ ศูนย์รังสิต โดยปกติใช้วิธีการจับสลาก ไม่ได้ใช้การพิจารณาจากลำดับก่อนหลัง หรือความใกล้ไกลของภูมิลำเนา[96]

ศูนย์ลำปาง

การพักอาศัยของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มีลักษณะคล้ายกับท่าพระจันทร์ และศูนย์รังสิต โดยคนที่มีภูมิลำเนาหรือมีญาติพี่น้องอยู่ในอำเภอเมืองห้างฉัตร หรือใกล้เคียง ก็จะพักอาศัยกับครอบครัวหรือบ้านคนรู้จัก สำหรับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดจะพักอาศัยในหอพักมหาวิทยาลัย หรือหอพักเอกชนในตัวเมืองจังหวัดลำปางทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดให้มีหอพักสวัสดิการสำหรับนักศึกษา ณ ศูนย์ลำปาง[97] โดยมีรูปแบบคล้ายคลึงกับกลุ่มอาคารหอพักใน ณ ศูนย์รังสิต

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://board.212cafe.com/view.php?user=economics&i... http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?p... http://www.bangkokbiznews.com/2006/02/28/news_2003... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/... http://www.chemistrytu.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B... http://maps.google.com/maps?ll=13.755853,100.49087... http://www.inseepolicefc.com/sanam.php http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7558... http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.ph... http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/inst...