ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดูเพิ่มเติมที่: โรงเรียนกฎหมาย
อนุสาวรีย์ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่หน้าตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อแรกก่อตั้ง

การปฏิวัติสยาม เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 [3][9] และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วในเดือนธันวาคม ถัดจากนั้นได้เพียง 13 วัน ตามรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี, ครั้งที่ 6 วันที่ 23 ธันวาคม 2475 หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร ก็ทรงเสนอให้คณะรัฐมนตรีจัดตั้งโรงเรียนการเมืองชั้นสูง แต่หากทว่าเพราะหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรเป็นเจ้านายพระองค์เดียวที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎรและใกล้ชิดกับราชสำนัก จึงทำให้แม้จะทรงพยายามเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรแต่ก็ทรงไม่ได้ความยอมรับหรือความไว้วางใจอย่างเต็มที่ เพราะปรากฏว่ารัฐบาลรีบขัดขวางสนอและตัดหน้าที่เรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์ออกไป ให้ทรงงานเฉพาะเรื่องการแปลเท่านั้น

เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ก่อให้เกิด มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เนื่องจากในคำประกาศของคณะราษฎร ระบุว่า การที่ราษฎรยังถูกดูหมิ่นว่ายังโง่อยู่ ไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตยนั้น “เป็นเพราะขาดการศึกษา ที่พวกเจ้าปกปิดไว้ไม่ให้เรียนเต็มที่”[10] เป็นผลให้ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ประการที่ 6 ระบุว่า “จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร”[10] สถาบันศึกษาแบบใหม่ ที่เปิดกว้างให้ประชาชนชาวสยาม ได้รับการศึกษาชั้นสูง โดยเฉพาะที่จะรองรับการปกครองบ้านเมืองที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีควบคู่ไปกับการปฏิวัติ

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกัน[11] โดยมีใจความสำคัญว่า

มาตรา 4 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่น ๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง

มาตรา 5 ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านั้น มาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ ก่อนวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477

จากนั้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ณ ที่ตั้งเดิมของโรงเรียนกฎหมาย ริมถนนราชดำเนิน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา[3][12][13] โดยศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ กล่าวในโอกาสก่อตั้งมหาวิทยาลัยว่า

การตั้งสถานศึกษา ตามลักษณะมหาวิทยาลัย ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์และเป็นปัจจัย ในการแสดงความก้าวหน้าของประเทศ ประชาชนชาวสยาม จะเจริญในอารยธรรมได้ ก็โดยอาศัยการศึกษาอันดีตั้งแต่ชั้นต่ำ ตลอดจนการศึกษาชั้นสูง เพราะฉะนั้น การที่จะอำนวยความประสงค์ และประโยชน์ของราษฎรในสมัยนี้ จึงจำต้องมีสถานการศึกษา ให้ครบบริบูรณ์ทุกชั้น[3]

และ

มหาวิทยาลัย ย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้ อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร เห็นความจำเป็นในข้อนี้ จึงได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้น[3]

ในช่วงเวลา 2 ปีแรก (พ.ศ. 2477–2479) การเรียนการสอนของ ม.ธ.ก. ยังคงดำเนินอยู่ที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าภิภพลีลา[3] ต่อมาเมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2478 ม.ธ.ก.ขอซื้อที่ดินบริเวณท่าพระจันทร์ ซึ่งเดิมเป็นที่ของทหาร และปรับปรุงอาคารเดิม พร้อมทั้งสร้างตึกโดม โดยทุนซึ่งใช้จัดซื้อที่ดิน รวมทั้งการก่อสร้าง ได้มาจากเงินที่ ม.ธ.ก.เก็บจากค่าสมัครและค่าเล่าเรียน นอกจากนี้ ม.ธ.ก.ยังจัดตั้งสถาบันการเงินขึ้น สำหรับให้นักศึกษาวิชาการบัญชี ใช้เป็นสถานที่ฝึกงานคือ ธนาคารแห่งเอเชียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารเอเชีย และปัจจุบันคือธนาคารยูโอบี) และเมื่อ พ.ศ. 2481 ม.ธ.ก. ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมปริญญา มีหลักสูตร 2 ปี เพื่อรับผู้ประสงค์จะเข้าเรียนต่อที่ ม.ธ.ก.โดยตรง โรงเรียนเตรียมปริญญา มีหลักสูตรการสอน หนักไปทางภาษา ทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และวิชาทางสังคม เช่น ปรัชญา วิชาเทคโนโลยี ดนตรี พิมพ์ดีด และชวเลข เป็นต้น แต่ยกเลิกไปใน พ.ศ. 2490

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบโดยตรง[14] ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ รัฐบาลนำคำว่า “การเมือง” ออกจากชื่อมหาวิทยาลัย เหลือเพียง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”[15] พร้อมทั้งยกเลิกตำแหน่งผู้ประศาสน์การ โดยใช้ชื่อตำแหน่งว่าอธิการบดีแทน[3] หลักสูตรการศึกษาธรรมศาสตรบัณฑิต เปลี่ยนแปลงเป็นคณะนิติศาสตร์, พาณิชยศาสตร์และการบัญชี, รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ความเป็นตลาดวิชาหมดไปตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495[15]

พ.ศ. 2518 ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีในขณะนั้น เห็นควรขยายการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาบัณฑิตเพิ่มขึ้น พื้นที่เดิมบริเวณท่าพระจันทร์ ไม่เพียงพอต่อการขยายตัวทางวิชาการ และการพัฒนา มหาวิทยาลัยจึงเจรจาขอแลกเปลี่ยนที่ดิน กับบริเวณนิคมอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย เรียกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นอกจากนี้ ยังขยายไปที่ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยาด้วย

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงดำเนินการเรียนการสอน และมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติทั้งหมด และหลักสูตรบัณฑิตศึกษากลุ่มวิทยาศาสตร์ จัดการเรียนการสอนที่ศูนย์รังสิต และหลักสูตรบัณฑิตศึกษากลุ่มสังคมศาสตร์ โครงการนานาชาติ และโครงการพิเศษ จัดการเรียนการสอนที่ท่าพระจันทร์[16]

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [17] ส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือตรงกับวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ http://board.212cafe.com/view.php?user=economics&i... http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?p... http://www.bangkokbiznews.com/2006/02/28/news_2003... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/finance/... http://www.chemistrytu.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B... http://maps.google.com/maps?ll=13.755853,100.49087... http://www.inseepolicefc.com/sanam.php http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=13.7558... http://breakingnews.nationchannel.com/home/read.ph... http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/inst...