ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2527 นายประสิทธิ์ อุไรรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท ประสิทธิ์พัฒนา จำกัด ผู้ดำเนินกิจการโรงพยาบาลพญาไทในขณะนั้น พร้อมด้วย พลเอกพร ธนะภูมิ และ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ยื่นความประสงค์ เพื่อขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษา ระดับวิทยาลัย ต่อทบวงมหาวิทยาลัย[4] (ปัจจุบันคือ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)

คณะผู้ก่อตั้งวิทยาลัย ได้เลือกที่ดินบริเวณตำบลคูคตในขณะนั้น อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "ทุ่งรังสิต" เป็นสถานที่ก่อตั้ง จึงได้นำมงคลนาม รังสิต อันเนื่องมาจากพระนามของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาตั้งเป็นชื่อของวิทยาลัย ซึ่งเดิมเคยระบุชื่อวิทยาลัยที่จะก่อตั้งไว้ว่า วิทยาลัยปิ่นเกล้า ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยรังสิต ในเวลาต่อมา[4]

ต่อมา ในวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2528 ทบวงมหาวิทยาลัย ออกประกาศจัดตั้ง วิทยาลัยรังสิต (Rangsit College) ลงนามโดย นายปรีดา พัฒนถาบุตร รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 28 ก ฉบับพิเศษ หน้า 5 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2528 โดยเป็นไปตามที่ระบุใน ใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่ 2/2528[5]

วิทยาลัยรังสิต ตั้งอยู่ภายในโครงการหมู่บ้านเมืองเอก บนถนนเอกประจิม ตำบลหลักหก อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี บนพื้นที่ 10 ไร่ ห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร เริ่มเปิดการเรียนการสอนครั้งแรก เมื่อปีการศึกษา 2529 ในคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ โดยมีนักศึกษารุ่นแรก จำนวน 478 คน[6]

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2532 ทบวงมหาวิทยาลัย ออกประกาศอนุญาตให้นายประสิทธิ์ โอนกิจการวิทยาลัยรังสิต ให้เป็นสิทธิการบริหารงานของ บริษัท ประสิทธิ์รัตน์ จำกัด โดยให้ถือว่าบริษัทดังกล่าว เป็นเสมือนผู้รับใบอนุญาตของวิทยาลัย และเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ทบวงมหาวิทยาลัย ออกประกาศอนุญาตให้วิทยาลัยรังสิต เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยรังสิต ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว ลงนามโดย นายทวิช กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้น และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 107 ตอนที่ 164 ง หน้า 7213 เมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2533[7]

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีสถาปนามหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อเวลา 15.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรังสิต โอกาสนี้ ทรงเยี่ยมชมอาคารหอสมุดของมหาวิทยาลัยด้วย[8] แต่ทางมหาวิทยาลัยยังคงจัด พิธีรำลึกการสถาปนามหาวิทยาลัย ในวันที่ 25 มกราคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันจัดตั้งวิทยาลัยรังสิต มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 หม่อมราชวงศ์ปรียนันทนา รังสิต พระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร อนุญาตให้มหาวิทยาลัยรังสิต จำลองพระอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เพื่อประดิษฐาน ณ บริเวณหน้าอาคารวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้รับอนุญาตให้อัญเชิญพระนาม รังสิตประยูรศักดิ์ เป็นชื่ออาคาร เนื่องจากทรงมีบทบาท ในการพัฒนาการแพทย์และการสาธารณสุขไทย เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณสู่นักศึกษาและอนุชนรุ่นหลังสืบไป[9]

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามแก่อาคารอเนกประสงค์ ซึ่งเป็นที่ทำการวิทยาลัยนานาชาติ และคณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการของมหาวิทยาลัย ซึ่งจัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 50 พรรษาว่า รัตนคุณากร อันหมายถึง อาคารซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความดีอันทรงค่า ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารดังกล่าว ในวันพุธที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2553 พร้อมทั้งทอดพระเนตรกิจการของมหาวิทยาลัยรังสิต ในโอกาสการสถาปนาครบรอบ 25 ปีด้วย[10]

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ