ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

ยุคแรก : ก่อกำเนิดนามโรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมประจำมณฑล

แรกเริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุดร”[1] มีสถานที่ตั้งเดิมอยู่ที่บริเวณสโมสรเสือป่ามณฑลอุดร (ตรงบริเวณถัดไปจากทุ่งศรีเมืองอุดร)เป็นที่ตั้งชั่วคราว มีราชบุรุษเพิ่ม การสมศีล ทำหน้าที่แทนครูใหญ่ เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมณฑล โดยรับนักเรียนชายที่จบประถมศึกษาปีที่ 4 เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี นักเรียนเหล่านี้เป็นนักเรียนทุนจากจังหวัดต่าง ๆ ในมณฑลอุดร ต่อมาไม่นานจึงมีการก่อสร้างอาคารเรียนถาวรบริเวณห้วยโซ่ (พื้นที่ในปัจจุบัน) บนพื้นที่ประมาณ 350 ไร่

ยุคที่ 2 : ยุบ ย้าย รวมตั้งเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูอุดรธานี

โรงเรียนฝึกหัดครูกสิกรรมมณฑลอุดร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลอุดร” แต่ทำการเปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมณฑลเช่นเดิม

  • ปี พ.ศ. 2473 ทางการได้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูสตรีประกาศนียบัตรมณฑลอุดรขึ้น รับนักเรียนสตรีที่สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษา เข้าเรียนต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรครูมณฑล
  • ปี พ.ศ. 2477 ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด (ว.) โดยรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ประโยคครูประชาบาล (ป.บ.) เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี และเปิดรับนักเรียนชายเข้าเรียน หลักสูตรประกาศนียบัตรจังหวัด
  • ปี พ.ศ. 2475 ภายหลัง การเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ได้มีการยุบมณฑลอุดรให้เป็นจังหวัดอุดรธานี จึงมีผลทำให้โรงเรียนฝึกหัดครูมณฑลอุดร เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โรงเรียนฝึกหัดครูจังหวัดอุดรธานี”
  • ปี พ.ศ. 2482 มีประกาศกระทรวงธรรมการยุบโรงเรียนฝึกหัดครูจังหวัดอุดรธานี โอนไปสังกัดโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตร จังหวัดอุดรธานี กรมสามัญศึกษา กระทรวงธรรมการ เปิดสอนหลักสูตรมัธยมศึกษาพิเศษ 1 โดยรับนักเรียนที่จบชั้นประถมปีที่ 4 เข้าศึกษาต่อเพื่อส่งไปเป็นครูในท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครู
  • ปี พ.ศ. 2491 กรมสามัญศึกษาได้ส่งสำเนาประกาศกระทรวงศึกษาธิการ แจ้งเรื่องการเปลี่ยนชื่อ โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรจังหวัดอุดรธานี เป็น โรงเรียนฝึกหัดครูอุดรธานี
  • ปี พ.ศ. 2501 กรมการฝึกหัดครูได้จัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่ง ย้ายโรงเรียนสตรีฝึกหัดครูอุดรธานี มารวมกับโรงเรียนฝึกหัดครูอุดรธานีและให้ใช้ชื่อเรียกรวมกันว่า “โรงเรียนฝึกหัดครูอุดรธานี” และแต่งตั้งให้ นายศิริ สุขกิจ ศึกษานิเทศก์เอกมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่

ยุคที่ 3 : วิทยาลัยครูอุดรธานี

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศยกฐานะโรงเรียนฝึกหัดครูอุดรธานีเป็น “วิทยาลัยครูอุดรธานี”[2] พร้อมกับเปิดสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) และหลักสูตรปริญญาตรีของสภาการฝึกหัดครู โดยกำหนดในพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ 2518 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา

ให้วิทยาลัยครูอุดรธานีเป็นสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดสอนนักศึกษาถึงระดับปริญญาตรีในสาขาครุศาสตร์ หลักสูตรของสภาการฝึกหัดครู

– พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518
  • ปี พ.ศ. 2519 จัดตั้งคณะวิชาครุศาสตร์ คณะวิชาวิทยาศาสตร์ และคณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  • ปี พ.ศ. 2520 วิทยาลัยครูอุดรธานีได้ร่วมกับวิทยาลัยครูอีก 7 แห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดำเนินงานต่าง ๆ ร่วมกันในนามกลุ่มวิทยาลัยครูภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2528 มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2527 กำหนดให้วิทยาลัยครูรวมกันเป็นกลุ่มและสภาฝึกหัดครูได้ออกข้อบังคับว่าด้วยกลุ่มวิทยาลัยครู พ.ศ. 2528 เป็นผลให้วิทยาลัยครู 4 แห่งในภาคอีสานตอนบนรวมกันเป็น "สหวิทยาลัยอีสานเหนือ" มีสำนักงานตั้งอยู่ที่วิทยาลัยครูอุดรธานีและผลจากการแก้ไขพระราชบัญญัตินี้เอง วิทยาลัยได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีในสาขาอื่น ๆ นอกเหนือจากสาขาวิชาการศึกษาและได้จัดตั้งคณะวิทยาการจัดการขึ้นอีกคณะหนึ่งเพิ่ม

ยุคที่ 4 : นามพระราชทาน "สถาบันราชภัฏอุดรธานี"

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535[3] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ “สถาบันราชภัฏ” ให้กับวิทยาลัยครูทั่วประเทศ จึงมีผลทำให้วิทยาลัยครูอุดรธานี เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สถาบันราชภัฏอุดรธานีตั้งบัดนัน ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระมหากรุณาธิคุณต่อชาวราชภัฏเป็นล้นพ้นด้วยทรงพระเมตตา ทรงรพระกรุณาโปรดกล้าฯ พระราชทานพระราชลัญจกรประจำพระองค์ให้เป็น “สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ” นับเป็นมหาสิริมงคลอันควรที่ชาวราชภัฏทั้งมวลจักได้ภาคภูมิใจ และพร้อมใจกันปฏิบัติหน้าที่สนองพระมหากรุณาธิคุณให้เต็มความสามารถในอันที่จะพัฒนาสถาบันราชภัฏให้เป็น สถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

สถาบันราชภัฏอุดรธานีได้เปิดสอนในสาขาวิชาการศึกษา สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และสาขาวิชาศิลปศาสตร์ ตามหลักสูตรวิทยาลัยครู (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2536) และปรับปรุง พ.ศ. 2543 ในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา และมีภารกิจตามพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538

มาตรา 7 “ให้สถาบันราชภัฏเป็นสถาบัน อุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยให้บริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”

– พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ พ.ศ. 2538

ยุคที่ 5 : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547[4] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงลงพระปรมาภิไธย พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 ส่งผลให้สถาบันราชภัฏอุดรธานี ได้รับการยกฐานะและปรับเปลี่ยนสถานภาพเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี” ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา บนพื้นที่ทั้งหมด 237 ไร่ 3 งาน 37 ตารางวา ซึ่งเหลือจากการแบ่งส่วนให้หน่วยงานราชการอื่น ๆ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีภารกิจและปณิธานตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547

มาตรา 7 “ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษา เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นที่เสริมสร้างพลังปัญญาของแผ่นดิน ฟื้นฟูพลังการเรียนรู้ เชิดชูภูมิปัญญาของท้องถิ่น สร้างสรรค์ ศิลปวิทยา เพื่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนของปวงชน มีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล และยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุง ศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู”

– พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547

ยุคปัจจุบัน : ขยายการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ซึ่งรับผิดชอบการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และพันธกิจในการพัฒนาบุคลากร ในสาขาอาชีพต่างๆ มหาวิทยาลัยได้คำนึงถึงการกระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน ทางมหาวิทยาลัยจึงได้ขยายการศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง กล่าวคือ

เมื่อปี พ.ศ. 2547 [5]ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์การศึกษาบึงกาฬ" ในเขตอำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ) โดยวัตถุประสงค์การจัดตั้งนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้การปฏิบัติภารกิจหน้าที่ดังกล่าวบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

และต่อมาปี พ.ศ. 2549 [6]สภามหาวิทยาลัยฯ ได้อนุมัติโครงการขยายมหาวิทยาลัยฯ บนพื้นที่ใหม่ ณ ตำบลสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการบริการความรู้ การฝึกอบรม การศึกษาวิจัย รวมถึงการขยายโอกาสทางการศึกษาในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้ชื่อว่า "โครงการจัดตั้งศูนย์การศึกษาสามพร้าว มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี" ตั้งอยู่บนพี้นที่สาธารณประโยชน์บริเวณโคกขุมปูน หมู่ที่ 1 บ้านสามพร้าว ตำบลสามพร้าว อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี บนพื้นที่ 2,090 ไร่ ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนตำบลสามพร้าว ซึ่งมีโครงการก่อสร้างอาคารและพัฒนาสถานที่ให้กลายเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการวิจัย และพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัย สร้างองค์ความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ที่มีบทบาทต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ท้องถิ่นชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับตลาดโลกในอนาคต

นอกจากนี้  ยังมีโครงการจัดตั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ (Science Parks) เพื่อเป็นแหล่งความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ สาธารณสุข การแพทย์และพยาบาล การเกษตรและเลี้ยงสัตว์ ศูนย์ศึกษาพันธุ์ไม้พื้นเมือง และอาคารโรงพยาบาล เพื่อเป็นศูนย์ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ของนักศึกษา และให้บริการท้องถิ่นชุมชนในอนาคต

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

แหล่งที่มา

WikiPedia: มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี http://www.natureindex.com/annual-tables/2016/inst... http://www.smmsport.com/reader.php?news=170789 http://www.smoedudru.com/smokaru/index.php/2015-07... http://www.thailaws.com/law/thaiacts/code1981.pdf http://khunsakarin.nrru.ac.th/student/main.php?par... http://bk.udru.ac.th/web/?page_id=2 http://www.udru.ac.th/ http://www.udru.ac.th/images/admission2017/documen... http://www.udru.ac.th/index.php/about-udru/udru-hi... http://www.udru.ac.th/index.php/about-udru/udru-ma...