ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

ยุคที่ 1 โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา วิทยาเขตจังหวัดเชียงราย

ในวันที่ 12 กันยายน ปี พุทธศักราช 2512 ทางจังหวัดเชียงรายได้เสนอเรื่องการจัดตั้ง "โรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา วิทยาเขตจังหวัดเชียงราย" เป็นครั้งแรก รองลำดับถัดมาเป็นอันดับ 3 ของภาคเหนือตอนบน ต่อจากโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ และโรงเรียนฝึกหัดครูประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาจังหวัดอุตรดิตถ์ ต่ออธิการบดี กรมการฝึกหัดครู โดยเสนอใช้พื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำหนองบัว ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นสถานที่ตั้งสำหรับการก่อสร้างโรงเรียนฝึกหัดครู ซึ่งในครั้งแรกได้ฝากนักศึกษาวิชาชีพครูรุ่นแรกของจังหวัดเชียงราย ไปเรียนรวมกับนักศึกษาวิชาชีพครูของวิทยาลัยครูเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยใช้หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาเหมือนกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี เพราะว่า ยังขาดความพร้อมในเรื่องของอาคารและสถานที่ในการเรียนการสอน

ในวันที่ 15 มิถุนายน ปี พุทธศักราช 2515 นายสาโรช บัวศรี อธิการบดีกรมการฝึกหัดครูขณะนั้น ได้มีหนังสือแจ้งไปถึงท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ว่ากรมการฝึกหัดครู เห็นสมควรให้จัดตั้งสถานที่เรียนฝึกหัดครู ตามเสนอและรออนุมัติงบประมาณประจำปี พุทธศักราช 2516

ยุคที่ 2 วิทยาลัยครูเชียงราย

ในวันที่ 29 กันยายน ปีพุทธศักราช 2516 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สถาปนา "วิทยาลัยครูเชียงราย" ขึ้น จากเดิมเคยเป็น "โรงเรียนฝึกหัดครูระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา วิทยาเขตจังหวัดเชียงราย" เมื่อปี พุทธศักราช 2512 เพื่อทำหน้าที่ผลิตครูสนองความต้องการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในขณะนั้น โดยหน่วยงานผลิตครูคณะครุศาสตร์ในระยะแรก มีสถานภาพเป็น ภาควิชาการศึกษา ดำเนินการผลิตครู ในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ตั้งแต่ ป.กศ.ต้น จนถึง ป.กศ.สูง โดยรับนักศึกษาที่เรียนจบจากระดับชั้น ม.ศ.3 , ม.ศ.5 จากโรงเรียนมัธยมขยายโอกาสในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง และพื้นที่บางส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดแพร่ ตามลำดับ รวมผู้ที่สอบไล่ได้ชุดครูประโยคพิเศษประถม (ป.ป.) และสอบไล่ชุดครูประโยคพิเศษมัธยม (พ.ม.) มาเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาขั้นสูง และในปีเดียวกัน ได้แต่งตั้งให้นายบัณฑิต วงษ์แก้ว จากวิทยาลัยครูมหาสารคาม มาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยครูเชียงราย เป็นคนแรกที่ได้เปิดหลักสูตรอบรมเพื่อการศึกษาวิชาชีพครูระยะสั้นในดือนเมษายน (ปิดเทอมภาคฤดูร้อน) ให้แก่ข้าราชการครู (อ.ศ.ร.) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 1,500 คน เป็นครั้งแรก

ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม ปี พุทธศักราช 2520 ได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยกฐานะภาควิชาการศึกษาเป็นคณะวิชาครุศาสตร์ วิทยาลัยครูเชียงราย ให้เป็นสถานบันการศึกษาและวิจัย สามารถเปิดทำการสอนได้ถึงระดับอุดมศึกษา โดยได้เปิดหลักสูตรปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต (ค.บ.) สาขาวิชาการศึกษา แขนงวิชาเอกภาษาไทย สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ดนตรีศึกษา พลศึกษา การประถมศึกษา และจิตวิทยาการแนะแนว ทั้งหมดประมาณ 9 สาขาวิชาเอก

เมื่อ ปีพุทธศักราช 2521 ทำการเปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรีสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพครู จะถึงประมาณ ปีพุทธศักราช 2537 วิทยาลัยครู ได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันราชภัฏ สถาบันอุดมศึกษาของท้องถิ่นทำหน้าที่ในการผลิตบัณฑิตสาขาต่างๆ มีโครงการเปิดสอนระดับบัณฑิตศึกษาโดยประสานความร่วมมือกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาการบริหารการศึกษา โดยใช้หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผลิตมหาบัณฑิตสาขาการบริหารการศึกษารวมจำนวน 5 รุ่น

ในปีพุทธศักราช 2528 วิทยาลัยครูเชียงราย ได้แบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครู ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2518 ให้เกิดภาระกิจอื่นๆ เพื่อรองรับความเจริญต่อไปในอนาคตโดยแก้ไขเพิ่มเติมในปี พุทธศักราช 2527 โดยแบ่งหน่วยงานส่วนราชการ ดังต่อไปนี้

  • สำนักงานอธิการบดี
  • สำนักคณะครุศาสตร์
  • สำนักคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • สำนักคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  • สำนักคณะวิทยาการจัดการ
  • สำนักงานวางแผนและพัฒนา
  • สำนักงานส่งเสริมวิชาการ
  • สำนักงานกิจการนักศึกษา
  • ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

ในขณะเดียวกัน วิทยาลัยครูเชียงราย ก็ได้ให้ความร่วมมือกับวิทยาลัยครูลำปาง โดยอาศัยความร่วมมือในการประสาน การดำเนินงาน ร่วมกับวิทยาลัยครูอื่น ๆ โดยรวมกัน เป็นกลุ่มวิทยาลัยครูล้านนา (กล่มวิทยาลัยครูภาคเหนือตอนบน) ดังนี้

ซึ่งได้เป็นกลุ่มวิทยาลัยครูภาคเหนือตอนบนได้พัฒนาเป็น"สหวิทยาลัยล้านนา"ตามข้อบังคับของสภาการฝึกหัดครูว่าด้วยกลุ่มวิทยาลัยครู พุทธศักราช 2528 และในสมัยนั้น วิทยาลัยครูลำปางได้รับเลือกให้เป็นที่ตั้งสำนักงานคณะกรรมการสหวิทยาลัยล้านนา รวมทั้งวิทยาลัยครูเชียงราย ก็ได้รับเป็นคณะกรรมการตัวแทนกลุ่มครูเชียงราย พะเยา และน่าน อีกด้วย

ยุคที่ 3 สถาบันราชภัฏเชียงราย

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสถาบันว่า"สถาบันราชภัฏ" จากวิทยาลัยครูเดิมเพื่อให้สอดคล้อง กับความหลากหลายการผลิต บัณฑิตของสถาบันโดยให้สถาบันราชภัฏเชียงราย เป็นส่วนราชการในสำนักงานสภา สถาบันราชภัฏสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและให้สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ เป็นนิติบุคคล มีฐานะเทียบเท่ากรมในกระทรวงศึกษาธิการมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2538 โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุเทพ พงษ์ศรีวัฒน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีคนแรกของสถาบันราชภัฏเชียงราย ตั้งแต่ วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2538

ปีพุทธศักราช 2542 คณะครุศาสตร์ ได้พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขาการบริการการศึกษาของสถาบันราชภัฏเชียงรายเป็นครั้งแรก

ปีพุทธศักราช 2543 ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) สาขาหลักสูตรและการสอน สำหรับผู้ที่เป็นครูอยู่แล้ว และผู้จบสาขาอื่นๆ แล้วต้องการที่จะเป็นครู

ปีพุทธศักราช 2544 ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาวิชาชีพครู (ป.วค.) เพิ่มขึ้นอีก 1 หลักสูตร เพื่อรองรับนักศึกษาที่จบปริญญาสาขาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ครู แล้วต้องการเป็นครู

ยุคที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ในปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงพระปรมาภิไธย ใน "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547" เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2547 อันมีผลให้ "สถาบันราชภัฏ" เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" และมีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่ชาวราชภัฏทุกคน

และในวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2547 "พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547" ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นชาวราชภัฏทั้ง 41 แห่ง จึงร่วมใจพิธีถวายราชสดุดี เฉลิมฉลองนาม "มหาวิทยาลัยราชภัฏ" พร้อมกัน รวมทั้ง "มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย" อีกด้วย ในวันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2547 เวลา 09.09 น. พร้อมกันทั่วประเทศ

ปี พ.ศ. 2547 ได้เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทครุศาสตรมหาบัณฑิต (ค.ม.) อีก 2 สาขา คือ สาขาการประเมินผลและวิจัยการศึกษา และสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จากทุกวิทยาเขต ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันอธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย คนปัจจุบันคือ ผศ.ดร.ศรชัย มุ่งไธสง และยังรวมทั้งได้ปรับปรุงหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู หลักสูตรปริญญาสาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาในคณะและสาขาอื่นๆ ให้มีความพร้อมและทันสมัยมากขึ้นตามลำดับ เพื่อรองรับความเป็นสากลอย่างมีคุณภาพของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอย่างมั่นคงเหมือนมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ ทั่วประเทศไทย

สัญลักษณ์ประจำสถาบันราชภัฏ

  • สีน้ำเงิน แทนค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ผู้ให้กำเนิด และพระราชทาน “สถาบันราชภัฏ”
  • สีเขียว แทนค่าแหล่งที่ตั้งของสถาบันฯ 41 แห่งในแหล่งธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
  • สีทอง แทนค่าความเจริญรุ่งเรืองทางภูมิปัญญา
  • สีส้ม แทนค่าความรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ก้าวไกลใน 41 สถาบัน
  • สีขาว แทนค่าความคิดอันบริสุทธิ์ของนักปราชญ์แห่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ตราสัญลักษณ์

แสดงถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอย่างชัดเจน ในประเด็นการปรับแผนการศึกษา ของชาติที่เด่นชัดโดยพัฒนาจากระบบบ้านวัดวังและโรงเรียนโดยเฉพาะเมื่อโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงใช้กระบวนการทางปัญญาแก้ปัญหา ระบบการพัฒนาประเทศตัวอักษรจึงเป็นประเด็นสำคัญ ในการจัดวางรูปแบบ ดังนั้นตัวอักษรใหญ่ในราชภัฏ สัญลักษณ์จึงมีโครงสร้างใกล้เคียงระบบสากล คือใช้อักษรโรมันแบบ Gothicหรืออักษรอังกฤษแบบ Old English และอักษรขอมเป็นแนวทางในการพัฒนา รูปแบบตัวอักษรให้สามารถแทนค่าความรู้สึก ในการสื่อสารร่วมสมัย และแสดงความสูงส่งแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์

สีประจำมหาวิทยาลัย

สีเทา - แสด

  • สีประจำมหาวิทยาลัย เทา - แสด
  • กาซะลองคำ ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

ไม้ประจำราชภัฏเชียงราย

กาซะลองคำ

สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เชียงราย

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นผู้ดูแลสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ เชียงรายที่ตั้งอยู่ด้านในของวิทยาเขตอีกด้วย

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม