ประวัติ ของ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

การก่อตั้ง

วิทยาลัยแบเลียน – หนึ่งในวิทยาลัยร่วมที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดไม่มีช่วงเวลาการก่อตั้งที่แน่นอน[18] การสอนที่ออกซฟอร์ดบางส่วนปรากฏอย่างน้อยที่สุดใน ค.ศ. 1096 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยตั้งขึ้นเมื่อไร[1] ออกซฟอร์ดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วใน ค.ศ. 1167 เมื่อนักศึกษาชาวอังกฤษกลับมาจากมหาวิทยาลัยปารีส[1] นักประวัติศาสตร์เจอรัลด์แห่งเวลส์ทำการบรรยายให้กับนักวิชาการต่าง ๆ ใน ค.ศ. 1188 และนักวิชาการชาวต่างชาติคนแรกที่รู้จักคืออีโมแห่งฟรีสลันด์มาที่ออกซฟอร์ดใน ค.ศ. 1190 ผู้นำของมหาวิทยาลัยใช้ชื่อตำแหน่งว่าอธิการบดี (อังกฤษ: Chancellor) อย่างน้อยที่สุดใน ค.ศ. 1201 และได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยหรือบรรษัทใน ค.ศ. 1231 มหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตใน ค.ศ. 1248 ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 3[19]

ภายหลังจากข้อพิพาทระหว่างนักศึกษาและชาวเมืองออกซฟอร์ดในปี ค.ศ. 1209 นักวิชาการบางส่วนได้หลบหนีจากความรุนแรงไปยังเคมบริดจ์ และได้ก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์[12][20]

มุมมองทางอากาศบริเวณม็อบควอดของวิทยาลัยเมอร์ตัน เป็นลานสี่เหลี่ยมที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัย สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1288 ถึง 1378

นักศึกษามีความเกี่ยวข้องบนพื้นฐานของพื้นเพทางภูมิศาสตร์แบ่งเป็นสอง "ชาติ" ประกอบด้วยทางเหนือ (ชาวเหนือ หรือ โบเรียลิส หมายถึงชาวอังกฤษที่อยู่ทางเหนือของแม่น้ำเทรนต์และชาวสกอต) และทางใต้ (ชาวใต้ หรือ ออสเตรลีส หมายถึงชาวอังกฤษที่อยู่ทางใต้ของแม่น้ำเทรนต์ ชาวไอริช และชาวเวลส์)[21][22] ในหลายศตวรรษต่อมาพื้นเพทางภูมิศาสตร์ยังคงมีอิทธิพลต่อความเชื่อมโยงของนักศึกษาจำนวนมากผ่านการเข้าเป็นสมาชิกของวิทยาลัยหรือฮอลล์ซึ่งกลายเป็นขนบธรรมเนียมของออกซฟอร์ด นอกจากนี้สมาชิกของคณะนักบวชจำนวนมากรวมถึงดอมินิกัน ฟรันซิสกัน คาร์เมไลท์ และออกัสติเนียนเข้ามายังออกซฟอร์ดในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีอิทธิพลและดูแลบ้านหรือฮอลล์ต่าง ๆ ให้กับนักศึกษา[23] ในเวลาเดียวกันผู้อุปถัมภ์ต่าง ๆ ได้จัดตั้งวิทยาลัยต่าง ๆ เป็นชุมชนวิชาการอิสระไม่มีสังกัด ในบรรดาผู้ก่อตั้งกลุ่มแรก ๆ เช่น วิลเลียมแห่งเดอรัมผู้ก่อตั้งวิทยาลัยยูนิเวอซิตีใน ค.ศ. 1249[23] และจอห์น แบเลียน บิดาของกษัตริย์แห่งสกอตแลนด์ในอนาคตได้ก่อตั้งวิทยาลัยแบเลียนตามชื่อของเขา[21] วอลเตอร์ เดอ เมอร์ตันผู้ก่อตั้งอีกคนซึ่งเป็นอธิบดีศาลสูงสุดแห่งอังกฤษและภายหลังเป็นบิชอปแห่งรอเชสเตอร์ได้ยกร่างกฎระเบียบสำหรับการดำรงชีวิตในวิทยาลัย[24][25] ด้วยเหตุนี้วิทยาลัยเมอร์ตันได้กลายเป็นตัวอย่างของการใช้กฎปฏิบัติในออกซฟอร์ด[26] รวมถึงมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ภายหลังจากนั้นนักศึกษาที่มีจำนวนมากขึ้นได้อาศัยอยู่ในวิทยาลัยมากกว่าฮอลล์และบ้านของกลุ่มศาสนา[23]

ใน ค.ศ. 1333-34 ความพยายามจากนักวิชาการออกซฟอร์ดบางส่วนที่ไม่พอใจต่อการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ที่สแตมฟอร์ด, ลิงคอล์นเชอร์ได้ยุติการจัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่โดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ร้องฎีกาต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3[27] ภายหลังจากนั้นจนกระทั่งทศวรรษที่ 1820 ไม่มีมหาวิทยาลัยใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งขึ้นในอังกฤษแม้แต่ในลอนดอน เพราะฉะนั้นออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์จึงมีลักษณะผูกขาดเพียงสองแห่งซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตก[28][29]

สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา

ใน ค.ศ. 1605 ออกซฟอร์ดยังคงเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ แต่วิทยาลัยจำนวนมากได้รับการสร้างนอกกำแพงเมือง (ทิศเหนืออยู่ที่ด้านล่างของแผนที่นี้)

การเรียนรู้แบบใหม่ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยามีอิทธิพลต่อออกซฟอร์ดอย่างมากตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 15 เป็นต้นไป นักวิชาการของมหาวิทยาลัยในสมัยนั้นคือวิลเลียม โกรซินผู้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูการศึกษาภาษากรีก และจอห์น โคเล็ตผู้เป็นนักวิชาการทางคัมภีร์ไบเบิล

การปฏิรูปศาสนาในอังกฤษและยุติความสัมพันธ์กับคริสตจักรโรมันคาทอลิก ทำให้นักวิชาการที่ไม่เข้าร่วมกิจการของคริสตจักรแห่งอังกฤษจากออกซฟอร์ดหนีไปยังทวีปยุโรป โดยตั้งหลักอยู่ที่มหาวิทยาลัยดูแอ[30] วิธีการสอนที่ออกซฟอร์ดถูกเปลี่ยนจากอัสสมาจารย์นิยมในยุคกลางเป็นการศึกษาแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาแม้ว่าสำนักต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยจะต้องสูญเสียที่ดินและรายได้ จากที่เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้และทุนการศึกษา ชื่อเสียงของออกซฟอร์ดเสื่อมลงในยุคเรืองปัญญา การลงทะเบียนเรียนลดลงและการเรียนการสอนถูกละเลย

ใน ค.ศ. 1637 วิลเลียม ลอดจ์ อธิการบดีและอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขึ้น กฎระเบียบเหล่านี้ยังคงอยู่จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ลอดยังเป็นผู้รับผิดชอบต่อการให้สิทธิ์พิเศษแก่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย และเขามีส่วนสำคัญต่อห้องสมุดบอดเลียนซึ่งเป็นห้องสมุดหลักของมหาวิทยาลัย จากการเริ่มต้นของคริสตจักรแห่งอังกฤษในฐานะคริสตจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นจนถึง ค.ศ. 1866 สมาชิกของคริสตจักรถูกกำหนดให้ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (BA) จากมหาวิทยาลัย และ"ผู้คัดค้าน"ได้รับอนุญาตให้รับแต่เพียงปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (MA) ใน ค.ศ. 1871[31]

ภาพแกะสลักของวิทยาลัยไครต์เชิร์ชที่ออกซฟอร์ดใน ค.ศ. 1742

มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางของฝ่ายนิยมเจ้าในระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษ (ค.ศ. 1642–1649) ในขณะที่เมืองได้รับการสนับสนุนจากผู้ต่อต้านคือฝ่ายรัฐสภา[32] ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมามหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมีส่วนร่วมเล็กน้อยในความขัดแย้งทางการเมือง

วิทยาลัยวอแดมได้รับการก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1610 เป็นวิทยาลัยระดับปริญญาตรีของเซอร์คริสโตเฟอร์ เรน เรนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มชั้นนำของนักวิทยาศาสตร์เชิงทดลองที่ออกซฟอร์ดในทศวรรษที่ 1650 หรือชมรมปรัชญาออกซฟอร์ดซึ่งรวมถึงรอเบิร์ต บอยล์และรอเบิร์ต ฮุกมักพบปะกันเป็นประจำที่วอแดมภายใต้การแนะนำของผู้อำนวยการวิทยาลัยจอห์น วิลกินส์และกลุ่มนี้ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำไปสู่การก่อตั้งราชสมาคม

ใกล้เคียง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

แหล่งที่มา

WikiPedia: มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด http://www.digital-kidz.com/news_detail.php?id=000... http://www.touristnetuk.com/wm/oxford/ http://beatl.barnard.columbia.edu/learn/99AHLstuff... http://d307gmaoxpdmsg.cloudfront.net/collegeaccoun... http://www.webcitation.org/6CxjD4pNq?url=http://ww... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.british-history.ac.uk/report.aspx?compi... http://www.cam.ac.uk/about-the-university/history/... http://ox.ac.uk http://www.admin.ox.ac.uk/media/global/wwwadminoxa...