ความสามารถในการแข่งขันในตลาดมะพร้าวโลก ของ มะพร้าว

มะพร้าวอ่อนมะพร้าวอ่อนเป็นที่นิยมในตลาดฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ กอปรกับมีงานวิจัยที่สนับสนุนคุณประโยชน์ของมะพร้าวที่มีมากมายต่อพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งมีสารให้ความสดชื่น (สารเหล่านี้มีมากในมะพร้าวอ่อนอายุไม่เกิน 8 เดือน แต่มีอยู่น้อยในมะพร้าวแก่) ทำให้มะพร้าวอ่อนไทยเป็นสินค้าส่งออกที่นิยมแพร่หลาย ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

ไทยส่งออกมะพร้าวอ่อนตามพิกัด 0801.190.007 ในปี 2546 รวม 266.4 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการส่งออก 26.55 พันตัน ขยายตัวร้อยละ 7.0 จากปี 2545 โดยตลาดมะพร้าวน้ำหอมของไทยที่สำคัญได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา บาร์เรน บรูไน และซาอุดิอาระเบีย

คู่แข่งมะพร้าวอ่อนของไทยได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย โดยไทยเสียเปรียบในแง่ต้นทุนการขนส่งในบางตลาด เช่น ตลาดฮ่องกง ไทยไกลกว่าฟิลิปปินส์ ตลาดสิงคโปร์ ไทยไกลกว่ามาเลเซีย แต่ในเรื่องรสชาติแล้ว มะพร้าวอ่อนของไทยมาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากมะพร้าวอ่อนของประเทศอื่นๆ ไม่มีพันธุ์เฉพาะอย่าง เช่น มะพร้าวน้ำหอมของไทย แต่เป็นมะพร้าวแกงซึ่งเก็บผลอ่อนมาขายกัน นอกจากนี้ ไทยยังมีการแปรรูปเป็นมะพร้าวน้ำหอมแช่แข็ง และน้ำมะพร้าวบรรจุกระป๋องขาย

บริษัทที่ผลิตมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกทั้งมะพร้าวอ่อนปอกเปลือกเป็นลูก มะพร้าวอ่อนแช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง เช่น บริษัท เฟรช แอนด์ ชิลล์ จำกัด ราชบุรี บริษัท มะพร้าวน้ำหอมไทย จำกัด สมุทรสาคร และบริษัท ซี แอนด์ เอ โปรดักซ์ จำกัด ราชบุรี เป็นต้น

มะพร้าวแกงในการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันมะพร้าวแกงและผลิตภัณฑ์ของไทย กับประเทศผู้ส่งออกมะพร้าวและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะเน้นที่รายการมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในข้อผูกพันและ การนำเข้ารายการสินค้าเกษตร 23 รายการของไทยกับ WTO ซึ่งมี 3 รายการดังนี้

1.มะพร้าวฝอยทำให้แห้งมะพร้าวฝอยทำให้แห้งอยู่ในพิกัด 0801.110.000 ตามงานศึกษาของ สุภาวดี ภัทรโกศล (2540) พบว่า ต้นทุนการผลิตมะพร้าวของเกษตรกรไทยอยู่ที่ผลละ 3.08 บาท และหากตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ประเทศไทยเปิดเสรีในกรอบ AFTA ซึ่งทำให้มะพร้าวไม่สามารถตั้งกำแพงภาษีนำเข้าได้ ไทยจะเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่มีราคามะพร้าวถูกกว่าของไทยมาก โดยราคาขายอยู่ที่ประมาณผลละ 1 บาท ขณะที่ตามรายงานในพิกัดสินค้าของกรมศุลกากร ไทยเก็บอัตราภาษีนำเข้ามะพร้าวที่ร้อยละ 5.0 ในกรอบ AFTA แต่ความจริงแล้ว ไทยไม่เคยเปิดตลาดมะพร้าวตามกรอบ AFTA แต่อย่างไร โดยสำหรับพิกัด 0801.110.000 ไทยเก็บอัตราภาษีที่ร้อยละ 54.6 ตามกรอบ WTO

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าวจากกรมวิชาการเกษตร ก็เห็นเช่นกันว่ามะพร้าวฝอยทำให้แห้งของไทยต้นทุนสูงกว่าคู่แข่ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าต้นทุนของไทยจะสูงกว่า แต่เชื่อว่าราคามะพร้าว ฝอยทำให้แห้ง เมื่อบวกค่าขนส่งของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาไทยจะไม่ถูกกว่าของไทย แต่อาจจะมีการนำเข้ามะพร้าวจากเวียดนามและพม่าเข้ามาได้ เนื่องจากต้นทุนขนส่งไม่สูงนัก

2. เนื้อมะพร้าวแห้งเนื้อมะพร้าวแห้งอยู่ในพิกัด 1203.000.005 ไม่มีการนำเข้ามาในไทย แต่มีการส่งออก โดยในปี 2546 มูลค่ารวม 840.9 แสนบาท ปริมาณส่งออก 108.5 ตัน

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าวชี้ว่า เนื้อมะพร้าวแห้งในประเทศแข่งขันกับเนื้อมะพร้าวแห้งนำเข้าได้ แต่การพิจารณาในเชิงตัวเลขนำเข้า เพื่อเปรียบเทียบราคานำเข้ากับราคาในประเทศไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีการนำเข้า

ขณะที่การตรวจสอบตัวเลขการส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้ง พบว่า ปริมาณการส่งออกมีน้อย และตัวเลขไม่ได้แสดงนัยการเติบโตที่น่าสนใจ จึงดูไม่มีความสามารถ ในการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ

3. น้ำมันมะพร้าวน้ำมันมะพร้าวอยู่ในพิกัด 1513.110.008 ไม่มีการนำเข้ามาในไทย แต่มีการส่งออก โดยในปี 2546 มูลค่ารวม 43.28 ล้านบาท ปริมาณส่งออก 3,646.9 ตัน

จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญมะพร้าวชี้ว่าน้ำมันมะพร้าวในประเทศแข่งขันกับน้ำมันมะพร้าวนำเข้าได้ แต่การพิจารณาในเชิงตัวเลขนำเข้า เพื่อเปรียบเทียบราคานำเข้ากับราคาในประเทศไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีการนำเข้า

เมื่อตรวจดูความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดต่างประเทศพบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี โดยไทยสามารถส่งออกน้ำมันมะพร้าวได้ในมูลค่าสูง