สถานการณ์มะพร้าวในตลาดโลก ของ มะพร้าว

สถานการณ์มะพร้าวในแหล่งผลิตอย่างประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม พม่า และไทย มีแนวโน้มผลผลิตลดลง เนื่องจากหันไปปลูกปาล์มมากขึ้น แต่ความต้องการใช้มะพร้าวกลับเพิ่มขึ้น ประกอบกับภาวะภัยแล้ง และพื้นที่ปลูกสำคัญได้รับความเสียหายจากแมลง รวมทั้งประเทศผู้ส่งออกไม่ผลักดันการส่งออกผลมะพร้าวมายังประเทศไทย ส่งผลให้ราคามะพร้าวผลและกะทิในไทยสูงขึ้น เพื่อสำรองผลผลิตไว้ทำเป็นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เช่น นมมะพร้าว เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนที่มีความต้องการสูงในขณะนี้ จึงคาดการณ์ผลผลิตมะพร้าวในปีนี้ จะลดลงจากปีก่อนร้อยละ 60 – 70 สำหรับการแก้ไขในเบื้องต้น ได้เร่งรัดให้กรมการค้าต่างประเทศ ออกระเบียบการนำเข้ามะพร้าว ภายใต้ข้อตกลงอาฟต้าโดยไม่เสียภาษี เพราะประเทศอินโดนีเซียยังพอมีผลผลิตเพราะไม่ได้ประสบภัยแล้ง โดยคาดว่า จะสามารถออกประกาศและเร่งนำเข้า ส่งผลให้สถานการณ์ราคามะพร้าวในประเทศน่าจะคลี่คลาย ส่วนราคามะพร้าวผลใหญ่ขณะนี้ ราคาปรับสูงขึ้นเป็นผลละ 24 บาท สูงขึ้นประมาณผลละ 14 บาท จากเดิมที่ราคาผลละ 10.60 บาท ส่งผลให้ราคากะทิปรับเพิ่มขึ้นเป็น 60 บาทต่อกิโลกรัม

จากผลสำรวจพื้นที่ปลูกมะพร้าวของประเทศพบว่า พื้นที่ปลูกและผลผลิตมะพร้าวมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพื้นที่บางส่วนถูกทดแทนด้วยปาล์มน้ำมัน โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวอยู่ประมาณ 1.610 ล้านไร่ จาก 2.549 ล้านไร่ในปี 2549 ส่งผลให้พื้นที่เก็บเกี่ยวลดลงเช่นกัน แต่ในทางกลับกันเมื่อพิจารณาถึงผลผลิตพบว่า ผลผลิตมะพร้าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก 606 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2549 เป็น 1,077 กิโลกรัม/ไร่ ในปี 2550 สำหรับสาเหตุที่ทำให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง เป็นผลมากจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวอายุมากจึงทำให้ประสิทธิภาพต่อพื้นที่ต่ำ และต้องปลูกทดแทนด้วยพันธุ์ดี รวมทั้งเกษตรกรมีความต้องการมะพร้าวพันธุ์ดีปีละ 2 แสนหน่อ แต่กรมวิชาการเกษตรสามารถผลิตได้ 41,495 หน่อ เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณในการขยายสวนแม่พันธุ์และบำรุงรักษาพ่อ-แม่พันธุ์มะพร้าว ขณะเดียวกัน เกษตรกรต้องประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น แมลงดำหนาม และมีมะพร้าวราคาถูกที่นำเข้ามาทดแทนมะพร้าวผลภายในประเทศดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงได้กำหนด 5 แนวทางการพัฒนาพื้นที่ปลูกมะพร้าว คือ

1.รักษาระดับพื้นที่ปลูกมะพร้าวคงที่ที่ 1.4 ล้านไร่ และสนับสนุนการปลูกมะพร้าวพันธุ์ดีทดแทนสวนมะพร้าวเดิมหรืออายุมาก

2. พัฒนาสายพันธุ์มะพร้าวลูกผสมและส่งเสริมถ่ายทอดต่อให้เกษตรกร รวมทั้งอนุรักษ์เชื้อพันธุ์มะพร้าวพื้นเมือง โดยรัฐสนับสนุนมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองภายในครัวเรือน

3. ส่งเสริมการควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยชีววิธี

4. ส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มมูลค่ามะพร้าวผ่านสถาบันเกษตรกร โดยรัฐให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ และจัดทำโครงการ

5. รณรงค์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและใช้ประโยชน์จากการบริโภคมะพร้าว

ปัจจุบันไทยส่งออกมะพร้าวในรูปมะพร้าวฝอย เนื้อมะพร้าวแห้ง น้ำมันมะพร้าว และกะทิสำเร็จรูป ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารไทยในต่างประเทศ และความนิยมอาหารไทยของชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2550 ตั้งแต่ มค.- ตค. ปริมาณส่งออกกะทิสำเร็จรูปมีเท่ากับ 85,897 ตัน โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ และในเอเชีย ขณะเดียวกัน แนวโน้มความต้องการน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นทั้งเพื่อการบริโภค และในรูปพลังงานเชื้อเพลิง ดังนั้น ในอนาคตคาดว่าราคาน้ำมันพืชจะมีแนวโน้มสูงขึ้น