ประวัติ ของ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

สัญลักษณ์การประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส (ปี 2547 - 2554)สัญลักษณ์การประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ (ปี 2555 - 2561)

องค์การนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) มอบสิทธิในการจัดหาผู้แทนประเทศไทย เพื่อเข้าประกวดนางงามจักรวาล แก่ชาติเชื้อ กรรณสูต เป็นคนแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 โดยขณะนั้น คุณชาติเชื้อมีทั้งสถานะของ กรรมการผู้จัดการบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และนายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เป็นผู้ถือสิทธิในชื่อการประกวดนางสาวไทย เขาจึงนำทั้งสององค์กร มาร่วมกันจัดการประกวดนางสาวไทย เพื่อส่งผู้ชนะเลิศเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าประกวดนางงามจักรวาลดังกล่าว จนกระทั่งคุณชาติเชื้อเสียชีวิตลง องค์การนางงามจักรวาลจึงสนับสนุนให้ สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้เป็นน้องสาวของชาติเชื้อ เป็นผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวต่อไป

การเปลี่ยนแปลง

เมื่อปี พ.ศ. 2543 สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย นำชื่อการประกวดนางสาวไทย ไปจัดร่วมกับสถานีโทรทัศน์ไอทีวี โดยหลังจากปี พ.ศ. 2551 ก็ย้ายไปจัดร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ จนถึงปี พ.ศ. 2559 นางสาวไทย ได้กลับมาจัดการประกวดที่ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เช่นเดิม ด้วยกรณีดังกล่าว ช่อง 7 สี จึงก่อตั้งการประกวดในชื่อใหม่ว่ามิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ต่อมาองค์การนางงามจักรวาล มีมติให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก กำหนดชื่อการประกวด และชื่อตำแหน่งนางงามของแต่ละประเทศ โดยใช้คำว่ามิสยูนิเวิร์ส และตามด้วยชื่อประเทศนั้น ๆ เป็นผลให้สุรางค์ประกาศ เปลี่ยนชื่อการประกวดเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ในการแถลงข่าวการจัดประกวดในครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2555 พร้อมทั้งเปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์ จากช่อง 7 สีไปเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เนื่องจาก บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ มีคำสั่งให้สุรางค์พ้นจากทุกตำแหน่ง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีเดียวกัน[2]

ต่อมา บริษัท จันทร์ 25 จำกัด ผู้จัดการประกวด เปลี่ยนผู้ดำเนินการถ่ายทอดโทรทัศน์อีกครั้งจาก ททบ.5 ไปเป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ตั้งแต่การประกวดในปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป[3] เนื่องจาก ททบ.ต้องปรับปรุงเนื้อหารายการ เป็นบริการสาธารณะเพื่อความมั่นคง ตามที่ กสทช.กำหนด จึงไม่สามารถเผยแพร่การประกวด ซึ่งถือเป็นรายการประเภทบันเทิงต่อไปได้ ประกอบกับทางบริษัท จันทร์ 25 จำกัด ร่วมผลิตละครกับทางบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) และออกอากาศทางไทยทีวีสีช่อง 3 จึงมีความสัมพันธ์อันดีอยู่แล้ว เป็นสองเหตุผลสำคัญ ที่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ภายหลังในปี 2562 บริษัท ทีพีเอ็น 2018 จำกัด ได้รับความไว้วางใจจากองค์กรนางงามจักรวาล ให้เป็นผู้ได้ลิขสิทธิ์มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์รายใหม่ แทนสุรางค์ เปรมปรีดิ์

เพลงประจำการประกวด

ในการประกวดนางสาวไทย (ยุคช่อง 7 สีร่วมกับสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยฯ) มีการใช้เดือนในหมู่ดาว (ชื่ออื่น: เธอ, ยอดพธู) ซึ่งขับร้องโดยเรวัต พุทธินันทน์ เริ่มใช้ครั้งแรกในการประกวดเมื่อปี พ.ศ. 2527 (ต่อมาจัดทำดนตรีและขับร้องใหม่ ใช้ครั้งแรกในการประกวดเมื่อปี พ.ศ. 2535) เป็นเพลงประจำการประกวด ต่อมาในยุคมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ก็เปลี่ยนมาใช้เพลงหนึ่งในร้อย ที่ขับร้องโดยธงไชย แมคอินไตย์ จากนั้นในยุคมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ สุรางค์นำเนื้อเพลงเดือนในหมู่ดาว ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ส่วนบุคคลของตน มาให้ธงไชยขับร้องใหม่ เพื่อใช้กับการประกวดในปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2560 มีการจัดทำเพลง "สู่จักรวาล" เป็นเพลงประจำการประกวดเพลงที่สาม ซึ่งขับร้องโดยดิษย์กรณ์ ดิษยนันทน์ ส่วน "เดือนในหมู่ดาว" และ "หนึ่งในร้อย" ก็ยังมีการใช้ในเวทีการประกวดเช่นเดิม

ในปี พ.ศ. 2562 บริษัท ทีพีเอ็น จำกัด ได้มีการจัดทำเพลงหนึ่งเดียวในใจ (You're the one) เป็นเพลงประจำการประกวด ขับร้องโดย อภิวัฒน์ พงษ์วาท และได้เผยแพร่ครั้งแรกในงานแถลงข่าวเปิดตัวผู้เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2019 ในวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ณ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี

ใกล้เคียง

มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2566 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2563 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2565 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2564 มิสยูนิเวิร์สเมียนมา มิสยูนิเวิร์สเวียดนาม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2562 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2561 มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2560